การลงมือทำ สร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า และจะส่งข้อมูลผ่านกระแสไฟฟ้าไปยังสมองซึ่งทำหน้าที่ตีความและตอบสนองกลับไปยังสิ่งเร้า เพื่อรักษาการอยู่ดีมีสุขของชีวิตได้ อย่างน้อยเฉพาะหน้าก็เอาตัวรอดไปให้ได้ อันเป็นกลไกธรรมชาติของสัตว์โลก
เมื่อเทียบกับสัตว์อื่น มนุษย์เป็นสัตว์ซึ่งสมองส่วนหน้ามีเนื้อที่มากที่สุดและมีการเชื่อมต่อมากที่สุดเมื่อเทียบกับขนาดและน้ำหนักตัว สมองส่วนนี้ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการ (Executive Function: EF) กำกับการกระทำและพฤติกรรม และเมื่อทำงานเชื่อมต่อเส้นใยประสาทกับสมองส่วนอื่นๆ ก็ทำให้มนุษย์สามารถสร้างภาษาเพื่อการสื่อสารในรูปแบบต่างๆได้มากกว่าสัตว์ คิดซับซ้อน วิเคราะห์ สังเคราะห์ มองการณ์ไกลได้มากกว่าสัตว์ทุกชนิดบนโลก
จากการฝึกฝนผ่านประสบการณ์ ทำให้ทักษะเหล่านี้เติบโตแข็งแรง แตกแขนงเส้นใยประสาทเชื่อมโยงไปทั่ว เปรียบเหมือนผืนดินที่มีเมล็ดพันธุ์ซ่อนอยู่ เมื่อได้แดดน้ำและอุณหภูมิที่พอเหมาะ ก็จะเติบโต แทงยอด เป็นหน่อใหญ่ได้
เมื่อเด็กเติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่น ที่จะต้องก้าวต่อไปเป็นผู้ใหญ่ รับผิดชอบต่อตนเอง ดูแลผู้อื่น ทักษะสมองที่ได้รับการฝึกฝนมาดี จะช่วยให้มีความสามารถในการดำเนินชีวิต จัดการกับโจทย์ ความท้าทายและปัญหาที่อยู่โดยรอบได้ มีความสามารถในการเรียนรู้ ปรับตัว จัดการอารมณ์และความเครียด สื่อสาร ตัดสินใจ แก้ปัญหาของตนเองได้อย่างเหมาะสม มีความสามารถในการยับยั้งชั่งใจ คิดเหตุคิดผล และตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาด้านดีของตนเองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
การฝึกฝนเรียนรู้ลงมือทำผ่านการปฏิบัติ (Active Learning) ในลักษณะที่เป็นงานโครงการ ที่มีระยะเวลาทำงานตามสมควร จะช่วยให้สมองส่วนหน้าของวัยรุ่นมีโอกาสพัฒนาทักษะจำนวนมากที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและทำงานในศตวรรษที 21 ได้แก่ ทักษะตัดสินใจ (Decision Making) ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving) การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective Communication) สัมพันธภาพกับผู้อื่น (Interpersonal Relationship) การตระหนักรู้ในตน(Self-Awareness) ถึงข้อดีข้ออ่อน สิ่งที่ต้องการและสิ่งที่ไม่ต้องการ รวมไปถึงความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น (Empathy) มีทักษะจัดการกับอารมณ์ของตน (Coping with Emotion) และทักษะการจัดการความเครียด (Coping with Stress) ซึ่งเป็น 10 ทักษะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุไว้ว่าเป็นทักษะที่ศตวรรษใหม่นี้ต้องการ
แต่ในสภาพความเป็นจริงของโลก VUCA ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เต็มไปด้วยความผันผวน ไม่มีความแน่นอน ซับซ้อน คลุมเครือ โครงการในชั้นเรียนไม่เพียงพอกับบททดสอบในชีวิตจริงที่วัยรุ่นต้องเผชิญ การเรียนรู้บทเรียนของผู้อื่น จึงเป็นการเรียนลัดสำหรับบทเรียนยากๆที่วัยรุ่นอาจต้องพบเจอในทุกทางแพร่งของชีวิต
การยกสถานการณ์จำลองที่ต้องตัดสินใจมาให้นักเรียน นักศึกษาและวัยรุ่นได้เรียนรู้ฝึกฝน “วิชาชีวิต” โดยใช้สื่อ เช่น ภาพยนตร์ หนังสั้น ข่าว มาเรียนรู้ร่วมกันเป็นกระบวนการที่ทรงประสิทธิภาพกระบวนการหนึ่ง ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ได้ริเริ่มกระบวนการสร้างการเรียนรู้ทักษะ “วิชาชีวิต” อย่างต่อเนื่องเป็นประจำ แก่เยาวชนที่ชีวิตก้าวพลาด ผ่านการ “ดูหนัง” “อ่านข่าว”และตั้ง “คำถาม” ให้สมองได้ฝึกทำงานร่วมกันทั้งสมองส่วนหน้าที่มีทักษะเชิงบริหารจัดการ (Executive Function: EF) และสมองส่วนกลางซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์
