ขั้นตอนพัฒนาการ EF ของเด็กแต่ละช่วงวัย คุณครูสามารถมองเห็นทักษะความสามารถ EF ในตัวเด็กที่ค่อยๆ ก่อร่างสร้างขึ้นทีละน้อยตามวัย
คุณครูสามารถมองเห็นทักษะความสามารถ EF ในตัวเด็กที่ค่อยๆ ก่อร่างสร้างขึ้นทีละน้อยตามวัยตามที่นักวิชาการศึกษา Joyce Cooper-Kahn และ Laurie Dietzel แนะนำไว้ดังนี้
0-2 ปี ทารกและเด็กเล็กก่อนเข้าโรงเรียน เป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า “อยู่กับปัจจุบันขณะ” (“live in the moment”) และต้องการการตอบสนองในทันที เด็ก 1 ขวบจะเริ่มพัฒนาความสามารถในการบอกเป้าหมาย (เช่น “จะเอาของเล่นอันนั้น”) แต่ก็ถูกทำให้วอกแวกได้ง่ายเพียงเอาของอื่นที่น่าสนใจมาล่อให้หันเหความสนใจ แต่เมื่อเรียนรู้ที่จะพัฒนาความคิดขึ้นในสมองได้และคิดได้ดีขึ้น ก็จะค่อยๆยืนยันความต้องการของตนเองพอเริ่มเข้าสู่วัยเตาะแตะ ยังถูกกระตุ้นได้ง่าย แต่ก็สามารถเพิ่มการวางแผนง่ายๆ และเริ่มจัดการพฤติกรรมตนเองหรือการเล่นได้ พัฒนาการจะสะท้อนผ่านการใช้ภาษา เพราะ “คำพูด” จะช่วยให้เด็กเล็กเริ่มคิดและวางแผน
2-3 ขวบ ส่วนใหญ่สามารถชะลอความอยากได้หลายนาที เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
วัยอนุบาล เมื่อเข้าโรงเรียน เด็กจะถูกสอนให้รู้จักควบคุมแรงกระตุ้นภายในตนเอง มีวินัยที่ต้องฝึก เช่น การจัดของให้เป็นที่ วางรองเท้าให้เป็นระเบียบ เก็บแก้วน้ำตามช่องของตนเอง หรือถ้าจะพูดต้องยกมือก่อน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังต้องทำงานตามที่ครูมอบหมายจนเสร็จ เช่น วาดรูป พับกระดาษ เคลื่อนไหวประกอบจังหวะ ซึ่งในการ “ทำงาน” เหล่านี้ ทักษะ EF ได้รับการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการอดทนรอคอย ยั้งใจไม่ได้ทำในสิ่งที่ต้องการ ต้องคิดวางแผนงาน จะทำอะไรก่อน-หลัง เมื่อต้องการใช้อุปกรณ์ชิ้นเดียวกันกับเพื่อนก็ต้องรอตามคิวเป็นต้น ในวัยนี้เด็กอนุบาลก็จะเริ่มคิดยืดหยุ่นในการแก้ปัญหาได้มากขึ้นด้วย
Ref : Joyce Cooper-Kahn & Laurie Dietzel,(2008), Late, Lost, and Unprepared : A Parents’ Guide to Helping Children with Executive Functioning, Woodbine House,
“เมื่อเข้าโรงเรียน เด็กจะถูกเรียกร้องให้รู้จักควบคุมแรงกระตุ้นภายในตนเอง และต้องสามารถทำงานที่ครูมอบหมายจนสำเร็จ”