ความรู้ชุด: จักรวาลของ “สมอง”

เมื่อสมองผิดปกติ

ปัจจุบันเราสามารถเห็นการทำงานของสมองจากกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้น ในบริเวณของสมองส่วนที่กำลังทำงาน ผ่านการสร้างภาพด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Functional Magnetic Resonance Imaging : fMRI   โดยการสร้างภาพ เกิดจากการอาศัยสนามแม่เหล็กแรงสูงทำงาน โดยใช้คลื่นวิทยุความถี่ที่เหมาะสมกับสนามแม่เหล็ก เพื่อกระตุ้นและสร้างภาพของอวัยวะในร่างกายที่เราไม่สามารถเห็นได้ด้วยการมองจากภายนอก โดยเฉพาะอวัยวะภายในที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะตรวจจับการไหลเวียนของเลือดที่มีธาตุเหล็กอยู่  สมองส่วนใดที่กำลังทำงานอยู่ การไหลเวียนของเลือดในบริเวณนั้นจะเพิ่มขึ้น

ความสามารถของเครื่อง fMRI ได้ทำให้เราเข้าใจการทำงานของสมองมากขึ้น ว่าสมองส่วนใดกำลังทำหน้าที่ควบคุมอวัยวะ หรือการคิด การกระทำของเราอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม การมองเห็นแสงสว่างในบริเวณสมองที่กำลังทำงานขณะที่เราคิด หรือตอบสนองต่อการกระตุ้น ก็ยังเป็นการเห็นภาพรวมบริเวณสมองที่มีการทำงานหรือการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆเท่านั้น แต่ก็นับว่าก้าวหน้าและแสดงรายละเอียดได้อย่างมาก เมื่อเทียบกับการตั้งสมมุติฐานอย่างคร่าวๆ ของหมอกอลล์ในราวปี 1800 ที่ว่า ความคิด อารมณ์นั้นเกิดขึ้นอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของสมอง

กรณีการเกิดอุบัติเหตุทางสมองที่ ฟิเนียส์ พี. เกจ (Phineas P. Gage) (ค.ศ. 1823-1860) หัวหน้าคนงานก่อสร้างชาวอเมริกันในระหว่างการระเบิดหิน ที่แท่งเหล็กขนาดใหญ่พุ่งทะลุผ่านกะโหลกศีรษะของเขา ทำลายสมองส่วนหน้าด้านซ้ายส่วนใหญ่แต่ยังมีชีวิตรอด และอยู่มาได้นานถึงอีก 12 ปี แต่ทำให้บุคลิกภาพและพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม การบาดเจ็บทางสมองของเพจเป็นกรณีศึกษาอย่างกว้างขวางในสาขาวิชาประสาทวิทยา และจิตวิทยาที่ทำให้เกิดการค้นคว้า ถกเถียง และแสดงถึงการแบ่งหน้าที่เฉพาะของสมองแต่ละส่วน และอาจจะเป็นกรณีแรกที่แสดงให้เห็นว่า ความเสียหายของสมองบางบริเวณ มีผลต่อบุคลิกภาพ

ที่มาของรูปภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Phineas_Gage

ซ้าย : เพจกับเหล็กชะแลงที่เจาะทะลุหัวจนตาข้างซ้ายพิการ ซึ่งกลายเป็นเพื่อนคู่กายเขาจนตลอดชีวิตที่เหลืออยู่

ขวา : กะโหลกศีรษะของเพจที่ถูกมอบให้เพื่อการศึกษา

การผิดปกติทางสมองอีกกรณีหนึ่งที่มีชื่อเสียง และทำให้เข้าใจการทำงานและการเจ็บป่วยของสมองอย่างมาก และความรู้ที่ได้จากกรณีนี้เปลี่ยนมุมมองและการแก้ไขปัญหาทางอาชญากรรมในอเมริกาเลยทีเดียว เรื่องสะเทือนขวัญนี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1966 เมื่อ ชาร์ลส์ วิทแมน (Charles Whitman) หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม Texas Tower Sniper ก่อการสังหารแม่ที่รัก ภรรยาที่ชื่นชม หลังจากนั้นได้ไปที่หอคอยของมหาวิทยาลัยเท็กซัส และซุ่มยิงจนคนตายไปทั้งหมดอีก 16 คน และบาดเจ็บอีก 26 คน โดยไม่มีมูลเหตุจูงใจ ก่อนถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรม

วิทแมนเกิดในตระกูลนักธุรกิจ และมีไอคิวสูงถึง 138   เป็นอดีตนาวิกโยธินและเข้าเรียนสาขาวิศวกรรมเครื่องกลที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส ตัวเขาเองสงสัยว่าตนเองมีความผิดปกติในสมอง และได้เขียนบันทึกความปั่นป่วนภายในที่ควบคุมไม่ได้ของตนอย่างละเอียด และในบันทึกยังได้ระบุความประสงค์ให้ดำเนินการชันสูตรศพของตนหลังจากความตาย จากการชันสูตรศพของเขาพบว่า มีเนื้องอกบริเวณไฮโปทาลามัส และ อะมิกดะลา ( Amygdala ) ในสมองของเขา สมองบริเวณนี้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ แม้ว่าในเวลานั้นยังไม่มีการสรุปแน่ชัดว่า ความผิดปกติในบริเวณอะมิกดะลาเป็นสาเหตุที่ทำให้วิทแมนกระทำการเช่นนั้น

แต่ในการศึกษาวิจัยที่ก้าวหน้ามากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้เรามีความรู้ว่า อะมิกดะลาซึ่งทำหน้าที่หลักในการสร้างและบันทึกความทรงจำ จากอารมณ์ที่มีต่อประสบการณ์ต่างๆที่เข้ามาในชีวิต ว่าพึงใจ ชอบ หรือไม่พึงพอใจ กลัว เกลียด แล้วเรียนรู้ พยากรณ์ประสบการณ์ใหม่ที่เข้ามา เพื่อพาชีวิตไปอยู่ในโหมดของความปลอดภัย สบายใจ มีความสุข ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้สามารถทำให้เกิดภาวะที่วิตกกังวลเกินเหตุ เป็นโรคหวาดระแวง มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพ ต่อต้านสังคม ไปจนถึงความรู้สึกที่บิดเบี้ยวไป ในบันทึกของวิทแมนได้เขียนเล่าการไปพบจิตแพทย์ครั้งสุดท้ายว่า ได้พยายามบอกหมอถึงความกลัว แรงกระตุ้นอย่างรุนแรงที่ไม่สามารถควบคุมได้ของตน เขาได้เขียนต่อว่า “และตั้งแต่นั้นมา ผมไม่ได้พบหมออีกเลย ผมต่อสู้กับความปั่นป่วนภายในเพียงลำพัง และดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์เลย”

ในวัยเด็กวิทแมนเป็นเด็กที่สุภาพเรียนเก่ง แต่มีพ่อที่เข้มงวดมากและมักทำร้ายแม่ของเขา เสมอจนภายหลังแม่ขอหย่าขาด ตอนที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนาวิกโยธิน เขามีคดีติดตัวที่ต้องต่อสู้ ห้ำหั่นกันในศาล อีกทั้งในระยะหลังวิทแมนมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง บันทึกที่เขียนไว้ก่อนการสร้างเหตุสะเทือนขวัญ วิทแมนเขียนไว้ว่า “ผมควรจะเป็นชายหนุ่มที่ฉลาดและมีเหตุผล แต่การคิดที่ไม่ปกติ ไม่สมเหตุสมผลมากมาย ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่รู้ว่าเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่” ส่วนในบันทึกของมอรีซ ดีน ฮีทลีย์ จิตแพทย์ที่วิทแมนไปพบ  ระบุว่า “เด็กกล้ามโตคนนี้ดูเหมือนเต็มไปด้วยความเกลียดชัง เขาบอกว่า มันเหมือนมีบางอย่างเกิดขึ้นกับเขา จนดูเหมือนเขาจะไม่ใช่ตนเอง เขาพร้อมจะระเบิดได้ทุกเวลาแม้ถูกยั่วยุเพียงน้อยนิด” หลังจากฆ่าแม่และภรรยา วิทแมนยังนั่งบันทึก เขียนสั่งเสียให้นำเงินที่เหลือหลังจากเขาตายบริจาคให้มูลนิธิสุขภาพจิตโดยไม่ระบุนาม เขาเขียนสั่งเสียไว้ว่า บางทีงานวิจัยจะสามารถป้องกันโศกนาฏกรรมประเภทนี้ที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต


อ้างอิง