ความรู้ชุด: จักรวาลของ “สมอง”

อะไรทำให้เราเป็น “ตัวเรา” ในทุกวันนี้

“เราเป็นคนอย่างที่เราเป็นเพราะสิ่งที่เราเรียนรู้และสิ่งที่เราจดจำได้” – We are who we are because of what we learn and what we remember. เป็นคำกล่าวของอีริค อาร์ เคนเดล (Eric R. Kandel) นายแพทย์ชาวอเมริกันเชื้อสายออสเตรียซึ่งได้รับรางวัลโนเวลสาขาการแพทย์ ปี 2000 เคนเดลทำให้เราเข้าใจกระบวนการทำงานของเซลล์ประสาทในสมอง และทำให้รู้ว่าการเชื่อมต่อ ของเซลล์ประสาทในสมองทำให้สิ่งมีชีวิตเกิดการเรียนรู้ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรม เคนเดล ทำงานวิจัยกับทากทะเลที่มีเซลล์ประสาทเหมือนมนุษย์ ด้วยการจี้ไฟฟ้าอ่อนๆไปที่อวัยวะเพศ เทคโนโลยี MRI ทำให้เห็นกระบวนการของการรับส่งข้อมูลในสมองของทากทะเลที่ถูกไฟฟ้าสัมผัส ว่าเมื่อมีการกระตุ้นประสาทสัมผัส เซลล์สมองที่มีช่องว่างระหว่างเซลล์สมองแต่ละเซลล์หรือ ไซแนปส์ ของเซลล์สมองที่เกี่ยวข้องจะเชื่อมเข้าหากันทุกครั้ง และเค้นเอาโปรตีนตัวหนึ่งออกมา หลังจากนั้นเมื่อทำการทดลองเอาปลายเข็มไปแตะอวัยวะบริเวณเดิม อวัยวะนั้นจะหดตัวหนีทันที เป็นการค้นพบครั้งแรกว่า การเชื่อมต่อไซแนปของเซลล์สมอง ทำให้เกิดการส่งสัญญานประสาท หรือข้อมูล หรือคำสั่ง ไปยังประสาทสั่งการ และนี่คือจุดที่เกิดกระบวนการเรียนรู้ในสมองของสิ่งมีชีวิต

ที่มาของรูปภาพ: https://www.discovermagazine.com/planet-earth/do-synapses-really-store-memories

เซลล์ประสาทในสมองทำงานด้วยกระแสไฟฟ้าและสารเคมี โดยภายในเซลล์ประสาทจะเป็นกระแสไฟฟ้า ส่วนระหว่างเซลล์ประสาทจะเป็นสารเคมี เซลล์ประสาทในสมองมีกระแสไฟฟ้าที่สามารถทำให้หลอดไฟ ๒๕ วัตต์ติดได้ ประจุไฟฟ้าในเซลล์ประสาทมีทั้งบวกและลบ ในผนังเซลล์สมองมีช่องทางให้ประจุไฟฟ้าเหล่านี้เข้าออกได้ โดยมีประจุบวกอยู่นอกเซลล์ ประจุลบอยู่ในเซลล์ ถ้า ๒ ข้างสมดุลกัน ก็จะอยู่ในระยะพัก เมื่อมีการกระตุ้นโดยข้อมูลต่างๆ ที่ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 เข้ามาก็จะทำให้ประจุไฟฟ้าเหล่านี้ไม่สมดุลกัน เกิดกระแสไฟฟ้าส่งพลังงานออกมาไปกระตุ้นเซลล์ประสาทต่อไป ด้วยการหลั่งสารเคมีออกมาเชื่อมไซแนปส์ที่เป็นช่องว่างระหว่างเซลล์สมอง เพื่อนำข้อมูลไปสู่เซลล์สมองอื่นต่อไป

เซลล์สมองของมนุษย์มีปริมาณไม่ต่างกันมาก คือแต่ละคนมีประมาณ หนึ่งแสนล้านเซลล์ การเชื่อมต่อไซแนปส์แต่ละจุด จึงมีจำนวนมหาศาล ในเด็กเล็กไซแนปส์ที่เชื่อมต่อกันมีจำนวนถึง 1,000,000 จุดต่อวินาที ปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ขนาดของสมองไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนแต่ละคนฉลาดแตกต่างกัน แต่การเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทที่เกี่ยวข้องกันยิ่งมีปริมาณมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้คนๆนั้นมีความเฉลียวฉลาดขึ้น ในเด็กเล็กที่เซลล์ประสาทมีความสามารถในการเชื่อมอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด จึงเป็นวัยที่ รัฐบาล ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ผู้ปกครองต้องทุ่มเทสนใจดูแลสร้าง “โอกาส”ให้เด็กน้อยได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่ดีมากที่สุดอย่างเหมาะสมตามวัย คือการได้รับเวลา ความรัก ความเอาใจใส่เต็มที่อย่างเข้าใจ

ที่มาของรูปภาพ: https://teachmephysiology.com/nervous-system/synapses/synaptic- transmission/

