เป็นที่ห่วงว่าสถานการณ์โควิดจะส่งผลให้การสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก และเด็กกับเพื่อนๆ อาจลดน้อยลง มีระยะห่างระหว่างกันมากขึ้น ทำให้เด็กๆ ถูกละเลยด้านอารมณ์ความรู้สึก และกระทบต่อการสร้างสัมพันธภาพที่ดี รวมทั้งอาจจะขาดการปลูกฝังเรื่องทางสังคม นักวิชาการจากสมาคมอนุบาลศึกษาฯ และภาคี Thailand EF Partnership มีข้อแนะนำแก่ครูในการส่งเสริมทักษะอารมณ์ สังคมแก่เด็กๆ ดังนี้
- ใช้ศิลปะ ดนตรี เป็นสื่อช่วยคลี่คลายความรู้สึกและอารมณ์ เด็กเล็กๆ นั้นการสื่อสารด้วยศิลปะจะง่ายที่สุด เด็กคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร คุกรุ่นแค่ไหนก็ระบายออกมาทางการวาดภาพได้ และในเด็กโต ก็สามารถบำบัดตัวเองผ่านศิลปะได้เช่นกัน
- ให้เด็กสะท้อนความคิดเสมอ ใช้ช่วงสรุปการเรียนรู้ เป็นการสะท้อนความคิดของเด็กหลังทำกิจกรรม ซึ่งสำคัญมาก เด็กอาจจะพูด บอกเล่าปากเปล่า หรือใช้งานศิลปะเป็นสื่อก็ได้ การ reflection ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเด็กจะได้เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง
- เชื่อมโยงกันและกัน หากเด็กคนหนึ่งได้สื่อสาร ได้แสดงอารมณ์ออกมา ครูควรหาโอกาสหรือกิจกรรม หรือตั้งคำถามชวนคิดว่า เมื่อเพื่อนรู้สึกอย่างนี้ เด็กคนอื่นๆ มีวิธีการวิธีพูดที่จะช่วยเหลือเพื่อนได้อย่างไรบ้าง
- ใช้ feeling wall ช่วยให้เด็กได้บอกความรู้สึก โดยให้เด็กมาแปะกระดาษสีที่เป็นตัวแทนความรู้สึก นอกจากเด็กจะได้ระบายออกมาแล้ว ครูและเพื่อนยังสามารถเข้าไปพูดคุยหรือแสดงการปลอบโยนกันได้
- ใช้การเรียนการสอนแบบ Project Based Learning ซึ่งอาจจะให้ทำคนเดียว (เช่น งานประดิษฐ์ ให้โจทย์เดียวกัน แต่ผลงานไม่เหมือนกัน) หรือทำเป็นกลุ่มเล็กๆ ก็ได้ แต่ท้ายสุด ต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อสะท้อนคิด แลกเปลี่ยน ทั้งเพื่อส่งเสริมการเข้าใจ การเห็นอกเห็นใจ และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
- ใช้นิทานเป็นสื่อ ที่จะนำมาพูดคุย ปลูกฝัง ให้เด็กเข้าใจเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ความเห็นอกเห็นใจ การช่วยเหลือพึ่งพากันได้ดี
- ให้เด็กได้อยู่กับธรรมชาติ เพราะนอกจากจะได้ผ่อนคลาย ทำให้อารมณ์ความรู้สึกสมดุลแล้ว ธรรมชาติยังเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ เด็กจะได้สังเกต ได้สำรวจ ได้เรียนรู้ ได้ตระหนัก เข้าใจความสำคัญของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ช่วยกันดูแลรักษา ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักการสำคัญของการพัฒนาทักษะอารมณ์ สังคม
- ให้เด็กช่วยกันทำความสะอาด แต่ละกิจกรรมให้เผื่อเวลาไว้สำหรับเด็กได้ทำความสะอาดอุปกรณ์สำหรับเพื่อนๆ กลุ่มต่อไป เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เด็กนึกถึงคนอื่น นึกถึงส่วนรวม
- สร้างจิตสำนึก “เรารอดไปด้วยกัน”ครูควรหยิบยกเรื่อง “การดูแลสุขอนามัยเพื่อตนเองและเพื่อคนอื่นด้วย” มาพูดคุยกับเด็กโดยสอดแทรกเข้าไปในขณะที่ดูแลให้เด็กล้างมือ หรือเมื่อต้องเว้นระยะห่างกัน เพื่อเน้นย้ำว่าไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่เพราะเป็นห่วงคนอื่นด้วย
เริ่มที่บ้าน โรงเรียนสานต่อ
นักวิชาการยังเสริมอีกว่า นอกจากกิจกรรมเหล่านี้แล้ว ผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีและปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอในด้านการสื่อสารความรู้สึกและการปลูกฝังให้เด็กรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีจิตสำนึกนึกถึงผู้อื่นและส่วนรวม โดยคุณครูร่วมมือกับทางพ่อแม่ผู้ปกครอง หากเด็กมีพื้นฐานเรื่องเหล่านี้มาจากทางบ้านแล้ว เมื่อมาโรงเรียนคุณครูก็จะเสริมสานต่อให้เด็กมีทักษะอารมณ์ สังคมที่ดียิ่งขึ้น มีทักษะนี้แข็งแรงยิ่งขึ้น