กิจกรรมพัฒนาทักษะ EF ในวัยรุ่น

โดย | 17 พฤษภาคม 2022 | บทความแปล

กิจกรรมพัฒนาทักษะ EF ในวัยรุ่น

ทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Function: EF) ของสมอง เกี่ยวข้องทั้งเรื่องการคิดและพฤติกรรม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้และการตั้งเป้าหมายของตัวเอง รวมทั้งการวางแผนระยะยาว ทักษะสมองส่วนหน้า EF จึงยิ่งมีความสำคัญและถูกใช้มากยิ่งขึ้นในช่วงชีวิตของเด็กมัธยมต้นและมัธยมปลาย ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากชีวิตช่วงชั้นประถมอย่างมาก เด็กมัธยมต้องเรียนหนักขึ้น มีเพื่อนมากขึ้นและมีกิจกรรมมากมายที่ต้องทำทั้งที่โรงเรียนและในกลุ่มเพื่อน การกำกับตนเองจึงเป็นปัญหาและเป็นโจทย์ท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันสำหรับวัยรุ่นที่เริ่มมีเพื่อนจำนวนมากและมีงานมากมายที่ต้องทำตามที่ครูมอบหมาย รวมทั้งกิจกรรมที่นอกเหนือจากการเรียน

          ในช่วงชีวิตของวัยรุ่น ที่ทักษะสมองส่วนหน้ายังไม่สมบูรณ์เท่ากับระดับของทักษะสมองส่วนหน้าในสมองของผู้ใหญ่ แต่ทักษะสมองส่วนหน้าในวัยรุ่นก็ถูกท้าทายและใช้บ่อยไม่น้อยกว่าวัยผู้ใหญ่ วัยรุ่นต้องอาศัยการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพในหลากหลายบริบท เพื่อจัดการการเรียนในโรงเรียนและงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งงานเหล่านั้นมีลักษณะเป็นนามธรรมที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าช่วงชั้นประถมอย่างยิ่ง 

ข้อแนะนำดังต่อไปนี้ เป็นข้อแนะนำที่จะช่วยทำให้วัยรุ่นได้ฝึกฝนทักษะการกำกับตนเองในสมองส่วนหน้า ผ่านความท้าทายในแต่ละวันที่ชีวิตวัยรุ่นต้องเผชิญ      

           การตั้งเป้าหมาย การวางแผนและการกำกับแผนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย การกำกับตัวเองเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย การระบุเป้าหมายอย่างชัดเจน การวางแผน และกำกับความก้าวหน้า การปรับปรุงพฤติกรรมของตนให้ดีขึ้น เป็นทักษะสำคัญที่วัยรุ่นต้องได้รับการฝึกฝน ผู้ใหญ่เช่นครูและพ่อแม่ควรสนับสนุนให้วัยรุ่นได้บอกถึงเป้าหมายที่ตนเองต้องการไปถึงอย่างชัดเจน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เป้าหมายที่ตั้งใจจะไปให้ถึงนั้นต้องมีความหมายต่อตัววัยรุ่นเอง และเป้าหมายไม่ได้ถูกตั้งโดยคนอื่น เช่น วัยรุ่นหลายคนการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอาจเป็นสิ่งที่ตนเองต้องการ แต่สำหรับวัยรุ่นบางส่วน การเข้าร่วมทางกิจกรรมทางสังคม หรือการเรียนในสายวิชาชีพอาจจะมีความสำคัญยิ่งกว่าการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และวัยรุ่นทุกคนต้องการความเข้าใจและการสนับสนุนจากคนที่เขารัก 

 การฝึกให้วัยรุ่นตั้งเป้าหมาย ให้ฝึกจากการเริ่มตั้งเป้าหมายจากสิ่งที่ง่ายๆ ก่อน เช่น การสะสมเงินที่จะซื้อของบางอย่างที่ตนต้องการ เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ การฝึกขับรถจนได้ใบขับขี่ เล่นดนตรี ฯลฯ หลังจากนั้น ค่อยขยับไปที่เป้าหมายในระยะที่ยาวขึ้น เช่น ในประเทศแถบตะวันตก การให้วัยรุ่นตั้งเป้าหมายในการซื้อรถยนต์(อาจจะมือสอง) เป็นเรื่องปกติ หรือวางแผนสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในคณะที่ตนสนใจ (เด็กฝรั่งไม่ได้รีบที่จะเข้ามหาวิทยาลัยทันทีหลังจากจบมัธยมปลาย)

