ทำไมต้อง EF (Executive Function)
Working Memory (ความจำเพื่อใช้งาน) คือ อะไรสำคัญแค่ไหนกับชีวิตของเรา
ความจำเพื่อใช้งาน (Working Memory) คือ กระบวนการทำงานของสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่จำข้อมูล จัดระบบแล้วเก็บรักษาข้อมูลไว้ในคลังสมอง เมื่อถึงเวลาที่เราต้องการใช้งาน สามารถนำข้อมูลในสมองออกมาใช้งานได้อัตโนมัติ เป็นความจำที่เรียกข้อมูลกลับมาเพื่อใช้อย่างถูกที่ถูกเวลา
วันทั้งวันเราต้องใช้ Working Memory อยู่ตลอดเวลา มันช่วยให้เราจำได้เมื่อลืมตาตื่นว่า เช้านี้จะต้องทำอะไรบ้าง เมนูอาหารเช้าที่เคยทำ ทำอย่างไร เวลาอ่านหนังสือ Working Memory จะช่วยให้เราจำและเชื่อมโยงข้อมูลจากย่อหน้าหนึ่งไปยังย่อหน้าอื่นๆ สามารถแก้โจทย์เลขคณิตหลายขั้นตอนได้ คิดเลขในใจได้ เป็นต้น
Working Memory ต่างจากการจดจำแบบท่องจำ เพราะการท่องจำนั้นเป็นการจดจำข้อมูลที่ไม่เคลื่อนไหวแล้ว เช่น ท่องจำชื่อบุคคลในประวัติศาสตร์ ท่องจำชื่อเมือง ฯลฯ เพื่อตอบข้อสอบ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจจะไม่เกี่ยวข้องหรือไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง ทำให้สิ่งที่ท่องจำไว้นั้นในที่สุดก็ลืมไป แต่ Working Memory เป็นการจดจำข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์ที่มีความหมายในชีวิต ข้อมูลมีการเคลื่อนไหว และเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน
สำหรับเด็กๆ Working Memory เกี่ยวข้องทักษะทางวิชาการหลายด้าน ทั้ง ภาษา การอ่านเอาเรื่อง การเขียน การคิดคำนวณ แก้โจทย์คณิตศาสตร์ ถ้า Working Memory ไม่ดีก็จะวางแผนหรือจัดระบบจัดการข้อมูล หรือติดตามงานที่ครูมอบหมายให้ไม่ค่อยได้ อาจประสบปัญหาในการเรียนวิชาการ เช่นเดียวกับที่อาจประสบปัญหาในการกำกับพฤติกรรมตนเอง ที่เด็กจำไม่ได้ว่า กฎ กติกา มารยาทในสังคมเป็นอย่างไร หรือควรปฏิบัติตนในสังคมอย่างไร
มีงานวิจัยที่ชี้ว่า การพัฒนา Working Memory รวมทั้งทักษะการใส่ใจจดจ่อในช่วงเป็นเด็กเล็กก่อนเข้าอนุบาล ส่งผลต่อความสำเร็จในด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ในช่วงอนุบาลและช่วงอื่นๆต่อไป อย่างเห็นได้ชัด
คำสำคัญของ Working Memory หรือความจำเพื่อใช้งาน ได้แก่
จำข้อมูลที่ “มีความหมาย”
คิดเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม
ประมวลผลข้อมูลนั้น เพื่อนำออกมาใช้งานต่อ
Reference
Willis, J.,( 2011 ), Three Brain-Based Teaching Strategies to Build Executive Function in Students, available at http://www.edutopia.org
Magalhaes, Alessandra Mitrano, “Exploring effective strategies for developing executive functioning skills within an early childhood classroom” (2014). Education Doctoral Theses. Paper 161. http://hdl.handle.net/2047/d20004862
คำคม:
“Working memory ต่างจากการจดจำแบบท่องจำ เพราะการท่องจำนั้นเป็นการจดจำข้อมูลที่ไม่เคลื่อนไหวแล้ว”