ปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยป้องกัน
ดังกล่าวแล้วว่า การศึกษาวิจัยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาพยายามที่จะหาว่า ปัญหาการเสพติดเกิดขึ้นอย่างไร พัฒนาอย่างไร ปัจจัยที่เพิ่มโอกาสเสพติดเราเรียกว่า “ปัจจัยเสี่ยง” ปัจจัยที่ลดโอกาสเสพติด เรียกว่า “ปัจจัยป้องกัน” งานวิจัยชี้ว่า ปัจจัยเสี่ยงสำหรับคนคนหนึ่ง อาจจะไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงของอีกคนหนึ่งก็ได้ และที่สำคัญ ปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยป้องกันอาจจะส่งผลต่อเด็กในช่วงความเสี่ยงตามพัฒนาการ ที่เรียกว่า Risk Trajectory (หรือเส้นทาง- Path) ที่ต่างกัน
เส้นทางการเสพติดนี้จะชี้ให้เห็นว่า ความเสี่ยงปรากฏตัวอย่างไรในแต่ละช่วงชีวิตของเด็ก เช่น ความเสี่ยงตั้งแต่วัยเด็กเล็ก อาจได้แก่ พฤติกรรมก้าวร้าวที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งหากไม่ได้รับการใส่ใจและแก้ไขเชิงบวก พฤติกรรมนี้จะนำไปสู่ความเสี่ยงเมื่อเด็กเข้าสู่โรงเรียน เพื่อนอาจไม่ยอมรับ อาจถูกครูลงโทษ และอาจเรียนไม่ได้ ซึ่งหากโรงเรียนก็ไม่มีระบบช่วยเหลือปรับพฤติกรรม อาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการใช้สารเสพติด ดังนั้น หากป้องกันด้วยการใส่ใจเสียตั้งแต่วัยเด็กเล็ก เสริมปัจจัยป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น ก็จะได้ผลดีกว่า
ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ นั้นมีความเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางอารมณ์ สังคม และการเรียนรู้ของคนแต่ละคน และส่งผลต่อบุคคลที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพ ช่วงพัฒนาการของวัย และสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัว เช่น ความเสี่ยงที่รุนแรงหลายอย่าง พฤติกรรมก้าวร้าวและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน อาจจะบ่งชี้ว่าเด็กคนหนึ่งๆ กำลังอยู่บนเส้นทางพัฒนาการที่มุ่งสู่พฤติกรรมที่เป็นปัญหาอย่างไร ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือ แก้ไขตั้งแต่ต้นมือ จะช่วยลดหรือตีกลับปัจจัยเสี่ยงและเปลี่ยนเส้นทางการพัฒนาของเด็กคนนั้นๆ ได้
สำหรับเด็กเล็กที่แสดงออกถึงปัจจัยเสี่ยงที่รุนแรง การให้ความช่วยเหลือที่ล่าช้าไปนานจนถึงวัยรุ่น จะยิ่งทำให้การแก้ปัจจัยเสี่ยงมีความยากขึ้น เพราะในช่วงวัยรุ่นนั้น ทัศนคติ พฤติกรรม ได้ถูกฝังตัวลงไปแล้วในสมองและจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ
ปัจจัยเสี่ยงยังมีอิทธิพลต่อการติดสารเสพติดในหลายแบบ เช่น ถ้ามีครอบครัวมีประวัติติดยา เด็กก็เสี่ยงที่จะติดยาไปด้วย ถ้าในสภาพแวดล้อมไม่มีเพื่อนติดยาและมีค่านิยมไม่ยอมรับการติดยา เด็กก็มีแนวโน้มที่จะติดยาน้อยลง ถ้าครอบครัวใกล้ชิดใส่ใจ ก็จะลดโอกาสในการติดยาในเด็ก เป็นต้น
เพศก็อาจมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัวชี้วา เด็กวัยรุ่นหญิงตอบสนองต่อวินัยและการสนับสนุนของพ่อแม่ผู้ปกรองในทางบวกมากกว่าวัยรุ่นชาย งานวิจัยในโรงเรียนชี้ว่า พฤติกรรมก้าวร้าวในเด็กชาย และการเรียนรู้ไม่รู้เรื่องในเด็กหญิง เป็นสาเหตุหลักเบื้องต้นของสัมพันธภาพระหว่างเพื่อน ซึ่งในทางกลับกันก็จะนำไปสู่การไม่เป็นที่ยอมรับทางสังคม ประสบการณ์การไปโรงเรียนทางลบ และพฤติกรรมที่มีปัญหา ซึ่งจะต่อเนื่องไปถึงการเสพสารเสพติดได้