          ทั้งโรงเรียนและที่บ้านควรสร้างโอกาสและช่วยวัยรุ่นให้ได้ขบคิด พัฒนาแผน ซึ่งแผนการแต่ละอย่างอาจมีหลายขั้นตอนกว่าที่จะบรรลุถึงเป้าหมาย ดังนั้นจึงควรชวนให้วัยรุ่นได้ระบุเป้าหมายระยะสั้นและเป้าหมายระยะยาวที่ต้องการไปถึง รวมทั้งแลกเปลี่ยนกันคิด ว่ามีอะไรบ้างที่ต้องทำเพื่อไปถึงเป้าหมายดังกล่าว เช่น ถ้าวัยรุ่นต้องการให้ทีมของตนเป็นที่หนึ่งในการแข่งขันเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มีทักษะอะไรบ้างที่ทีมจะต้องฝึกฝน รวมทั้งลองคิดว่ามีปัญหาอะไรบ้างที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว สนับสนุนให้วัยรุ่นได้วางแผนเพื่อที่จะเอาชนะปัญหา อุปสรรค จนไปถึงเป้าหมายที่ตนตั้งไว้    

ในการเรียนหนังสือ ส่งเสริมให้วัยรุ่นมีเป้าหมายในการเรียนรู้ของตัวเอง ความเป็นอิสระสามารถเลือกได้ด้วยตนเองเป็นสิ่งสำคัญยิ่งของช่วงชีวิตวัยรุ่น ในการศึกษาวิจัยครั้งหนึ่งได้ให้เด็กนักเรียนมัธยมปลายเขียนเรียงความเกี่ยวกับความอยุติธรรม ซึ่งการเขียนเรื่องนี้มีผลให้นักเรียนตระหนักว่า ความอยุติธรรมเป็นสิ่งที่เลวร้ายอย่างยิ่ง ต่อจากนั้นงานวิจัยได้ให้เด็กมัธยมปลายเหล่านี้เขียนอธิบายว่า การเรียนรู้สามารถทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นได้อย่างไร ในการศึกษาพบว่าเมื่อเด็กได้เขียนถึงความมุ่งหมายที่ตนเองต้องการจะทำ หลังการตระหนักถึงปัญหาบางอย่างที่ตนให้คุณค่า ผลการเรียนของนักเรียนเหล่านี้ดีขึ้น (โดยเฉพาะเด็กที่มีผลการเรียนต่ำ) เนื่องจากเด็กสามารถเชื่อมโยงการเรียนของตนเข้ากับเป้าหมายในชีวิต ในการติดตามเด็กกลุ่มนี้พบว่า มีอัตราการเข้าเรียนและเรียนจบมหาวิทยาลัยสูงกว่า อีกทั้งแสดงความอดทนในการใช้เวลาเรียนวิชาที่น่าเบื่อแต่สำคัญ มากถึงสองเท่าของเวลาปกติเพื่อประสบความสำเร็จอย่างที่ตนเองมุ่งหมาย

          ครูและผู้ปกครองสามารถสนับสนุนช่วยเหลือให้เด็กเชื่อมโยงการเรียนของตนเข้ากับเป้าหมายได้ โดยการถามวัยรุ่นถึงความสนใจและหลงใหลที่มีต่อสิ่งใดๆ วิธีการที่ดีที่โรงเรียนสามารถนำไปใช้ คือ การทำแบบสอบถามเด็กนักเรียนตั้งแต่ช่วงต้นของปีการศึกษา หรือจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กได้แสดงออกถึงความสนใจและหลงใหลของตน อาจจะใช้วิธีการง่ายๆ เช่น ให้นักเรียนเขียนประโยคที่เริ่มต้นว่า “ฉันเป็นคนที่…” สัก 20 ประโยค ความสนใจและความหลงใหลไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดของนักเรียน เช่น การสนใจในดนตรี การเมือง กีฬา แฟชั่น ฯลฯ ถือได้ว่าเป็น “จุดแข็ง” ที่เด็กมี ช่วยให้ครูมีแนวทางในการช่วยสร้างโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งที่ตนสนใจ เป็นการให้แสงส่องทางแก่วัยรุ่น ในการเชื่อมโยงการเรียนรู้ของตนเองกับผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดในโลกแห่งความเป็นจริง นอกจากนี้การให้นักเรียนมัธยมได้ทำบันทึก ทำแบบฝึกหัดสั้นๆ หลังการเรียนรู้ ได้ค้นคว้าเนื้อหาวิชาทิ่เชื่อมโยงกับชีวิตหรืออาชีพที่เด็กสนใจ ก็จะยิ่งเสริมพลังให้เด็กต้องการเรียนมากขึ้น

