Self ที่ดี ตัวตั้งต้นสมองและสุขภาพจิตที่ดี

โดย | 20 พฤศจิกายน 2021 | บทความ, สาระ EF

Self ที่ดี ตัวตั้งต้นสมองและสุขภาพจิตที่ดี

จากประสบการณ์เป็นจิตแพทย์มายาวนาน นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ พบว่า อุบัติการณ์หนึ่งที่พบมากขึ้นในเด็กวัยรุ่นคือการกรีดข้อมือ พร้อมอธิบายว่า การกรีดทำให้เจ็บ ได้เห็นเลือด เป็นการพิสูจน์ว่าตัวเองมีตัวตน และกล่าวว่าพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เช่น ฝ่าไฟแดง ติดเอดส์ หรือกรีดข้อมือ เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเด็กวัยรุ่นที่ไม่มีตัวตน “ไม่มีตัวตนก็ไม่มีตัวเองให้รัก”   

สาเหตุมาจากพื้นฐานชีวิตในวัย 3 ขวบปีแรกที่เลวร้าย เด็กบางคนถึงขั้นกรีดตัวเองทุก 3 เดือน ซึ่งรักษาได้ยากมาก

เพราะฉะนั้น 3 ปีแรกของชีวิตจึงสำคัญมาก ในช่วงเวลานี้เด็กมีงานสำคัญคือสร้างตัวเอง หรือตัวตน (Self) โดยมีตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Self-centered) โดยมีกระบวนการ 3 ขั้นตอนคือ

  • “แม่ที่มีอยู่จริง” มีผู้เลี้ยงดูที่ให้ความรักความอบอุ่น ดูแลใกล้ชิด มีปฏิสัมพันธ์ด้วย
  • สายสัมพันธ์ มีความรักความผูกพันกับผู้เลี้ยงดู ใกล้ชิด
  • สร้างตัวตน

มีแม่ มีสายสัมพันธ์ มีตัวตน เป็นกระบวนการ 3 ขั้นตอน เกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิดพร้อมกัน ด้วยความเข้มข้นต่างกัน การสร้าง “แม่ที่มีอยู่จริง” เข้มข้นและสูงใน 6 เดือนแรก สายสัมพันธ์เกิดขึ้นพร้อมกันและมากขึ้นทุกวัน ส่วนตัวตนเกิดขึ้นหลัง 6 เดือน แล้วเข้มข้นที่อายุ 2 ขวบครึ่ง ก่อนเด็กจะแยกตัวเป็นบุคคลอิสระที่ 3 ขวบ

เมื่อเข้าสู่วัย 3 ปี เด็กที่มี “แม่ที่มีอยู่จริง” จะสร้างตัวตนขึ้นมา เมื่อรู้ว่ามีตัวตน ทำอะไรได้เอง เด็กจะแยกตัวออกมา เรียกว่า Separation and Individuation (การแยกตัวของลูกเพื่อเป็นบุคคลอิสระออกจากแม่) การแยกนี้ “มีเลือด มีบาดแผล” ถ้าดูแลไม่ดี ตามหลักจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ กล่าวว่า จะเป็นต้นกำเนิดของพยาธิสภาพทางจิตในอนาคต การถูกพรากจากหรือเผชิญเหตุการณ์รุนแรงในช่วง 3 ขวบ มีผลกระทบต่อคนไข้วัยรุ่นอย่างมาก

กระบวนการการแยกจากเกิดขึ้นขณะที่บางครอบครัวส่งลูกไปโรงเรียน เด็กที่ไปโรงเรียนตั้งแต่ 2 ขวบครึ่ง แล้วโรงเรียนให้เด็กมีโอกาสเล่น ครูจะ “ซ่อมแผล” นี้ให้ได้ นับว่าโชคดี แต่เด็กหลายคนไปโรงเรียนเพื่อไปเรียนหนังสือ หากครูไม่เข้าใจเรื่องพัฒนาการเด็ก เด็ก 4 ขวบครึ่งแล้วยังเขียนหนังสือหรือเขียนตามเส้นประไม่ได้เด็กจะถูกครูดุ เมื่อกลับมาบ้านถูกพ่อแม่ดุซ้ำอีก พ่อแม่บางคนถึงกับส่งลูกไปติว ซึ่งการเขียนไม่ได้นั้นไม่ใช่ความผิดของเด็ก แต่เป็นเพราะพัฒนาการด้านร่างกายยังไปพร้อม กล้ามเนื้อมือยังไม่แข็งแรงพอ