อะไรคือสัญญาณความเสี่ยงตั้งแต่วัยเยาว์
ที่อาจทำนายการติดสารเสพติดในวัยต่อๆมา
สัญญาณความเสี่ยงบางประการอาจเห็นได้ตั้งแต่ในช่วงทารก เช่น บุคลิกลักษณะของเด็ก หรือภาวะอารมณ์ อาจทำให้เด็กมีภาวะเสี่ยงเพิ่มขึ้นจนไปถึงการติดยาในภายหลัง เช่น เด็กผู้ชายที่ถดถอยและก้าวร้าว มักจะแสดงพฤติกรรมที่มีปัญหาในระหว่างมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว เพื่อนหรือสังคม ที่หากว่าพฤติกรรมนี้ดำเนินต่อไป ก็อาจจะนำไปสู่ภาวะเสี่ยงแบบอื่นๆ เช่น การล้มเหลวในการเรียน การถูกปฏิเสธจากเพื่อน เลยไปเข้ากลุ่มกับเพื่อนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ซึ่งก็จะเป็นความเสี่ยงในช่วงเข้าสู่วัยรุ่นในที่สุด การศึกษาพบว่า เด็กที่เรียนไม่ดีและมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมระหว่างวัย 7-9 ปี มีแนวโน้มที่จะเกี่ยวข้องกับการใช้สารเสพติดเมื่ออายุ 14-15 ปี
ในครอบครัว
ปฏิสัมพันธ์แรกสุดของเด็กเกิดขึ้นในครอบครัว ซึ่งอาจจะเป็นแบบบวกหรือลบก็ได้ ด้วยเหตุนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการช่วงต้นของชีวิตในครอบครัว จึงอาจมีความสำคัญที่สุด เด็กจะมีโอกาสเสี่ยงเมื่ออยู่ในสภาพดังนี้ในครอบครัว;
- ขาดความผูกพันใกล้ชิดที่มีต่อกันระหว่างเด็กกับพ่อแม่ และขาดการเอาใจใส่จากผู้ดูแล
- การเลี้ยงดูที่ไม่มีประสิทธิภาพ
- บรรยากาศในบ้านที่วุ่นวายสับสน
- ขาดความสัมพันธ์ที่มีความหมายกับผู้ดูแลอย่างน้อยคนหนึ่ง
- ผู้ดูแลใช้สารเสพติด มีปัญหาจากภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจ หรือเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมผิดกฎหมาย
ประสบการณ์เหล่านี้ โดยเฉพาะการเสพสารเสพติดของผู้ดูแล จะขัดขวางความผูกพันที่พึงมีของครอบครัวและคุกคามความรู้สึกปลอดภัยของเด็ก แต่ครอบครัวจะสร้างปัจจัยป้องกันให้แก่เด็กได้ ถ้า;
- มีความผูกพันไว้ใจระหว่างเด็กกับครอบครัว
- ผู้ดูแลหรือผู้ปกครองมีความเกี่ยวพันในชีวิตของเด็ก
- การเลี้ยงดูแบบสนับสนุน ที่ให้การตอบสนองความต้องการทั้งด้านการเงิน อารมณ์ การเรียนรู้ และทางสังคม
- การกำหนดขอบเขตข้อจำกัดและวินัยที่มีผลบังคับที่คงเส้นคงวา
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เรียกว่า sensitive period ของพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย อาจส่งผลให้ความเสี่ยงสูงขึ้น เช่น ในช่วงวัยทารกและวัยเด็กเล็ก ความผูกพันไว้ใจระหว่างผู้ปกครองกับเด็กจะสำคัญที่สุด ถ้าความผูกพันในช่วงวัยนี้ล้มเหลว ก็เป็นไปได้ว่าจะส่งผลทางลบต่อการพัฒนาในช่วงต่อไปของชีวิต
นอกครอบครัว
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพความสัมพันธ์ของเด็กในพื้นที่นอกครอบครัว เช่น โรงเรียน เพื่อนร่วมโรงเรียน ครู และในชุมชน การมีปัญหาในพื้นที่เหล่านี้ก็อาจจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านอารมณ์ การรู้คิดและทางสังคมของเด็กทั้งสิ้น ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่;