โดยฝึกสะท้อนมุมมองและความรู้สึกของตนที่มีต่อตัวละครในหนังและเหตุการณ์จริงจากข่าว เพื่อให้ได้เรียนรู้เข้าใจตนเองและคนอื่น ผ่านตัวละคร และเรื่องราวที่เกิดขึ้น ฝึกรับฟังอารมณ์และความคิดเห็นที่แตกต่าง ได้เข้าใจคนอื่น และฝึกการมองเห็นห่วงโซ่ความสัมพันธ์ของเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น ว่าจะส่งผลต่อมาอย่างไร ในบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนที่ทุกคนได้พูด ได้ฟังกัน บนความสัมพันธ์แนวราบที่เคารพกันและกัน
รวมทั้งหลังการวิเคราะห์ “ดูหนัง ฟังข่าว ตั้งคำถาม ร่วมกับเพื่อนในกลุ่มแล้ว วัยรุ่นก็จะได้ทบทวน ด้วยการเขียนบันทึกประจำวันของตนเอง
แนวทางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และตั้งคำถามที่ศูนย์ฯใช้เป็นแนวทางในการเรียน “วิชาชีวิต”นั้น ตั้งอยู่บนกติกาที่;
- ไม่สร้างบรรยากาศที่ซ้ำเติมให้วัยรุ่นรู้สึกว่า ตนเองด้อยค่า ถูกเปรียบเทียบ หรือถูกนำมาซ้ำเติม
- ไม่ตัดสิน และไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าการแสดงออกทางกายหรือการใช้คำพูดที่รุนแรง ในการวิเคราะห์ออกความเห็น
- เลือกภาพยนตร์ หรือข่าวที่น่าสนใจ หรืองานเขียนที่น่าอ่านนำมาเรียนรู้ร่วมกัน โดยให้มีความยาวพอดีต่อช่วงความสนใจ
- ตั้งคำถามที่ปลุกด้านดี ลดขนาดของด้านมืด
- เปิดโอกาสให้เรียนรู้อารมณ์จิตใจของคนอื่นเพิ่มขึ้น ไม่ติดอยู่กับเรื่องของตนเองเท่านั้น
- ทำให้เห็นห่วงโซ่แห่งความเสียหาย; พื้นฐานชีวิต ครอบครัว สถานการณ์แวดล้อมชักนำ การตัดสินใจที่ทางสองแพร่ง ผลลัพธ์ที่เกิดต่อเนื่อง
- ให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการเพิ่มคลังคำ คลังภาษาให้วัยรุ่นได้มีคำศัพท์ใช้มากขึ้น เพื่อที่จะใช้คำเหล่านั้นมาอธิบายความคิด ความรู้สึกของตน สามารถทำความเข้าใจตนเอง ผู้อื่น และสถานการณ์ต่างๆได้ดียิ่งขึ้น
การได้เห็นประสบการณ์ของคนอื่นผ่านสื่อ เช่น ภาพยนตร์ ข่าว และนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เป็นการเรียนรู้รหัส (Code) ของเรื่องราว เห็นปมปัญหา เห็นบริบทที่เป็นปัจจัยส่งผล ทำให้เข้าใจเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น และได้ Decode คือถอดรหัสของสิ่งที่เกิดขึ้น ความคิดและการกระทำของตัวละครในเรื่องราว ว่าที่มาที่ไปคืออะไร มาจากสาเหตุใด ฯลฯ เป็นการกระตุ้นสมองส่วนคิด และฝึกใช้ทักษะเชิงบริหารจัดการ (Executive Function: EF) ในสมองส่วนหน้าของวัยรุ่นบนประสบการณ์เสมือนจริง
ซึ่งทำให้วัยรุ่นเข้าใจสถานการณ์ สามารถเชื่อมโยงความเข้าใจชีวิต ความต้องการ อารมณ์ความรู้สึก และการกระทำของตนและผู้อื่นมากขึ้น นำไปสู่ความสามารถในการตอบสนองและดูแลตนเอง รวมทั้งปรับตัวอยู่กับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
อีกทั้งสามารถสื่อสารความคิด ความต้องการของตนให้ผู้อื่นรับรู้ และเข้าใจสารที่ผู้อื่นส่งมา ได้เรียนรู้คำศัพท์และเข้าใจความหมายของภาษาโดยเฉพาะเรื่องที่เป็นนามธรรม
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการได้ฝึกตัดสินใจในสถานการณ์จำลอง
ถ้าเป็นฉัน… ฉันจะตัดสินใจอย่างไร และผลที่ตามมากับฉันจะเป็นอย่างไร
ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก