ผอ.ทวิต ราษี มีประสบการณ์บริหารโรงเรียนขนาดเล็กที่มีระดับชั้นปฐมวัยมานานโดยมีความตั้งใจในการพัฒนาอนุบาลให้มีคุณภาพเพราะเป็นการสร้างรากฐานให้เด็กไปจนโต และมีความสนใจในเรื่องพัฒนาการเด็ก เมื่อเข้าร่วมอบรมเรื่อง EF จากสถาบัน RLG ก็ได้เข้าใจว่าพัฒนาการของเด็กนั้นเกิดจากการทำงานของสมอง และยังเห็นว่าเรื่อง EF มีความสอดคล้องกับโครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อยที่โรงเรียนบ้านป้อมประชานุกูลดำเนินการอยู่ จึงสนใจที่จะขับเคลื่อนความรู้ EF ในโรงเรียน(ที่เพิ่งเข้ามาบริหาร) ผอ.ทวิตนำความรู้ EF มาถ่ายทอดแก่ครู ให้ครูนำความรู้ EF บูรณาการกับโครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อยซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบโครงงาน เพียงครูเปลี่ยนวิธีการ ไม่ใช่ครูสั่งให้เด็กทำ แต่ให้เด็กได้คิดได้ทำด้วยตัวเอง โดยครูคอยตั้งคำถามกระตุ้นเด็กให้คิดได้หาคำตอบ นอกจากนี้ผอ.ทวิตยังได้ขยายความรู้ EF แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดและศธจ. ให้ทราบถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะสมอง EF เสนอให้พัฒนาครูปฐมวัยทั้งจังหวัดสุโขทัย
ในปี 2565 ผอ.ทวิตจะสนับสนุนให้ครูใช้ความรู้ EF เขียนแผนการเรียนการสอนเต็มรูปแบบ และคิดจะขยายความรู้ EF ไปสู่พ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อให้มีการพัฒนาเด็กที่สอดคล้องกับที่โรงเรียนด้วย
การขับเคลื่อน EF ที่เป็นรูปธรรม
- ขยายความรู้ EF แก่ครูปฐมวัยในโรงเรียนบ้านป้อมประชานุกูล
- แลกเปลี่ยนปรับวิธีคิดของครูให้เข้าใจเรื่องการพัฒนาสมอง EF
- ให้ความรู้ผู้ปกครองในการประชุมผู้ปกครองก่อนเปิดภาคเรียนให้เข้าใจถึงการพัฒนาทักษะสมองEF สำหรับเด็กปฐมวัย
การสร้าง/ประสานเครือข่าย
เสนอองค์การบริหารส่วนจังหวัดและศธจ.จังหวัดสุโขทัย ให้ทราบถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะสมอง EF สำหรับเด็กปฐมวัย เสนอให้พัฒนาครูปฐมวัยทั้งจังหวัดสุโขทัย
การติดตาม/นิเทศ/coaching
คอยแนะนำช่วยเหลือครูในการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะ EF
การต่อยอด/นวัตกรรม/ วิจัย
จะสนับสนุนให้ครูใช้ความรู้ EF เขียนแผนการเรียนการสอนเต็มรูปแบบ และคิดจะขยายความรู้ EF ไปสู่พ่อแม่ผู้ปกครอง
การแก้ปัญหา
- การยอมรับของครู ใช้การสั่งการไม่ได้ ครูจะต่อต้าน โดยเฉพาะทางด้านวิชาการที่ครูยึดหลักสูตรแกนกลางเป็นหลัก ต้องให้ครูได้ร่วมรับรู้เข้าใจ ผอ.ชี้ให้ครูเห็นข้อดี รับฟังความคิดเห็น แล้วนำมาปรับเป็นแนวนโยบายของโรงเรียน ส่วนผู้ปกครอง ต้องยกงานวิจัยมาอ้างอิงให้เกิดความเชื่อถือ เช่นงานวิจัยที่บอกว่าการเร่งอ่านเขียนจะส่งผลเสียต่อเด็กอย่างไร
- ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กไม่ให้ความสำคัญกับเด็กปฐมวัย ไม่จ้างครูปฐมวัยโดยตรง หรือให้ครูปฐมวัยไปช่วยงานประถมและงานอื่นๆ ทำให้อนุบาลไม่มีคุณภาพ ซึ่งส่งผลให้เด็กไปเรียนต่อโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนในเมือง เด็กลดจำนวนลงเรื่อยๆ จนโรงเรียนไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ผอ.ทวิตกลับมองว่าอนุบาลเป็นจุดขายของโรงเรียนและมีความสำคัญมาก หากโรงเรียนพัฒนาอนุบาลได้ดี พ่อแม่ผู้ปกครองก็อยากให้ลูกเรียนต่อ รวมทั้งเด็กเองก็ไม่อยากย้ายไปเรียนที่อื่น จึงทุ่มเทให้กับการพัฒนาเด็กปฐมวัย เคยทำสำเร็จจนนักเรียนทั้งโรงเรียนมียอดเพิ่มขึ้นมาแล้ว
ผลสัมฤทธิ์ / การเปลี่ยนแปลง
- ครูเปลี่ยนวิธีการ จากสั่งให้เด็กทำ สอนให้คิดตาม เป็นกระตุ้นให้เด็กคิด ให้เด็กทำด้วยตัวเอง ครูสะท้อนว่าใจเย็นมากขึ้น ฟังเด็กมากขึ้น ไม่ตัดสินเด็กจากสิ่งที่เด็กทำ ไม่ประเมินเด็กตรงๆ ว่าทำได้หรือไม่ได้ ผ่านหรือไม่ผ่าน
- เด็กปฐมวัยในโรงเรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นและมีทักษะ EF
- ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองที่เข้าใจเรื่อง EF และพัฒนาลูกปฐมวัยที่บ้านเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่โรงเรียนว่าเกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ปกครองกับครูในการร่วมมือกันพัฒนาลูกหลาน
- ตนเองมีความสุขที่ได้ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับครูผู้ปกครอง ภาคภูมิใจที่เห็นเด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นและมี EF