- พฤติกรรมในห้องเรียนที่ไม่เหมาะสม เช่น ความก้าวร้าว และการไม่อยู่สุข
- ความล้มเหลวในการเรียน
- ทักษะจัดการสังคมอ่อนแอ
- การคบหากับเพื่อนที่มีปัญหาพฤติกรรม และมีการเสพยา
- การรับรู้ผิดๆเกี่ยวกับการยอมรับการใช้ยาในโรงเรียน กลุ่มเพื่อน หรือในชุมชน
การคบเพื่อนที่ใช้สารเสพติดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลที่สุดต่อวัยรุ่นในเรื่องการติดยาและการทำผิดกฎหมาย งานวิจัย (Dishion et al. 2002) ชี้ว่า การให้เด็กที่มีความเสี่ยงสูงไปเข้าในโครงการที่เพื่อนใช้สารเสพติด จะทำให้เกิดผลลัพธ์ทางลบ งานวิจัยล่าสุดศึกษาว่า บทบาทของผู้ใหญ่และเพื่อนที่มีพฤติกรรมทางบวก มีส่วนช่วยให้เลี่ยงพ้นจากผลลัพธ์ในอนาคตได้
ปัจจัยอื่นๆ เช่น การหาซื้อยาได้ง่ายในพื้นที่รอบตัว การลักลอบขายสารเสพติด และความเชื่อว่า “ติดยาไม่มีปัญหา” ล้วนเป็นความเสี่ยงที่ผลักดันให้เด็กวัยรุ่นทดลองใช้ยาได้
ครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการปกป้องเด็ก แม้เด็กจะมีกิจกรรมอยู่นอกบ้านก็ตาม เมื่อเด็กอยู่นอกบ้าน ปัจจัยป้องกันที่ส่งผลที่สุดคือ
- การติดตามพฤติกรรมทางสังคมโดยพ่อแม่ ที่เหมาะสมกับวัย เช่นการห้ามออกนอกบ้านในเวลากลางคืน การขอคำปรึกษาพ่อแม่ผู้ปครองเมื่อออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน การรู้จักเพื่อนของลูก และการมีกฎกติกาในบ้าน
- การเรียนดีและมีกิจกรรมนอกหลักสูตร
- ความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันทางสังคม อย่างโรงเรียน หรือสถาบันศาสนา
- การยอมรับค่านิยมหรือบรรทัดฐานที่ต่อต้านยาเสพติด
ช่วงวัยที่เสี่ยงต่อการติดสารเสพติด
งานวิจัยชี้ว่า ช่วงที่เสี่ยงต่อการเสพติดจะเป็น “ช่วงรอยต่อสำคัญในชีวิตเด็ก”
- รอยต่อที่สำคัญที่สุดครั้งแรกคือตอนที่เด็กแยกจากความปลอดภัยในบ้าน ไปสู่โรงเรียน
- ช่วงที่ขึ้นจากชั้นประถมศึกษาไปสู่ชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งต้องเผชิญสถานการณ์ทางการเรียนและสังคมใหม่ ต้องเจอกลุ่มเพื่อนใหม่ ต้องถูกคาดหวังในเรื่องการเรียนสูงขึ้น ซึ่งเป็นช่วงแรกที่เด็กจะเผชิญกับเรื่องของสารเสพติดเป็นครั้งแรกด้วย
- ช่วงที่ร่างกายเปลี่ยนแปลงเป็นวัยรุ่น
- หรือช่วงที่มีสถานการณ์ทางสังคมกระทบ เช่น พ่อแม่หย่าร้าง หรือย้ายบ้าน เป็นต้น
- และเมื่อขึ้นสู่มัธยมปลาย เขาก็จะเผชิญกับความท้าทายทางสังคม จิตวิทยา และการศึกษาหลายด้าน ขณะเดียวกัน เด็กๆก็อาจจะเผชิญหน้ากับสารเสพติดที่มีให้เจอได้ง่ายขึ้นมาก
- อีกหนึ่งสถานการณ์ท้าทายในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย คือช่วงที่เด็กต้องย้ายออกจากบ้านไปเรียนต่างถิ่น โดยไม่มีคำปรึกษาของพ่อแม่ผู้ปกครองใกล้ชิด ในขณะที่การใช้สารเสพติด หรือแอลกอฮอล์ก็จะเข้ามาใกล้มากขึ้น
แม้เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว เข้าสู่ที่ทำงานหรือการมีครอบครัวของตนเอง เด็กก็จะเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่อีกครั้ง ความเครียดอาจจะทำให้เด็กเข้าหาแอลกอฮอล์และสารเสพติดได้ อย่างไรก็ตามงานวิจัยชี้ว่า การมีวิถีชีวิตใหม่ เช่น ได้งานใหม่ หรือมีครอบครัว อาจเป็นปัจจัยป้องกัน เพราะบทบาทใหม่มีความสำคัญมากเกินกว่าจะไปยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติด
