ฝึกสมองให้แข็งแรงได้เหมือนฝึกกล้ามเนื้อ

ฝึกสมองให้แข็งแรงได้เหมือนฝึกกล้ามเนื้อ

สมองสามารถฝึกฝนให้แข็งแกร่งได้ เช่นเดียวกับการออกกำลังกายเป็นการฝึกฝนให้กล้ามเนื้อแข็งแรง การฝึกฝนเล็กน้อยอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ สามารถทำให้วงจรประสาทในเรื่องนั้นๆ ภายในสมองของเราแข็งแรงขึ้นมาได้

ในปี พ.ศ. 2549 M. Oaten และ K. Cheng ได้ทำการทดลองโดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลอง รับคำสั่งให้นั่งหน้าคอมพิวเตอร์และจดจ่อไปที่สี่เหลี่ยมจตุรัสสีซึ่งเคลื่อนที่ ย้ายไปมาผ่านหน้าจอ โดยในระหว่างที่ผู้เข้าร่วมจ้องจตุรัสสีที่กำหนด มีภาพสเก็ตตลกๆ แทรกเข้ามา เพื่อทดสอบระดับความสามารถในการควบคุมตนเองของผู้เข้าร่วมแต่ละคน ว่ายังคงจดจ่อกับรูปจตุรัสที่กำหนดมาได้แค่ไหน ผลการทดลองพบว่า ผู้เข้าร่วมสามารถจดจ่อภาพจตุรัสที่กำหนดไว้ได้ดีขึ้นทีละเล็กทีละน้อยในแต่ละครั้งที่ทำการทดสอบ การทดลองนี้ได้แสดงให้เห็นว่า ยิ่งได้ฝึกฝนทีละเล็กทีละน้อยมากเท่าใด สมองของเราในส่วนที่ได้รับการฝึกฝนนั้นจะค่อยๆดีขึ้น แข็งแกร่งขึ้นตามธรรมชาติเช่นเดียวกับการที่เราออกกำลังกายแล้วทำให้กล้ามเนื้อแข็งแกร่งขึ้นทีละน้อยเช่นกัน

กรณีสุดโต่งกรณีหนึ่งในเรื่องการฝึกฝนเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมอง จนสมองทำงานกลับออกมาเป็นสมรรถนะที่เราสามารถมองเห็นได้ คือ กรณีของ แมตต์ สตัทซ์แมน นักกีฬายิงธนูพาราลิมปิกที่ไม่มีแขนทั้งสองข้าง สามารถยิงธนูโดยใช้คอและเท้าเหนี่ยวคันธนูอย่างแม่นยำ ผลการสแกนสมองของแมตต์ พบว่าสมองสวนควบคุมเท้าของแมตต์มีขนาดประมาณลูกปิงปอง เมื่อเทียบกับสมองส่วนนี้ของคนทั่วไปที่มีขนาดประมาณเท่าเม็ดถั่ว เรื่องขนาดสมองของแมตต์ในส่วนนี้คล้ายคลึงกันกับเรื่องการสแกนสมองของคนขับแท็กซี่ในกรุงลอนดอนเปรียบเทียบกับสมองของคนขับรถบัส พบว่าสมองส่วนฮิปโปแคมปัสของคนขับแท็กซี่เหล่านี้มีขนาดใหญ่กว่าอย่างเห็นได้ จากการที่คนขับแท็กซี่ในลอนดอนต้องจดจำเส้นทางซอกซอยมากมายในกรุงลอนดอน แสดงให้เห็นว่า สมองมีความยืดหยุ่นเช่นเดียวกับกล้ามเนื้อ เมื่อใช้งานมาก จะแข็งแรง ความสามารถในการยืดหยุ่นของสมองเรียกว่า Neuroplasticity เป็นการค้นพบใหม่จากเดิมที่เราเคยเข้าใจว่า สมองมีสภาพเป็นเช่นไรจะเป็นเช่นนั้นไปจนตาย

สมองมีหลายส่วน แต่ละส่วนเชื่อมโยงกันและทำหน้าที่แตกต่างกันไป ทักษะสมองส่วนหน้าซึ่งทำงานในบริเวณสมองที่อยู่หลังหน้าผากของเรามีทักษะเชิงบริหารจัดการ (Executive Function: EF) เป็นทักษะชั้นสูงของสมองในการควบคุมกำกับตนเอง ไปสู่เป้าหมาย ด้วยการประมวลเอาประสบการณ์ที่ผ่านมา ปรับใช้ในสถานการณ์ใหม่ที่ไม่คุ้นเคย มนุษย์มีสัดส่วนของสมองส่วนหน้า (EF) ในเนื้อสมองใหญ่กว่าสัตว์ประเภทต่างๆ จึงทำให้มีความฉลาด เฉลียว คิดเชิงนามธรรม คิดไกล คิดกว้างได้มากกว่า มีคุณธรรมอย่างที่สัตว์อื่นไม่สามารถทำได้เท่า การมี “สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย” ตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานของชีวิต ให้สมองส่วนหน้าได้ทำงานอย่างเต็มที่ สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยนอกจากหมายถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ปลอดภัย เช่น ปราศจากสงคราม ไม่มีสิ่งที่จะทำอันตรายแก่ร่ายกาย ยังหมายถึงสิ่งแวดล้อมที่ให้ความปลอดภัยทางใจ ความเครียดที่เด็กเผชิญ ไม่ว่าความรุนแรงในครอบครัว การขาดความรัก กลัวถูกทำโทษจากครู ล้วนทำให้จิตใจเด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย ส่งผลให้สมองหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียด ความเครียดเรื้อรังส่งผลต่อสมองส่วนความจำและการตัดสินใจแย่ลง การเอ็กซเรย์สมองเด็กที่เผชิญความเครียดเรื้อรังพบว่าแขนงของเซลล์ประสาทหดสั้น เหมือนรากไม้ที่แห้งตาย

อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอสำหรับความแข็งแรงของสมอง ทักษะสมองส่วนหน้า (EF) จะแข็งแรงยิ่งขึ้นเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่แปลกใหม่ มีสถานการณ์หรือเรื่องราวให้ได้เรียนรู้ ขบคิด แก้ปัญหา มีกิจกรรมได้ลงมือทำ และได้ทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ทุกครั้งที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่และได้ทำงาน วงจรสมองจะเชื่อมต่อกันและแข็งแรงมากขึ้น การใช้ชีวิตในบ้าน นอกจากกิจวัตรประจำวันที่มีตารางแน่นอน พ่อแม่ ผู้ปกครองควรให้โอกาสเด็กได้เล่นอิสระ ได้จินตนาการ ให้สมองของเด็กได้มีโอกาสออกไปเจอสิ่งใหม่ เพื่อเรียนรู้ ฝึกฝนให้แข็งแรง

นอกจากนี้ การออกกำลังกายเป็นประจำยังทำให้สมองได้รับออกซิเจนมากขึ้น การออกกำลังกายคือการออกกำลังสมอง เด็กควรได้วิ่งเล่น ได้ขี่จักรยาน ได้เล่นกีฬา ให้เหงื่อออก และได้นอนหลับแต่หัวค่ำอย่างเพียงพอ ให้สมองมีเวลาจัดข้อมูล และประสบการณ์ต่างๆให้เป็นระเบียบ นำความจำที่เกิดขึ้นในชีวิตเก็บเข้าเป็นความจำระยะยาว

สมองก็เช่นเดียวกันกับร่างกาย หากเหนื่อยอ่อน เหนื่อยล้าประสิทธิภาพก็จะลดลง หากสมองของเราได้รับการกระตุ้นมากเกินไป การเกิดความเครียดทั้งโดยฉับพลันหรือได้รับความเครียดเรื้อรังประสิทธิภาพการทำงานก็ลดลง ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ต้องมีความเข้าใจเด็กๆ ที่แสดงอาการควบคุมตนเองไม่ได้ ดื้อ งอแง เพราะเหนื่อยจากการเรียนหรือเล่นมาทั้งวัน หิว หรือนอนไม่พอ เวลาที่เห็นเด็กแสดงอาการดังที่กล่าวมานั้น เด็กไม่รู้ตัวและช่วยตัวเองไม่ได้ จึงไม่ใช่เวลาที่จะโกรธเด็กๆ แต่กลับต้องเป็นเวลาที่จะต้องเอาใจใส่และตอบสนองความต้องการพื้นฐานของเด็ก คือ หากเหนื่อยเด็กต้องได้รับการพักผ่อน หากหิวต้องหาอะไรให้กินก่อน หากง่วงควรได้นอน ในสภาพที่สะอาด สบายตัว แทนที่จะดุหรือตำหนิเด็ก เมื่อร่างกายได้รับการตอบสนองความต้องการพื้นฐาน สมองส่วนกลางซึ่งเป็นส่วนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอารมณ์เกิดความรู้สึก ปลอดภัย สบายใจ หรือพึงพอใจ สมองส่วนหน้าจึงจะทำงานได้ดี

          เด็กที่วงจรประสาทในสมองส่วนหน้าทำงานได้เต็มที่ จากการที่สมองส่วนกลางได้รับการเติมเต็มด้วยประสบการณ์ที่ดี วงจรประสาทในสมองของเด็กเหล่านี้จะกลายเป็นวงจรประสาทที่แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ทีละเล็กละน้อย เหมือนกล้ามเนื้อที่ค่อยๆแข็งแรงขึ้นจากการออกกำลังกาย ดังนั้น เด็กแต่ละคนที่เกิดมา แม้ต่างมีต้นทุนชีวิตตนจากยีนที่ไม่เหมือนกัน มีพรสวรรค์แตกต่างกัน หากได้รับการฝึกฝนส่วนที่เป็น “จุดแข็ง” ไปได้สุดทางในสิ่งที่ตนมี ทำได้ดีสุดในเรื่องที่ตนเก่งกว่าคนอื่น และมีความสุขในสิ่งที่ทำ Self ของเด็กจะแข็งแรง เฉกเช่นที่สมองแข็งแรงขึ้นจากการเรียนรู้ ฝึกฝน และได้ทำอย่างต่อเนื่อง 

          เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นด้วยความรู้สึก “ดี” ต่อตนเองสักเพียงใด ที่ได้เห็นคุณค่าของตนเอง ผ่านสิ่งที่ดีที่สุดที่ตนเองมี และได้มอบสิ่งที่ดีที่สุดนี้ต่อผู้คนบนโลกใบนี้

อ้างอิง

Lea Waters, How to Be a Strength-Based Parent,   https://greatergood.berkeley.edu/article/item/how_to_be_a_strength_based_parent, 2 October  2018 M.Oaten and K. Cheng, Longitudinal gains in self-regulation from regular physical exercise, https://se-realiser.com/wp-content/uploads/2020/03/Oaten-Cheng-2006-Longitudinal-gains-in-self-regulation-from-regular-physical-exercise.pdf, 2006


ปรารถนา หาญเมธี แปลและเรียบเรียง