นักวิจัยพบว่า นอกจากจะเชื่อมโยงกับการกำกับควบคุมตนเองแล้ว การเล่นละครที่เป็นแบบสร้างสรรค์ (constructive)และมีจุดมุ่งหมาย จะส่งผลลัพธ์ด้านบวกอื่นๆ ได้แก่ ช่วยพัฒนาความจำ เพราะในขณะที่เด็กแสดงบทไปตามเรื่องราวในละครของพวกเขา เด็กจะค้นพบว่า มีการเชื่อมโยงข้อมูลที่มีความหมายที่ทำให้พวกเขาจดจำได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่าการเล่นละครของเด็กๆ ต้องใช้ EF ทุกด้านอย่างฉับพลันทันที นอกจากต้องจำบทบาทของตนเองได้ (working memory) ยังต้องจำบทบาทของคนอื่นได้ด้วย แล้วก็จะต้องแสดงอยู่ในบทบาทของตัวละครนั้นตลอดไป จนกว่าจะเล่นจบ (inhibitory control). ระหว่างเล่นละครนั้น เด็กก็จะต้องคิดว่าถึงเวลานั้นๆ ตนเองจะคิดและพูดอย่างไร (cognitive flexibility) โต้ตอบอย่างไร เรื่องจึงจะดำเนินไปได้
คุณครูส่งเสริม EF ของเด็กได้โดยการนั่งฟังอย่างตั้งใจ อาจช่วยขยายภาษา เสนอแนะไอเดีย หรือช่วยจัดหาอุปกรณ์ประกอบละครให้ และท้าทายกระตุ้นให้เด็กๆได้ใช้จินตนาการและทักษะการแก้ปัญหา หากครูเข้าไปในการเล่นละครของเด็กอย่างเข้าใจ ก็จะเป็น”นั่งร้าน”ให้กับการเรียนรู้ของเด็ก และส่งเสริมระดับการเรียนรู้และภาษาของเด็กให้ยกระดับขึ้น
Gmitrova, V., & Gmitrova, G. (2003). The impact of teacher-directed and child-directed pretend play on cognitive competence in kindergarten children. Early Childhood Education Journal, 30(4), 241-246.