จากข้อมูลเบื้องต้น จึงจะเห็นว่า ความเสี่ยงนั้นเกิดขึ้นได้ทุกรอยต่อของการเปลี่ยนแปลง จากเด็กเล็กไปจนถึงวัยหนุ่มสาว ดังนั้น การวางแผนป้องกันที่เหมาะสมกับวัย ก็จะช่วยทำให้เปิดปัจจัยป้องกันที่เข้มแข็งได้
งานวิจัยเช่นของ National Survey on Drug Use and Health ของสหรัฐอเมริกา ชี้ว่าเด็กบางคนเข้าถึงสารเสพติดตั้งแต่อายุ 12-13 ปีหรือต่ำกว่านั้น ตั้งแต่แอลกอฮอล์ บุหรี่ สารสูดดม กัญชา และยากล่อมประสาท หากการใช้ยาดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวัยรุ่น ผู้เสพก็มักจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกัญชาและเข้าสู่ยาเสพติดที่ผิดกฎหมายอื่นๆ ต่อไป โดยยังดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ด้วย
นักวิทยาศาสตร์ได้นำเสนอสมมติฐานหลายแบบว่า ทำไมคนๆหนึ่งซึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และกลายเป็นผู้เสพในเวลาต่อมา คำอธิบายหนึ่งชี้ว่า เป็นสาเหตุทางชีววิทยา เช่น การมีครอบครัวที่มีประวัติการเสพยาหรือแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อกรรมพันธุ์ของเขา อีกคำอธิบายหนึ่งชี้ว่า การเสพสารเสพติดจะนำไปสู่การคบหากับเพื่อนที่ติดยาหนักขึ้น
งานวิจัยยังพบอีกว่า สถานการณ์ที่มีคนยื่นสารเสพติดให้เด็กวัยรุ่นนั้นขึ้นอยู่กับเพศด้วย เด็กผู้ชายมักจะได้รับการหยิบยื่นยาเสพติดมากกว่า และในวัยที่น้อยกว่าเด็กผู้หญิง นอกจากนี้สถานที่ในการหยิบยื่นสารเสพติดก็มีผล เช่น ในสวนสาธารณะ ถนน โรงเรียน บ้าน หรือในงานปาร์ตี้ และยาเสพติดก็อาจถูกหยิบยื่นให้ ทั้งจากเพื่อน พี่หรือน้อง และแม้แต่พ่อแม่ผู้ปกครองเอง
งานวิจัยยังพบอีกว่า วัยรุ่นที่เผชิญหน้ากับปัจจัยเสี่ยงระดับสูงหลายอย่างพร้อมๆกัน เช่น เป็นคนที่มีความเครียดสูง การสนับสนุนจากผู้ปกครองต่ำ และสมรรถนะการเรียนต่ำ จะมีความเสี่ยงสูงเพิ่มขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม ก็มีปัจจัยป้องกันที่อาจจะคานกันกับการเพิ่มสารเสพติด เช่น การมีความสามารถในการกำกับตนเอง ยับยั้งพฤติกรรมที่มีปัญหาได้ นอกจากนี้ โครงสร้างครอบครัวที่ปกป้อง บุคลิกภาพส่วนตัว หรือสภาพแวดล้อมก็อาจจะลดความเสี่ยงลงได้ โปรแกรมป้องกันที่ออกแบบได้ดี จะช่วยให้วัยรุ่นมีทักษะและได้รับการสนับสนุนจนเข้มแข็งพอที่จะต้านกับแรงยั่วยวนของยาเสพติดได้
หลักการทั้ง 16 ข้อต่อไปนี้ ล้วนมาจากฐานงานวิจัยที่ NIDA ให้การสนับสนุน พ่อแม่ผู้ปกครอง นักการศึกษาและผู้นำชุมชน สามารถใช้หลักการเหล่านี้ได้ในการนำทางการคิด วางแผน คัดกรอง และส่งต่อโครงการป้องกันยาเสพติดในระดับชุมชน
หลักการที่ 1 โปรแกรมป้องกันการเสพสารเสพติดจะต้องเสริมพลังปัจจัยป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยง (Hawkins et al. 2002)
- ความเสี่ยงในการกลายเป็นผู้ใช้สารเสพติด เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่าง จำนวนและลักษณะของปัจจัยเสี่ยง (เช่น ทัศนคติและพฤติกรรมเบี่ยงเบน) กับปัจจัยป้องกัน (เช่น การสนับสนุนของพ่อแม่ผู้ปกครอง) (Wiils and McNamara et al. 1996)
- ผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยป้องกันที่อาจเกิดขึ้นนั้น จะเปลี่ยนไปตามวัย เช่น ปัจจัยเสี่ยงในครอบครัวจะส่งผลกระทบต่อเด็กรุนแรงกว่า ในช่วงที่เด็กอายุน้อย ในขณะที่การมั่วสุมกับเพื่อนที่ติดยาเสพติดอาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีนัยยะสำคัญมากกว่าต่อเด็กในวัยรุ่น (Gerstein and Green 1993 ; Kumpfer et al. 1998)
- โครงการที่ทำงานกับปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่เด็กยังอายุน้อย (เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว และความสามารถในการควบคุมตนเองต่ำ) มักจะส่งผลกระทบทางบวกดีกว่าโครงการที่เข้าไปหาเมื่อเด็กมีอายุมาก โดยจะช่วยเปลี่ยนเส้นทางเดินของเด็กให้ออกจากปัญหา และมุ่งไปสู่พฤติกรรมเชิงบวกแทน ( Ialongo et al. 2001)
- ในขณะที่ทั้งปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยป้องกันส่งผลต่อคนทุกกลุ่ม แต่ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลที่แตกต่าง ขึ้นอยู่กับอายุ เพศ ชาติพันธ์ วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อม ((Beauvais et al. 1996; Moon et al. 1999).
หลักการที่ 2 โปรแกรมป้องกันการเสพสารเสพติดควรจะครอบคลุมการเสพติดทุกรูปแบบ ทั้งแบบเดี่ยว และแบบใช้ร่วม รวมถึงการใช้สารเสพติดถูกกฎหมายในอายุที่น้อย (เช่น บุหรี่ และแอลกอฮอล์) การใช้ยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย เช่น กัญชาและเฮโรอีน และการใช้สารที่ถูกกฎหมายแต่ไม่เหมาะสม ( เช่น ยาสูดดม ) ยาที่แพทย์สั่งหรือยาที่หาซื้อเองตามร้าน ( Johnson et al. 2002)
หลักการที่ 3 โปรแกรมป้องกันการเสพสารเสพติด ควรครอบคลุมถึงปัญหาการติดสารเสพติดทุกแบบในชุมชนท้องถิ่น มุ่งเป้าไปจัดการปัจจัยเสี่ยงไม่ให้ขยายตัวได้ กับ เสริมพลังปัจจัยป้องกันให้แข็งแรงขึ้น (Hawkins et al. 2002)
หลักการที่ 4 โปรแกรมป้องกันการเสพสารเสพติด ควรจะออกแบบและดำเนินการให้ชี้ถึงความเสี่ยงที่เจาะจงกับบุคลิกลักษณะของประชากร เช่น วัย เพศ ชาติพันธุ์ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลของโครงการ (Oetting et al. 1997)
Family Programs
หลักการที่ 5 โปรแกรมป้องกันการเสพสารเสพติด บนฐานครอบครัว ควรเสริมพลังความผูกพันและสัมพันธภาพในครอบครัว และควรรวมถึงการสร้างทักษะของครอบครัว การวางแนวปฏิบัติ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการมีนโยบายที่กำกับครอบครัวในเรื่องการใช้สารเสพติด และการฝึกอบรมในด้านการให้ความรู้และข้อมูลด้านยาเสพติด (Ashery et al. 1998). ความผูกพันในครอบครัวเป็นฐานอันแข็งแกร่งของสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองกับเด็ก การผูกพันจะแข็งแรงขึ้นด้วยท่ามกลางการฝึกฝนทักษะสนับสนุนที่ครอบครัวมีต่อเด็ก การสื่อสารระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก และความใส่ใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง (Kosterman et al. 1997).