การขยายตัวและเพิ่มวงจรประสาทที่เชื่อมระหว่างเซลล์ประสาทมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับ สิ่งแวดล้อมและการได้รับการกระตุ้นด้วยข้อมูลหรือที่เราเรียกว่าประสบการณ์ต่างๆ ที่ประสาทสัมผัส ทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกายสัมผัส ได้รับ ข้อมูลเหล่านี้จะส่งผ่านทางสายใยsประสาท ส่งข้อมูลของเซลล์ประสาทหนึ่งไปยังสายใยประสาทรับข้อมูลของอีกเซลล์ประสาทหนึ่ง การเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทที่เกิดขึ้น ทำให้วงจรประสาท ส่วนนั้นหนาแน่น แข็งแรง ยิ่งมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและประสาทสัมผัสได้รับ ประสบการณ์สมองจะยิ่งมีวงจรประสาทมาก ยิ่งฉลาด และเรียนรู้ได้เร็วโดยเฉพาะในช่วง 0-6 ขวบ ช่วงปฐมวัยจึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการวางรากฐานชีวิตของเด็กแต่ละคน

การเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทที่ได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอกผ่านเข้ามาทางประสาทรับสัมผัสนั้นก่อเกิดเป็นความทรงจำ ซึ่งในระหว่างวันที่เราตื่นอยู่มีความทรงจำระยะสั้นที่เกิดขึ้นเกือบตลอดเวลาที่สมองรับรู้หรือทำงานอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่อยู่ตรงหน้า หรืออยู่ในความสนใจ ในยามที่เรานอนหลับสมองยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องไม่หยุด โดยจะนำข้อมูลเหล่านี้บางส่วนที่สมองสนใจ เชื่อมโยงได้เก็บไว้ใช้ต่อไปได้ไปเก็บไว้ที่ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus)ซึ่งอยู่ในบริเวณสมองส่วนกลางหรือสมองส่วน Limbic system เป็น ความจำระยะยาว (Long-Term Memory) เปรียบเสมือนคลังข้อมูล สามารถแบ่งอกได้เป็น ความจำที่สามารถเรียกคืนกลับโดยอัตโนมัติ (Non-Declarative / Implicit Memory) ซึ่งได้มาจากการฝึกทำซ้ำๆ เช่น การปั่นจักรยาน, การขับรถ เป็นต้น ส่วนความจำระยะยาวอีกชนิดคือ ความจำที่เรียกคืนโดยใช้ความคิดระดับสูง (Declarative / Explicit Memory) ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และความเข้าใจของบุคคลนั้นๆ เช่น การจดจำชื่อคนในครอบครัว, การหาของที่หาย, ความรู้รอบตัว, การจดจำอดีตหรือสิ่งที่เคยทำได้เป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี เป็นต้น

ความทรงจำที่เรามีเกิดจากการเรียนรู้ที่ประสาทสัมผัสรับรู้ประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นรอบตัวตั้งแต่เกิด ทุกการรับรู้และประสบการณ์สร้างการเชื่อมต่อเซลล์ประสาทจำนวนมหาศาลจนกลายเป็นวงจรประสาท ประสบการณ์และส่ิงแวดล้อมใดที่ได้รับบ่อยหรือสร้างผลสะเทือนต่อการใช้ชีวิตและจิตใจมาก วงจรประสาทเกี่ยวกับเรื่องนั้นจะแข็งแรง และส่งผลออกมาเป็นพฤติกรรมตอบสนองต่อประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมตามที่ได้เรียนรู้มา จนกลายเป็น “บุคลิกภาพ” ของคนแต่ละคนที่ได้รับประสบการณ์เฉพาะตนและสิ่งแวดล้อมที่ต่างกันไป

           นักจิตวิทยาเช่นวอลเตอร์มิสเชล (Walter Mischel)ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการเขียนหนังสือ “The Marshmallow Test” ได้นิยามว่าบุคลิกภาพ หมายถึง รูปแบบพฤติกรรม รวมทั้งความคิดและอารมณ์ของแต่ละคนซึ่งเป็นตัวกำหนดให้ปรับตนเองเข้ากับสภาวการณ์ในการดำเนินชีวิตเออร์เนสต์ฮิลการ์ด(Ernest Hilgard) นิยามว่าบุคลิกภาพเป็นผลรวมของลักษณะต่างๆของแต่ละบุคคลซึ่งแสดงพฤติกรรมต่างๆในการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมของบุคคลนั้นๆส่วนกอร์ดอนอัลพอร์ท (Gordon Allport) หนึ่งนักจิตวิทยาผู้วางรากฐานจิตวิทยาบุคลิกภาพ ได้อธิบายเช่นเดียวกันว่าบุคลิกภาพเป็นหน่วยรวมที่ทรงพลังของระบบการคิดและจิตภายในตัวบุคคลซึ่งกำหนดลักษณะการปรับตัวเป็นแบบเฉพาะของบุคคลนั้นต่อสิ่งแวดล้อมของเขา

          ดังนั้นการที่คนแต่ละคนตอบสนองต่อเหตุการณ์เดียวกันเรื่องเดียวกันด้วยอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างกันไปแสดงออกและมีพฤติกรรมในเรื่องหนึ่งแตกต่างกันไปและรับผลลัพธ์จากที่ต่างกันไปเช่นกันนั้นมาจากบุคลิกภาพที่ต่างกันไปซึ่งสามารถสืบสาวลึกลงไปได้ว่าเกิดจากประสบการณ์ที่พานพบมาและจดจำได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ของสมองที่เชื่อมต่อช่องว่าง (Synapes) ระหว่างเซลล์ประสาทจากสิ่งเร้าที่เข้ามา เกิดเป็นวงจรประสาทท่ีแข็งแรงแตกต่างกันไปตามประสบการณ์และการเรียนรู้ที่ได้รับ  ทำให้เราแต่ละเป็นตัวเราในทุกวันนี้ที่มีบุคลิกภาพเฉพาะตน


อ้างอิง