รศ.ดร.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ จากศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา มีเด็กกลุ่มหนึ่งที่มีการพัฒนาทางสังคมอ่อนแอแล้วถูกวิเคราะห์ว่าเป็นสมาธิสั้นหรือออทิสติคอ่อนๆ ซึ่งเด็กออทิสติคแท้ๆ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของเด็กที่ไม่เข้าใจเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ และอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่น
ความจริงแล้วเด็กเหล่านั้นเป็นเด็กปกติ แต่ขาดทักษะการเข้าสังคม เด็กไม่สามารถเข้าใจหรือรับรู้ได้ว่าเพื่อนๆ หรือครูไม่อยากฟัง ไม่ชอบ ไม่เข้าใจในสิ่งที่ตัวเขาแสดงออกมา และตัวเขาเองก็ไม่เข้าใจ มองไม่ออกด้วยว่าเพื่อนต้องการแกล้งหรือแหย่เล่นเท่านั้น
เด็กกลุ่มที่มีปัญหาในการเข้าสังคมเช่นนี้นับวันจะมีเพิ่มขึ้น เพราะส่วนใหญ่อยู่ในครอบครัวขนาดเล็ก เป็นลูกคนเดียว ทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์กับญาติพี่น้องในวัยเดียวกัน ขาดประสบการณ์การเล่น การทะเลาะ การปรับความเข้าใจกัน เล่นหรืออยู่แต่กับพ่อแม่ ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่จะยอมและตามใจ ทำให้เด็กเข้าใจว่าสามารถควบคุมทุกอย่างได้ โดยไม่เข้าใจว่าคนรอบข้างคิดอย่างไร เมื่อออกจากบ้านมาเผชิญโลกกว้างมากขึ้น ก็จะมีปัญหากับคนอื่นๆ ได้ง่ายเพราะไม่เข้าใจว่าคนอื่นคิดและต้องการอะไร ต่างจากเด็กที่มีญาติพี่น้อง มีเพื่อน ซึ่งเมื่ออยู่ด้วยกัน เล่นด้วยกัน ย่อมมีการแย่ง มีการขัดใจกัน ทำให้เด็กเรียนรู้จักแก้ปัญหาในความสัมพันธ์เพื่อให้กลับมาเล่นด้วยกันใหม่ได้
ปัจจุบันเรายังใช้การสื่อสารผ่านจอ แม้กระทั่งมีการเรียนรู้ทางออนไลน์มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิดที่ทำให้มีการรักษาระยะห่างทางสังคม ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เด็กๆ อาจขาดการพัฒนาทักษะด้านนี้เพิ่มขึ้น หากพ่อแม่ ผู้ปกครองและครูไม่ใส่ใจเท่าทัน
การขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จะทำให้ขาดทักษะสำคัญที่เรียกว่า “การรู้คิดทางสังคม”ซึ่งการรู้คิดทางสังคมนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายหรือเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นเองได้
การรู้คิดทางสังคม (Social Cognition) เป็นอย่างไร
การที่เด็กคนหนึ่งจะเข้าใจได้ว่าเพื่อนของเขากำลัง “อำ”หรือ“แหย่เล่น” เด็กต้องมีประสบการณ์ในการสังเกตสีหน้า ท่าทาง แล้วนำมาวิเคราะห์ว่าที่เพื่อนพูดหรือทำแบบนั้นเป็นไปได้แค่ไหน เป็นเรื่องจริง หรือแค่ “อำ” เล่นๆ ซึ่งการเห็นกันหรือดูเหตุการณ์ผ่านจอ ไม่สามารถจะทำให้เด็กมีทักษะในการแยกแยะเช่นนี้ได้
รศ.ดร.นพ.วรสิทธิ์กล่าวว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์สื่อสารกันผ่าน 2 ช่องทาง คือผ่านทางภาษา ซึ่งต้องใช้ทั้งทักษะการฟังและการพูด(verbal communication) กับการสื่อสารด้วยทักษะอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับภาษา (non-verbal communication) ข้อเท็จจริงก็คือ มนุษย์ไม่ได้สื่อสารผ่านทางภาษาเป็นหลัก แต่ส่วนใหญ่จะสื่อสารผ่านทางสีหน้า ท่าทาง แววตา โดยมีภาษาเป็นตัวช่วย ดังนั้น เมื่อคนคนหนึ่งจะเข้าใจคนอีกคนหนึ่งต้องอ่านสีหน้าท่าทาง แววตาให้ออก แล้วจึงตีความออกมาว่า การแสดงออกเช่นนั้นหมายถึงอะไร
