ทักษะอารมณ์และสังคม (Social-Emotional Skills)ทักษะจำเป็นยิ่ง สำหรับเด็กปฐมวัยในวิถี New Normal

ทักษะอารมณ์และสังคม (Social-Emotional Skills) ทักษะจำเป็นยิ่ง สำหรับเด็กปฐมวัยในวิถี New Normal

สถานการณ์โควิด19 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวิถีชีวิตคนทั่วโลก เกิดความปกติรูปแบบใหม่ หรือ New Normal ที่ทุกคนจะต้องเคยชินกับมาตรการรักษาระยะห่างในชุมชน สังคม  จนเป็นที่หวั่นเกรงกันว่าเด็กๆ ที่กำลังเติบโตในช่วงเวลานี้ นอกจากต้องเผชิญกับบรรยากาศการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกแล้ว อาจจะขาดโอกาสเรียนรู้ทักษะอารมณ์สังคม หรือ Social-Emotional Skills

นักวิชาการชี้ว่าความเป็นปกติสุขทางด้านอารมณ์ในช่วงปฐมวัย มีพลังแรงมากในการส่งผลต่อทักษะความสามารถทางสังคมของเด็กในอนาคต เด็กที่มีสุขภาวะด้านอารมณ์จิตใจแข็งแรง จะสร้างและรักษาสัมพันธภาพเชิงบวกกับผู้อื่นไว้ได้ดีตลอดช่วงจากวัยรุ่นไปจนถึงเป็นผู้ใหญ่[6]

เรารู้กันดีว่า เด็กและเยาวชนจะเติบโตเรียนรู้ได้ดีท่ามกลางการอยู่ร่วมกับคนอื่น ซึ่งจะทำให้เด็กๆ ได้ฝึกทักษะในการกำกับตนเอง เรียนรู้ที่จะเข้าใจและจัดการอารมณ์ตนเอง รู้จักควบคุมหรือแสดงอารมณ์และพฤติกรรมออกมาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ คำนึงถึงกาลเทศะ ไม่ทำลายความสัมพันธ์ เชื่อมโยงเกื้อกูลคนอื่นได้ และที่สำคัญไม่ทำร้ายผู้ใดให้เดือดร้อนเสียหาย เด็กๆ ต้องใช้เวลาตลอดวัยเด็กเพื่อเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ท่ามกลางการอยู่ร่วมกับคนอื่น ฝึกฝนอย่างต่อเนื่องจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะที่ดี

นอกจากนี้ กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมายังมีงานวิจัยจำนวนมากชี้ว่า เด็กจากโรงเรียนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านทักษะอารมณ์และสังคม (SEL) จะส่งผลสัมฤทธิ์ทุกด้านในทางบวกมากกว่า

ในปี ค.ศ. 2011 มีการศึกษางานวิจัย 213 ชิ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับนักเรียนกว่า 270,000 คน ที่ได้เข้าร่วมในโครงการการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริม SEL[7] โดยรวมพบว่า นักเรียนเหล่านี้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นถึง 11% เมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่ได้เข้าเรียนในโปรแกรมส่งเสริม SEL อีกทั้งมีพฤติกรรมในชั้นเรียนดีขึ้น มีความสามารถในการจัดการความเครียดและความหดหู่ได้ดีขึ้น มีทัศนคติและความเชื่อเกี่ยวกับตนเองและคนอื่นในทางที่ดีขึ้น มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับกลุ่มเพื่อน เข้ากับเพื่อนได้ดี ปรับตัวง่าย ปัญหาในการกำกับพฤติกรรมตนเองลดลง  ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นฐานรากสำคัญของการปรับตัวทางสังคมที่ดีในอนาคต

อีก 6  ปีต่อมา ในปี 2017 นักวิจัยชุดเดิมได้ติดตามวิจัยและวิเคราะห์การส่งเสริม SEL จำนวน 82 กิจกรรมในนักเรียน ตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมปลายจำนวน 97,000 คน มีข้อค้นพบไปในทิศทางเดียวกัน[8] ว่า นักเรียนที่โรงเรียนให้การส่งเสริม SELนั้น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นถึง 13% มีปัญหาการกำกับพฤติกรรม ความเครียดทางอารมณ์ และการใช้ยาเสพติด ต่ำกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ  ในขณะที่ทักษะด้านอารมณ์และสังคมกับทัศนคติเชิงบวกต่อตนเอง ต่อคนอื่น และต่อโรงเรียนสูงขึ้น

การจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริม SEL จึงเป็นการลงทุนในเด็กและเยาวชนที่คุ้มค่าของสังคม  มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา พบว่า  เงินทุก 1 ดอลล่าร์ที่ลงไปในการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริม SEL  ให้ผลตอบแทนกลับคืนถึง 11 เท่า[9]

การเรียนรู้ทักษะอารมณ์และสังคม (Social and emotional learning – SEL) คืออะไร
คือกระบวนการในการเข้าใจและจัดการอารมณ์ของตน ตั้งเป้าหมายเชิงบวกและไปให้บรรลุเป้าหมายนั้น ทั้งความรู้สึกและสามารถแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้  สร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นและรักษาความสัมพันธ์เชิงบวกไว้ได้ รวมถึงการตัดสินใจด้วยความรับผิดชอบ[10]
เป้าหมายการส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะอารมณ์-สังคม เพื่อให้เกิด 5 คุณลักษณะในตัวเด็ก  ได้แก่ 

  1. รู้จักตนเอง (self-awareness) หรือความสามารถในการรับรู้อารมณ์และความคิดที่เกิดขึ้นในตน กับผลกระทบที่อารมณ์และความคิดจะมีต่อพฤติกรรมของตนเอง  รวมถึงความสามารถในการประเมินจุดแข็งกับข้อจำกัดของตนเอง การมีความเชื่อมั่นในตนเองและมองโลกในแง่ดี
  2. จัดการตนเองได้ (self-management) หรือความสามารถในการกำกับอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรมตนเองอย่างได้ผลในสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงการจัดการกับความเครียด การควบคุมแรงกระตุ้น การสร้างแรงจูงใจแก่ตนเอง การวางแผนและดำเนินการมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายของตน
  3. รู้จักสังคม (social-awareness) ความสามารถที่จะเปลี่ยนมุมมองของตนเอง ไปใช้มุมมองของคนอื่น หรือ“เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจคนที่มีพื้นฐานชีวิตหรือวัฒนธรรมที่แตกต่างจากตนเอง
  4. มีทักษะสร้างความสัมพันธ์ (relationship) คือทักษะในการสร้างความสัมพันธ์และรักษาความสัมพันธ์ต่อผู้อื่นให้เหมาะสม บนความเคารพในความแตกต่างของบุคคลหรือกลุ่ม ซึ่งรวมไปถึงความสามารถในการสื่อสารได้อย่างชัดเจน การรับฟังอย่างตั้งใจ การร่วมมือกัน การไม่ยอมรับแรงกดดันทางสังคมที่ไม่เหมาะสม การต่อรองในความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ และการร้องขอความช่วยเหลือหรือให้ความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น
  5. มีทักษะการตัดสินใจที่รับผิดชอบ (responsible decision-making skills) คือ ความสามารถในการเลือกพฤติกรรมทั้งส่วนตัวและต่อสังคมที่น่าเชื่อถือและสร้างสรรค์ บนมาตรฐานทางจริยธรรม ความใส่ใจต่อความปลอดภัย บรรทัดฐานสังคม ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของตน และความอยู่ดีมีสุขทั้งของตนเองและผู้อื่น

ทักษะทั้ง 5 ด้านนี้เป็นทักษะสำคัญยิ่งยวดต่อความสำเร็จในชีวิต  เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิตนั้น ปัจจัยสำคัญคือการรู้จักตนเองและมีสัมพันธภาพที่ดีกับคนอื่น  เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่น เรียนรู้ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน มีความเป็นครอบครัว เป็นชุมชน และสร้างสังคมที่เข้มแข็ง  


ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ปรารถนา หาญเมธี : เขียน
ผาณิต บุญมาก : เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ : บรรณาธิการ

[6]Trawick-Smith,Early Childhood Development: A Multicultural Perspective, 2014
[7] Durlak J.A., et al., The Impact of Enhancing Students’ Social and Emotional Learning: A Meta-Analysis of School- Based University Interventions, 2011
[8]Taylor R.D. et al., Promoting Positive Youth Development Through School-based Social and Emotional Learning Interventions: A Meta-Analysis of Follow-up Effects, 2017
[9]Belfield C., et al., the economic value of social and emotional learning, Center for Benefit-Cost Studies in EducationTeachers College, Columbia University, 2015
[10]https://casel.org/overview-sel/