          การเข้าไปรับผิดชอบปัญหาสังคมและการทำงานเพื่อส่วนรวม ช่วยพัฒนาทักษะ EF และการเห็นคุณค่าของตนเอง การเข้าไปมีส่วนร่วมในมิติต่างๆ ของการแก้ปัญหาที่สังคมเผชิญร่วมกัน การลงแรงเพื่อให้สังคมที่ตนอาศัยอยู่พัฒนาขึ้น ทำให้วัยรุ่นมีโอกาสในการใช้ทักษะ EF อย่างหลากหลาย ค้นพบความถนัดของตนและเห็นคุณค่าของตนเองที่มีต่อผู้อื่น ปัญหาในชุมชนอาจจะเป็นเรื่องของความรุนแรงที่เกิดขึ้น การกลั่นแกล้งกัน ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเอง หรือมีความรู้สึกร่วม ต้องการเห็นสิ่งนั้นดีขึ้น เด็กวัยรุ่นที่ได้ทำโครงการต่างๆเพื่อส่วนรวม จะมีประสบการณ์ มีมุมมองที่กว้างขึ้น ได้พัฒนาทักษะทางสังคม และกำกับพฤติกรรมของตนเองเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ขึ้น ผู้ใหญ่ควรให้โอกาสและพื้นที่แก่วัยรุ่นในการทบทวนว่า ตามที่ได้วางแผนไว้ยังมีสิ่งใดที่ต้องทำอีกหรือไม่ สิ่งที่ทำไปแล้วหรือกำลังทำอยู่เป็นส่วนหนึ่งของแผนหรือไม่ หากไม่ใช่ ทำไมตนถึงยังทำอยู่ไม่เลิกทำไป หรือว่ามีบางสิ่งบางอย่างจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยน การกำกับตนเองในระหว่างการทำงานเหล่านี้ จะช่วยสร้างนิสัยและการกระทำที่จดจ่อใส่ใจอยู่กับเป้าหมายและการควบคุมตนเองของวัยรุ่นได้ดี      

เครื่องมือเพื่อใช้ในการกำกับตนเอง

การพูดคุยกับตัวเอง (Self-talk) เป็นรูปแบบของการจัดการตนเองซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เรายังเป็นทารก และยังเป็นวิธีการที่เราใช้กำกับการกระทำของตนเองในระหว่างที่เรามีสติสัมปชัญญะ ในตอนที่เรายังเด็ก เด็กๆ เรียนรู้ที่จะควบคุมตนเองโดยพูดเลียนแบบผู้ใหญ่ออกมาดังๆ ซ้ำๆ เพื่อเตือนตัวเองให้ทำตามแบบที่ถูกสอนมา จนเมื่อเริ่มโตขึ้น คนจะพูดกับตนเองเงียบๆ ภายในความคิดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหา หรือจัดการกับสถานการณ์ที่ท้าทายซึ่งยังไม่มีประสบการณ์

นักเรียนในระดับมัธยมทุกคนต่างมีสถานการณ์ตึงเครียดหลายแบบที่ต้องเผชิญ การพูดกับตนเอง บรรยายว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นโดยเฉพาะเมื่อความรู้สึกเชิงลบเกิดขึ้นหรือความรู้สึกล้มเหลว ช่วยให้วัยรุ่นเห็นรูปแบบการคิดที่มีปัญหาและรูปแบบของพฤติกรรมของตน การสนับสนุนและช่วยให้วัยรุ่นได้มีโอกาสพูดกับตนเองเพื่อที่จะถอดบทเรียนโดยเฉพาะบทเรียนจากความล้มเหลว เช่น เมื่อพ่ายแพ้ในการแข่งขัน การช่วยให้สมาชิกในทีมได้เล่า และให้มุมมองว่า สิ่งใดผิดพลาดไป สิ่งใดอาจจะทำได้ดีขึ้นในครั้งต่อไป ทักษะใดที่เรายังขาด เผื่อจะได้ฝึกฝนให้ดีขึ้น โดยไม่รีบตัดสินหรือสอน ทำให้กระบวนการคิดชั้นสูงของสมองส่วนหน้าทำงานอย่างเต็มที่