- การติดตามและให้คำปรึกษาของพ่อแม่ผู้ปกครองส่งผลอย่างสำคัญต่อการป้องกันยาเสพติดในเด็ก ทักษะเหล่านี้เสริมพลังได้ด้วยการฝึกวางกฎกติกา เทคนิคในการสร้างกิจกรรมติดตามผล การชื่นชมพฤติกรรมพึงประสงค์ และการกำกับด้วยวินัยสม่ำเสมอ เพื่อให้กฎกติกาของครอบครัวเป็นไปตามที่วางไว้ (Kosterman et al. 2001).
- ข้อมูลและการให้การศึกษาด้านยาเสพติดแก่พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กและเยาวชน ต้องเสริมพลังว่า สิ่งที่เด็กๆกำลังเรียนรู้นั้น เป็นผลเสียที่เป็นอันตราย และเปิดโอกาสให้ครอบครัวได้พูดคุยกันถึงผลร้ายของสารเสพติดทั้งที่ผิดกฎหมายและไม่ผิดกฎหมาย (Bauman et al. 2001).
- โครงการที่เน้นไปที่บทบาทของครอบครัว จะส่งผลสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่เจาะจงไปที่พฤติกรรมในการเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการใช้ยาเสพติดในภายหลัง (Spoth et al. 2002b).
School Programs
หลักการที่ 6 โปรแกรมป้องกันการเสพสารเสพติด สามารถออกแบบให้ใช้ได้กับเด็กตั้งแต่ช่วงปฐมวัย เพื่อลดปัจจัยความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเสพติด เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว ทักษะสังคมที่อ่อนแอ และความไม่พร้อมในการเรียน (Webster-Stratton 1998; Webster-Stratton et al. 2001).
หลักการที่ 7 โปรแกรมป้องกันการเสพสารเสพติด สำหรับโรงเรียนระดับประถมศึกษาควรที่จะมุ่งเป้าไปที่การเรียนรู้เพื่อพัฒนาด้านวิชาการและทักษะสังคมและอารมณ์ เพื่อเชื่อมไปถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการติดยา เช่น ความก้าวร้าว ความล้มเหลวในการเรียน และการออกจากโรงเรียน การประถมศึกษาควรไฟกัสในทักษะต่อไปนี้ (Ialongo et al. 2001; Conduct Problems Prevention Work Group 2002b):
- การกำกับตนเอง (Self-Control)
- การตระหนักรู้ทางอารมณ์ (Emotional Awareness)
- การสื่อสาร (Communication)
- การแก้ปัญหาทางสังคม (Social Problem-Solving)
- การสนับสนุนทางวิชาการ โดยเฉพาะการอ่าน
หลักการที่ 8Pโปรแกรมป้องกันการเสพสารเสพติด สำหรับระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย ควรเพิ่มสมรรถนะด้านการเรียนวิชาการและด้านสังคม ด้วยทักษะต่อไปนี้ (Botvin et al.1995; Scheier et al. 1999):
- นิสัยในการเรียนและการสนับสนุนทางวิชาการ
- ทักษะการสื่อสาร (communication)
• ความสัมพันธ์กับเพื่อน (peer relationships)
• การรับรู้ความสามารถของตนเองและความกล้าแสดงออก (self-efficacy and assertiveness) - ทักษะการต่อต้านการเสพติด (drug resistance skills)
- การเสริมพลังทัศนคติที่ไม่ยอมรับการติดสารเสพติด (reinforcement of antidrug attitudes)
การเสริมแรงพันธะสัญญาต่อตนเองที่จะไม่ติดสารเสพติด(strengthening of personal commitments against drug abuse).