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นการทำลาย Self Esteem ของเด็กอย่างมาก ซี่งพ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องนี้ ทั้งเรื่องพัฒนาการ และไม่รู้ว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ ขณะเดียวกันยังมีสื่อโซเชียลเข้ามาแย่งเวลาพ่อแม่และลูกไปอีก

สร้าง Self Esteem ผ่านการเล่น  

พ่อแม่และครูต้อง “ใจถึง” เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่น ได้ทำ ได้ทดสอบพลังกล้ามเนื้ออย่างเต็มที่ โดยคอยดูแลอยู่ห่างๆ ให้กำลังใจและชมเชยในความพยายามไม่ว่าผลงานจะออกมาอย่างไร เพื่อส่งเสริม Self Esteem ให้กับเด็ก เช่นการเล่นทราย ต้องปล่อยให้เด็กได้ตัก ได้จับ ได้ใช้มือบีบ ขยำ ปั้นทั้งทรายแห้งและทรายเปียก การระบายสี ยิ่งดีถ้าเด็กได้ยืนวาดรูปที่ผนัง เพราะท่ายืนจะช่วยพัฒนาการทำงานประสานสัมพันธ์กันระหว่าง มือ สายตา เท้า และไขสันหลัง หากพ่อแม่คอยปรบมือให้กำลังใจ ก็จะยิ่งเพิ่มความรู้สึกภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าของตนเอง และมีกำลังใจที่จะทำต่อไป

ให้ลูกทำงานบ้าน สร้าง Self Control

นอกจากการเล่นที่ใช้ 10 นิ้วซึ่งช่วยพัฒนาทักษะสมอง EF แล้ว ยังมีงานบ้านที่เด็กได้ใช้ 10 นิ้วทำด้วย แต่งานบ้านต่างกับการเล่นที่ไม่สนุก น่าเบื่อ ใช้เวลานาน ดังนั้นการทำงานบ้านจึงต้องการความสามารถที่เรียกว่า  Self Control คือการที่ต้องควบคุมตัวเองให้ทำงานจนเสร็จ มี Focus ตั้งใจมั่น และต้องมี Delayed gratification คือความสามารถของจิตใจที่จะประวิงเวลาที่มีความสุขออกไปก่อน ไม่ใจเร็วด่วนได้ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” ได้        

นอกจากนั้นยังมีการควบคุมตนเองที่ยากขึ้นไปอีก ที่เรียกว่า  Reverse Delayed Gratification ทิศทางย้อนกลับของการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เช่น กำลังเล่นเกม เล่นสนุกกับเพื่อน แล้วแม่บอกให้เลิกเล่น ให้ไปทำการบ้าน ท่องหนังสือ เป็นการวางความสุขแล้วกลับไปหาความยาก ซึ่งเป็นเรื่องยากที่สุด 

การให้เด็กต้องทำการบ้าน ท่องหนังสือ ไปเรียนพิเศษ ทำตารางการเรียนพิเศษ ทำตารางการท่องหนังสือ ไม่ต้องทำอย่างอื่น เป็น “กิจกรรมเชิงเดี่ยว” ที่อาจจะฝึกให้เด็กได้วางแผน ได้ทำตามแผน แต่ไม่ได้ทำให้เกิดทักษะสมอง EF มากเท่ากับการที่เด็กเมื่อกลับมาบ้านหลังเลิกเรียนหรือในวันหยุด ต้องช่วยขายของ ทำงานบ้าน ล้างจาน ซักผ้า ตากผ้า ถูบ้าน เก็บขยะ รดน้ำต้นไม้ แล้วจึงทำการบ้านและท่องหนังสือ ซึ่งเป็น “กิจกรรมเชิงซ้อน”

เด็กจะต้องทั้ง Focus ตั้งใจมั่น ต้องผ่านสิ่งที่เรียกว่า “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” (Delayed Gratification) ภายใต้กิจกรรมเชิงซ้อน (Complex Activity) ซึ่งเด็กจะต้องวางแผน เช่น ขายก๋วยเตี๋ยวอย่างไรให้เร็ว แล้วพ่อแม่ได้กำไร ถูบ้านอย่างไรให้เร็วแล้วไม่ถูกจับได้ว่าไม่สะอาด ท่องหนังสืออย่างไรให้เร็วเพื่อจะสอบเข้าคณะที่ตัวเองต้องการ จะท่องวิชาใดอย่างไร ตัวเด็กเองเป็นผู้กำหนดเอง ควบคุมตัวเองเอง ไม่ใช่พ่อแม่


ดังนั้นควรเปิดโอกาสเด็กวัยอนุบาลได้เล่นและฝึกทำงานบ้าน เพื่อให้ได้ใช้นิ้วมือให้มาก และเป็นพื้นฐานในการจะควบคุมตัวเองต่อไป