           ในการศึกษาวิจัยพบว่า ความสามารถรับรู้และเรียนรู้ความเป็นจริงที่กดดัน ความรู้สึกปลอดภัย และ ความสำเร็จทางด้านวิชาการนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น ในงานวิจัยปี 2019 ที่ทดลองกับเด็กนักเรียนอายุเก้าถึงสิบสามปี โดยให้เด็กเหล่านี้มีเวลาเงียบๆ ให้กำลังใจตัวเองและจดจ่อตั้งใจที่จะพยายามอยู่นาน 5 นาทีก่อนเข้าห้องสอบ ผลปรากฏว่าเด็กที่พูดกับตนเอง ให้กำลังใจและบอกให้ตนเองพยายามทำให้ดีที่สุดทำคะแนนในการสอบคณิตศาสตร์ได้ดีขึ้น ทั้งนี้มีงานวิจัยมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่พบว่า เมื่อให้เวลาแก่เด็กนักเรียนช่วงสั้นๆ ไม่กี่นาที ได้พูดคุยกับตัวเองเมื่อต้องเผชิญความท้าทายไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การแข่งกีฬาหรือการทำงานโครงการตามที่ได้รับมอบหมาย เด็กที่ได้พูดคุยให้กำลังใจตัวเองมักจะทำผลงานได้ดีขึ้น

          การเขียนก็สามารถช่วยให้วัยรุ่นจัดการกับตนเองได้ดีขึ้น การได้สะท้อนความคิด ความรู้สึก การกระทำ ความเชื่อและการตัดสินใจของตนผ่านการเขียนบันทึก ช่วยให้เข้าใจตนเองและทำให้มีความสามารถในการไปถึงจุดมุ่งหมายได้ดีขึ้นในการศึกษาปีเดียวกันนั้น ได้ทดลองให้นักเรียนชั้นมัธยมปลายใช้เวลา 10 นาทีเขียนเกี่ยวกับการสอบที่กำลังใกล้จะมาถึงพบว่าเด็กนักเรียนได้ปรับเปลี่ยนความวิตกกังวลของของตนให้กลายเป็นพลังและทำให้ทำการสอบได้ดีขึ้น ในอีกงานวิจัยได้ให้เด็กชั้นประถมปีที่หกเขียนความรู้สึกวิตกกังวลของตนในการที่จะขึ้นไปเรียนอยู่ในชั้นมัธยมปีที่หนึ่ง โดยให้นักเรียนเขียนตอบคำถามที่ว่า ช่วยบอกเหตุผลซักหนึ่งถึงสองข้อว่า ตนเองนั้นเหมาะสมที่จะอยู่ในโรงเรียนเดิมของตนหรือไม่ เด็กๆ ต่างเขียนเหตุผลง่ายๆ สั้นๆ ว่า ตนเองนั้นมีความเหมาะสมอย่างไรที่จะเรียนต่อในโรงเรียนต่อไป และเห็นได้ชัดว่าเด็กนักเรียนที่ตอบคำถามนี้มีความพยายามที่จะเข้าเรียนในชั้นเรียน ทำคะแนนได้ดีขึ้น รวมทั้งมีความประพฤติดีขึ้นด้วย

          การให้คำปรึกษาแก่เพื่อน ได้มีการทดลองแบ่งเด็กมัธยมออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อแลกเปลี่ยนถึงวิธีการที่จะนำเสนอผลงานหรือการทดสอบที่กำลังจะมาถึง โดยได้ให้นักเรียนเขียนอีเมล์ถึงเพื่อน (ซึ่งอาจจะหมายถึงเพื่อนจริงๆหรือเพื่อนที่สมมุติขึ้น โดยให้นักเรียนเหล่านี้แนะนำเพื่อนถึงวิธีบริหารเวลา เพื่อเตรียมการนำเสนอหรือการทำข้อสอบ จากการศึกษาในนักเรียนเกือบสองพันคนในระดับมัธยม สรุปได้ว่าวัยรุ่นที่เขียนแนะนำเพื่อนเกี่ยวกับวิธีการเรียนนั้น ทำคะแนนสอบของตัวเองสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ แองเจล่า ดักเวิร์ด (Angela Duckworth) นักจิตวิทยาชื่อดังชาวอเมริกันผู้เขียนหนังสือชื่อ “GRIT” ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ในขณะที่เราแนะนำคนอื่นเราเองก็ได้เรียนรู้พัฒนาไปด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผู้ใหญ่บอกให้วัยรุ่นเก็บโทรศัพท์มือถือไว้ไม่ใช้ในขณะที่กำลังเรียน เด็กๆ มักจะไม่ฟัง แต่หากว่าผู้ใหญ่บอกให้วัยรุ่นให้คำแนะนำเพื่อนในเรื่องนี้ เด็กวัยรุ่นก็มักจะใช้คำพูดคล้ายกับที่ผู้ใหญ่พูดกับตนว่า ให้ปิดโทรศัพท์ และเอาไปซ่อนเสียอย่าใช้