หลักการที่ 9 โปรแกรมป้องกันการเสพสารเสพติดที่มุ่งไปที่จุดรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเช่น ช่วงรอยต่อก่อนเข้าระดับมัธยมต้น จะให้ผลกระทบที่ดีมาก แม้กระทั่งต่อเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีความเสี่ยงสูง โครงการป้องกันในแบบนี้มักไม่ได้แยกกลุ่มประชากรเสี่ยงออกมา ดังนั้น จึงลดการตีตราเด็ก และยังส่งเสริมความผูกพันกับโรงเรียนและชุมชนด้วย (Botvin et al. 1995; Dishion et al. 2002). 9
หลักการที่ 10 โปรแกรมป้องกันการเสพสารเสพติดที่รวมเอาโปรแกรมที่ได้ผลตั้งแต่ 2 โปรแกรมขึ้นไปมารวมกัน เช่น โปรแกรมที่เชื่อมระหว่างโรงเรียนกับครอบครัว จะส่งประสิทธิผลดีมากกว่าโปรแกรมที่ทำเดี่ยวๆ (Battistich et al. 1997).
หลักการที่ 11 โปรแกรมป้องกันการเสพสารเสพติดในระดับชุมชน ที่เข้าถึงผู้เกี่ยวข้องในหลากหลายพื้นที่ เช่น ทั้งในพื้นที่โรงเรียน ชมรม องค์กรศาสนา และสื่อมวลชน จะสร้างประสิทธิผลสูงสุดเมื่อมีการกระจายความรับรู้ทั่วถึงในแต่ละชุมชนและทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ (Chou et al. 1998).
หลักการที่ 12 เมื่อชุมชนปรับโปรแกรมป้องกันการเสพสารเสพติดต่าง ๆให้เข้ากับความต้องการของตนหรือบรรทัดฐานของชุมชน หรือความจำเป็นทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ชุมชนจะต้องธำรงไว้ซึ่งองค์ประกอบหลักของโครงการวิจัยที่เป็นฐานดั้งเดิม (Spoth et al. 2002b), ซึ่งประกอบด้วย;
- โครงสร้าง (Structure – โปรแกรมได้รับการจัดตั้งและก่อรูปขึ้นมาอย่างไร)
- เนื้อหา (Content – ข้อมูล ทักษะ และกลยุทธของโครงการ)
- การดำเนินการ (โปรแกรมมีการปรับ ดำเนินการ และวัดผลอย่างไร)
หลักการที่ 13 โปรแกรมป้องกันการเสพสารเสพติด ควรเป็นโครงการระยะยาวที่ได้ทำซ้ำ เพื่อเสริมพลังให้กับเป้าหมายการป้องกันที่วางไว้แต่แรก งานวิจัยชี้ว่า ผลดีที่เกิดขึ้นจากโครงการในระดับมัธยมจะสูญหายไปเมื่อไม่มีการติดตามในระดับมัธยมปลาย (Scheier et al. 1999).
หลักการที่ 14 โปรแกรมป้องกันการเสพสารเสพติด ควรจัดให้มีการฝึกอบรมครู เพื่อพัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการชั้นเรียนที่ดี เช่น การให้รางวัลแก่พฤติกรรมที่เหมาะสมของนักเรียน เพื่อช่วยสร้างเสริมพฤติกรรมเชิงบวก แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ แรงจูงใจทางวิชาการ และความผูกพันในโรงเรียน (Ialongo et al. 2001).
หลักการที่ 15 โปรแกรมป้องกันการเสพสารเสพติดจะได้ประสิทธิผลสูงสุด เมื่อเทคนิคหลากหลายแบบมีปฏิสัมพันธ์กัน เช่น การอภิปรายพูดคุยในกลุ่มนักเรียน การแสดงบทบาทสมมติเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งจะให้การเรียนรู้แบบ active learning เกี่ยวกับยาเสพติดและทักษะการสร้างความเข้มแข็งในตนเอง (Botvin et al. 1995).
หลักการที่ 16โปรแกรมป้องกันการเสพสารเสพติดบนฐานงานวิจัย จะทำให้ต้นทุนการทำงานต่ำลง งานวิจัยล่าสุดชี้ว่าทุกๆดอลล่าร์ที่ลงทุนในโปรแกรมป้องกัน จะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาจากแอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดประเภทอื่นๆ มากถึง 10 ดอลล่าร์ (Pentz 1998; Hawkins 1999; Aos et al. 2001; Spoth et al. 2002a).
แปลและเรียบเรียงจาก
Preventing Drug Use among Children and Adolescents :A Research-Based Guide for Parents, Educators and Community Leaders (Second Edition), National Institute on Drug Abuse, U.S.Department of Health and Human Resources, 2003