เมื่อต้องส่งลูกเข้าสถานพัฒนาเด็ก
การส่งเด็กเข้าสถานรับเลี้ยงเด็ก เป็นหนึ่งในหัวข้อที่มีการกล่าวถึงมากที่สุด ในประวัติศาสตร์ของ จิตวิทยาพัฒนาการ การอภิปรายเกี่ยวกับสถานรับเลี้ยงเด็กเกิดขึ้นครั้งแรกในโลกตะวันตก เมื่อผู้หญิงเริ่มต่อสู้เพื่อ สิทธิในการทำงาน ในสังคมเกษตรกรรมก่อนหน้านั้น ไม่มีความจำเป็นต้องมีสถานรับเลี้ยงเด็ก เนื่องจากผู้หญิงอยู่ ทำงานที่บ้าน ทำอาหารเลี้ยงครอบครัว ดูแลสัตว์เลี้ยง รวมทั้งเลี้ยงลูกๆ จนถึงยุคสังคมอุตสาหกรรมทำให้ผู้หญิง ต้องออกมาทำงานนอกบ้าน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องส่งเด็กไปอยู่ ในความดูแลของคนอื่น สถานรับเลี้ยงเด็กจึง เกิดขึ้นมากมาย เพื่อรองรับความจำเป็นและความต้องการดังกล่าว
ในระยะแรกของการมีสถานรับเลี้ยงเด็กเกิดขึ้นในสังคมอุตสาหกรรม มีรายงานแสดงให้เห็นว่า เมื่อเด็ก ต้องออกจากบ้านพร้อมพ่อแม่ที่เข้าไปทำงานในโรงงาน ส่วนตัวเด็กนั้นเข้าไปอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวันนั้น มีสถิติพบว่า เด็กส่วนใหญ่มักมีพฤติกรรมวิตกกังวลและก้าวร้าว โดยสถิติดังกล่าวมีตัวเลขสูงยิ่งขึ้นในศูนย์ดูแลเด็ก ของชุมชนที่มีคุณภาพต่ำ ซึ่งในเวลานั้น มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการมีสถานรับเลี้ยงเด็ก โดยมีความคิดเห็นว่า แม่ เท่านั้น ที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตลูกน้อย
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนับสนุนให้มีการบริการรับเลี้ยงเด็กในตอนกลางวัน ที่ช่วยเหลือแม่ต้องออกไปทำงาน นอกบ้านได้เสนอมุมมองที่น่าสนใจว่า การดูแลเด็กของสถานบริการรับเลี้ยงเด็กไม่ได้ทำให้เด็กมีความวิตกกังวล หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพสูง ซึ่งเด็กจะได้รับการ ดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี การพบปัญหาว่ามีเด็กบางคนแสดงพฤติกรรมในทางลบ ไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวล หรือ พฤติกรรมก้าวร้าวนั้น ไม่ได้เกิดจากการดูแลของสถานรับเลี้ยงเด็กไม่ดี แต่สาเหตุของพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เกิดขึ้นมาจากสภาพแวดล้อมในบ้าน และมีสาเหตุมาจากพ่อแม่ผู้ปกครองที่ส่งเด็กเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กต่างหาก
เนื่องจากเมื่อมีการสำรวจ พบว่า เด็กที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กมักมาจากครอบครัวที่พ่อแม่ยุ่งมาก หรือ แทบไม่มีเวลาให้ลูก ยิ่งครอบครัวใดพฤติกรรมของพ่อแม่ผู้ปกครองมีปัญหา หรือมีปัญหาระหว่างกัน ทำให้ สภาพแวดล้อมภายในบ้านตึงเครียดอยู่เสมอ ซึ่งสภาพแวดล้อมดังกล่าวส่งผลต่อพฤติกรรมและบุคลิกภาพของเด็ก จิตใจของเด็กไม่มีความมั่นคง และตัวตนของเด็กก็หดหายลง
พฤติกรรมเชิงลบหรือพฤติกรรมที่ถดถอย ดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นกับเด็กที่อยู่สภาพแวดล้อมที่ ตึงเครียดเรื้อรัง ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะถูกส่งไปเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กหรือไม่ก็ตาม
ศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่มีครูและพี่เลี้ยงเด็กที่มีความรู้ ความเข้าใจและมีความรักเด็ก สามารถสร้างความ สัมพันธ์ที่ดีและความผูกพันไว้ใจให้เกิดขึ้นกับเด็กได้ ในสังคมปัจจุบันที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องส่งลูกเข้าศูนย์เด็กเล็ก ตั้งแต่อายุยังน้อย การเลือกคุณภาพศูนย์เด็กเล็กที่ดีจึงเป็นเรื่องจำเป็น พอๆกับการที่พ่อแม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการ เรียนรู้ และสนับสนุนครูในการพัฒนาลูกของตน นอกเหนือจากการทำหน้าที่ในบทบาทพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่เข้าใจ ธรรมชาติของเด็ก เข้าใจลักษณะเฉพาะที่เป็นพิเศษของลูกตน รู้วิธีปฏิบัติตนต่อลูก ส่งเสริมศักยภาพลูกได้ถูก ทิศทาง และสร้างบ้านที่มีความสุขขึ้นมา
การเป็น “พ่อแม่ที่มีอยู่จริง” ดูแลให้เวลาลูก เอาใจใส่ความรู้สึกและความต้องการของลูก สร้าง สภาพแวดล้อมที่ดี ทั้งพ่อและแม่รักกัน รวมทั้งรักและเอาใจใส่ลูก จึงเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และ ความผูกพันอย่างมั่นคงกับลูกๆ ทำให้วัยเด็กของลูกเป็นวัยที่เต็มไปด้วยความรัก มีความสุข เรียนรู้โลกและ ศักยภาพตนเองด้วยความมั่นใจในตนเอง เรียนรู้ที่จะเข้าใจเห็นใจผู้อื่นและปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ เมื่อเติบโตไป สายสัมพันธ์จาก “พ่อแม่ที่มีอยู่จริง” จะร้อยรัดลูกไว้ให้หลุดพ้นจากหลุมพราง รวมทั้งสิ่งเย้ายวนที่อาจพาชีวิตวิบัติ ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติดหรืออบายมุขต่างๆ ทั้งยังจะเป็นสายสัมพันธ์ที่ผูกพันชีวิตไม่ให้คิดสั้น แต่เป็นพลังให้ฮึดสู้ ยามเจอขวากหนามยากยิ่งในชีวิต เป็นพลังจากภายในให้ลูก ที่เชื่อมั่นว่าตนจะสร้างปาฏิหาริย์ได้ในยามหาทางออกของชีวิตไม่เจอ และแม้ยามที่เขาพ่ายแพ้หรืออ่อนแอ เขาก็ยังเชื่อมั่นว่า ในโลกนี้มีบ้านเป็นที่พักพิง ไออุ่นของพ่อแม่ ที่รักเขาอย่างแท้จริงจะเติมพลังให้ ลุกขึ้นยืนได้อย่างสง่างามอีกเสมอในโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวน
ดังนั้นการส่งลูกไปยังสถานรับเลี้ยงเด็ก ที่มีครูและพี่เลี้ยงเด็กที่มีความรักเด็กและมีความรู้ความเข้าใจ อย่างแท้จริง จึงเป็นการแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ ผู้ปกครองได้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะมอบ ภาระความรับผิดชอบให้ครู พี่เลี้ยงเด็กในโรงเรียนในการดูแลอบรมบ่มเพาะเด็ก แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม่ พ่อและครอบครัวยังเป็นสภาพแวดล้อม และเป็นฐานที่มั่นทางใจที่สำคัญที่สุดในชีวิตเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครองจึง จำเป็นต้องใฝ่หาความรู้ สังเกต ใส่ใจลูก สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นในบ้าน สร้างความรักความผูกพันไว้ใจให้เกิดขึ้น กับลูกด้วยตนเองด้วยการเป็น “พ่อแม่ที่มีอยู่จริง”
อ้างอิง
• Daniel J Siegel & Tina Payne Bryson, The Power of Showing Up: How Parent Presence Shapes Who Our Kids Become and How Their Brains Get Wired, Random House USA Inc, New York, United States, Jan 5,2021
• Jay Belsky, PhD, Early Day Care and Infant-Mother Attachment Security, https://www.child-encyclopedia.com/attachment/according-experts/early-day-care-and-infant-mother-attachment-security, May, 2020