           Problem-Based Learning (PBL) และการทำกิจกรรมหลากหลาย ช่วยให้ EF แข็งแรง วัยรุ่นที่เอาปัญหาที่พบเจอในชุมชนและต้องการแก้ไขมาเป็นตัวตั้งในการเรียนรู้ ทำงานผ่านโครงงาน ได้พัฒนาทักษะชั้นสูงจำนวนมากในสมองส่วนหน้าในการกำกับอารมณ์ ความคิด การกระทำของตน เพื่อทำงานให้สำเร็จ ผลงานวิจัยในปี 2021 ที่ผ่านมาพบว่าเด็กครึ่งหนึ่งที่เรียนแบบ Problem-Based Learning (PBL) มีผลสำเร็จในการเรียนที่โดดเด่นมากกว่านักเรียนที่เรียนแบบท่องจำในระบบเดิม ยิ่งไปกว่านั้น กิจกรรมมากมายที่วัยรุ่นได้ทำแล้ว รู้สึกสนุก ก็ทำให้วัยรุ่นได้พัฒนาทักษะสมอง EF ของตน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางกาย เช่น การเล่นกีฬา เล่นดนตรี ร้องเพลง เต้นรำ หรือกิจกรรมรวมกลุ่มอื่นๆ กุญแจสำคัญที่ทำให้ทักษะสมอง EF พัฒนา คือ การได้จดจ่อ การที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเพิ่มความท้าทายกิจกรรมขึ้นทีละเล็กทีละน้อย           

            ทักษะสมองส่วนหน้าหรือ EF อันเป็นทักษะสมองที่ใช้ในการควบคุมหรือบริหารจัดการตนเองนั้น มีองค์ประกอบสำคัญสองด้านที่ส่งเสริม เกื้อหนุนกันและกัน ด้านหนึ่งคือ แรงจูงใจ และอีกด้านหนึ่งความสามารถที่จะทำให้ดีขึ้น การทำปฏิทินและจัดลำดับความสำคัญเป็นเครื่องมือที่ช่วยนักเรียนในการวางแผนการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เครื่องมือเหล่านี้จะไม่มีความหมายเลยหากว่า วัยรุ่นไม่มีแรงจูงใจที่จะใช้เครื่องมือดังกล่าว สิ่งที่จะช่วยให้ปฏิทินและการวางแผนได้ถูกนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน คือการฝึกให้นักเรียนมัธยมได้ตั้งเป้าหมาย แล้วลงมือทำทุกวันๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพื่อจะได้ฝึกฝน ล้มเหลว และฝึกฝนอีก จนกลายเป็นนิสัยที่ดีติดตัว แล้วได้รับรางวัลจากการลงมือทำ คือไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ด้วยตนเอง ดังนั้น เราต้องช่วยให้วัยรุ่นของเราได้ “วางแผนเพื่อจะฝึกฝน และฝึกฝนเพื่อวางแผน” ทักษะสมอง EF ในวัยนี้จึงจะแข็งแรง

อ้างอิง
Stephen Merrill, 8 Way to Bolster Executive Function in Teens and Tweens, https://www.edutopia.org/article/8-ways-bolster-executive-function-teens-and-tweens, March 12, 2021
Center on the developing child, Harvard University , Enhancing and Practicing Executive Function Skills with Children from Infancy to Adolescence, https://46y5eh11fhgw3ve3ytpwxt9r-wpengine.netdna-ssl.com/wp-content/uploads/2015/05/Enhancing-and-Practicing-Executive-Function-Skills-with-Children-from-Infancy-to-Adolescence-1.pdf ,สืบค้น 2 เมย. 2565