เด็กพัฒนาทักษะการสื่อสารโดยไม่ใช้ภาษามาตั้งแต่ขวบปีแรก แม้ยังพูดไม่ได้ก็เข้าใจ จากการอ่านสีหน้า แววตา ท่าทางของแม่ที่บอกว่า “ไม่ได้ ไม่ให้” เมื่อโตขึ้น มีการพัฒนามากขึ้น ก็นำการเรียนรู้นั้นมาใช้เป็นประโยชน์กับตัวเองได้ เช่น เมื่อเห็นสีหน้าแม่ว่าอารมณ์ดี ก็จะขอเล่นต่อหรือขอนอนดึกขึ้น จะทดลอง จะต่อรอง แต่ถ้าอ่านสีหน้าท่าทางแล้วประเมินได้ว่าแม่หงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี ก็จะไม่พูดไม่ขออะไร เพราะรู้ว่าไม่ได้แน่นอน เป็นต้น การอ่านสีหน้าแววตา ท่าทางได้นี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เข้าใจสถานการณ์ว่าผู้อื่นคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร
รศ.ดร.นพ.วรสิทธิ์เล่าถึงการวิจัยเด็กที่อยู่ในภาวะพิเศษ โดยเฉพาะเด็กที่เกิดมาในช่วงสงคราม เช่น เด็กในประเทศยูโกสลาเวียเมื่อเกิดสงครามในประเทศ ได้อพยพไปที่สหรัฐอเมริกา กลุ่มหนึ่งไปกับพ่อแม่ กลุ่มหนึ่งมีผู้รับไปเลี้ยง ที่เหลืออยู่ในสถานสงเคราะห์ ต่อมามีการวัดขนาดสมองในเด็กทั้งหมดพบว่าเด็กมีสมองเล็กกว่าปกติ และพฤติกรรมที่แสดงออกมาแสดงให้เห็นว่าขาดทักษะ EF เช่น ควบคุมตัวเองไม่ดี หรือยั้งใจไม่ได้ ซึ่งรายงานที่ออกมานี้ชี้ให้เห็นว่าการที่เด็กเป็นเช่นนี้ อาจได้รับผลกระทบมาจากการอยู่ในภาวะสงครามแล้วขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และบางส่วนอาจจะมีภาวะขาดอาหารร่วมด้วย
ทักษะอารมณ์และสังคมพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร
รศ.ดร.นพ.วรสิทธิ์ได้อธิบายว่า ทักษะด้านอารมณ์และสังคมในเด็กนั้นมีการพัฒนาตามลำดับดังนี้
เริ่มต้นจาก TOUCH และ TRUSTในวัยแบเบาะ เริ่มจากความเชื่อมั่นไว้ใจที่ทารกมีต่อผู้เลี้ยงดู การได้รับโอบกอด สัมผัส (TOUCH) ซึ่งทำให้ฮอร์โมน Oxytocin หรือที่เรียกกันว่า ‘ฮอร์โมนแห่งความรัก’ หลั่ง แล้วนำไปสู่ความไว้วางใจ (TRUST) ต่อโลกหรือสังคมรอบตัว ตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กในช่วงนี้จึงมีบทบาทสำคัญสูงสุด ถ้าใส่ใจความรู้สึกของเด็ก รับรู้ความต้องการและตอบสนอง เด็กก็เรียนรู้ที่จะสื่อสารความต้องการและอารมณ์ของตนเองไปในทางที่เหมาะสม
เด็กเรียนรู้ทักษะอารมณ์-สังคมจากสิ่งที่เด็กเห็นมากกว่าการถูกบอกหรือสอน เซลล์กระจกเงา(Mirror Neuron) ที่มีอยู่ในสมองของมนุษย์เรา จะช่วยให้เด็กนำสิ่งที่ได้รู้ได้เห็นจากคนอื่นไปเลียนแบบขึ้นเป็นการกระทำของตนเอง ที่สำคัญ เด็กยังเรียนรู้ทักษะอารมณ์และสังคมผ่านความสัมพันธ์ในบริบทชีวิตจริงของพวกเขา ด้วยการสังเกต เลียนแบบ และตอบสนองต่อการแสดงออกทางอารมณ์และพฤติกรรมทางสังคมของคนอื่นๆ ในครอบครัว ในห้องเรียนปฐมวัย ในชุมชน
การสอนโดยตรงให้เด็กรู้จักอารมณ์ของตนเอง ได้แก่ การบอกให้เด็กรู้จักอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับตน เช่น เมื่อเด็กกำลังโกรธ ผู้ใหญ่บอกเด็กให้รู้ว่า “หนูกำลังโกรธ..ใช่ไหม” เพื่อให้เด็กฉุกคิดและเข้าใจสภาพของตนในขณะนั้น ซึ่งการรับรู้อารมณ์ของตนในขณะนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการจัดการอารมณ์ตนเองได้ในที่สุด
เด็กพัฒนาการเรียนรู้ทักษะอารมณ์และสังคมได้ดีอย่างยิ่งผ่านการเล่นหรือการทำกิจกรรมที่หลากหลายกับเพื่อนตามวัย ดังนั้น เด็กปฐมวัยต้องได้เล่นกับเพื่อนให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้
จะเห็นได้ว่าทักษะอารมณ์และสังคมมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับครอบครัว ภูมิหลังทางวัฒนธรรม และประสบการณ์ที่เด็กได้รับในช่วงต้นของชีวิต ดังนั้นในสถานการณ์โควิด 19 ที่วิถีชีวิตคนทั่วโลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลง จำเป็นอย่างยิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองและครูจะต้องใส่ใจพัฒนาทักษะอารมณ์และสังคมให้ลูกหลานและเด็กๆ ของเราให้มากยิ่งขึ้น