เด็กประถม “ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม”
หนึ่งในเป้าหมายทางการศึกษาประถมศึกษาในศตวรรษที่ 21 คือพัฒนาเด็กให้เป็นผู้ร่วมสร้างนวัตกรรม คำว่า “สร้างสรรค์นวัตกรรม” ฟังดูช่างยิ่งใหญ่ห่างไกลจากเด็กวัยประถมมาก แต่ที่จริงแล้วโดยธรรมชาติแห่งวัย วัยประถมเรียกได้ว่าเป็นวัยของ “การเป็นผู้สร้างสรรค์” เพราะเด็กวัยนี้มีความอยากรู้อยากเห็น อยากลองทำสิ่งใหม่ๆ
แต่การสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีแรงบันดาลใจ เด็กมีแรงบันดาลใจแล้วอยากจะเรียนรู้ อยากทดลอง อยากทำมากขึ้นแล้วนำไปสู่การสร้างสรรค์งานในที่สุด แรงบันดาลใจจะเกิดต่อเมื่อเด็กได้รู้ว่าสิ่งนั้นมีผลต่อตัวเองต่ออะไรอย่างไร เช่นถ้าจะให้เด็กเรียนรู้เรื่องขยะ ก็ต้องให้เด็กรู้ว่าขยะมาจากไหน เกี่ยวข้อง ส่งผลกระทบต่อเด็กและโลกอย่างไร เมื่อนั้นแหละจึงจะเปิดโลกการเรียนรู้ให้เด็กได้คิดค้น หาวิธีการ นำเสนอ สืบค้น ทำ ซึ่งก็คือการสร้างนวัตกรรมนั่นเอง
เด็กต้องมี Passion หมายถึงความเอาจริงเอาจัง กระตือรือร้น พร้อมที่จะลงมือทำเรื่องนั้นๆ ไม่ว่าเผชิญกับสถานการณ์ใดก็จะทำต่อไป และเมื่อบวกกับ Perseverance – ความเพียร มุมานะบากบั่นอย่างยิ่ง ก็จะทำให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ การมี Passion จะทำให้เด็กมีความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะอุปสรรค แม้ยากลำบาก จะอดทนทำ มีความสุขกับงานที่ทำ ถึงจะล้มเหลวกลางทาง แต่ Passion จะเป็นตัวกระตุ้นให้ไปถึงเป้าหมายจนงานสำเร็จจนได้
ความอยากรู้อยากเห็นอยากลองจะทำให้เด็กเกิด Passion จึงควรให้เด็กได้ลองทำสิ่งต่างๆ อย่างหลากหลาย ในวัยอนุบาลเด็กสนุกกับการได้เล่น ได้ทำ แต่เมื่อถึงวัยประถม ควรต้องเพิ่มความจริงจังในการค้นพบสิ่งใหม่ ในการทดลอง มากกว่าแค่สนุกที่ได้ทำ ต่อยอดไปสู่การได้ทำสิ่งใหม่อย่างจริงจัง เกิดการค้นคว้าต่อ ทำต่อ
การลองทำสิ่งต่างๆ อย่างหลากหลาย บางคนต้องลองอยู่นานกว่าจะรู้ว่าชอบอะไร ทั้งนี้พ่อแม่และครูต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้หยิบ ได้จับ ได้ทำ ได้ฝึกให้มากนั่นเอง เด็กยังมีประสบการณ์ที่กว้างขึ้นด้วย การที่เด็กได้รู้ตัวว่าตัวเองชอบไม่ชอบอะไร นั่นคือเด็กได้รู้ตัวเอง รู้จักตัวเอง (Self) เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี พอขึ้นชั้นมัธยมเด็กจะเริ่มรู้มากขึ้นว่าตัวเองมีความสนใจอะไร แล้วค้นหาตัวตน หาอัตลักษณ์ของตัวเองต่อไป
นอกจากนี้ เด็กยังต้องมีเวลาที่จะลุ่มลึกกับสิ่งนั้นด้วย เพื่อทำให้งานสำเร็จ ไม่ใช่แค่เสร็จ
เด็กวัยประถมจะมีข้อจำกัดเรื่องเวลา ระบบการศึกษา ระบบโรงเรียนที่ทำให้ต้องมีชั่วโมงเรียน มีวิชาเรียนตามหลักสูตร เด็กต้องเปลี่ยนวิชาเรียนตามตารางเรียน ความสนใจในเรื่องๆ หนึ่งจึงชะงัก ความสนใจไม่ต่อเนื่อง เมื่อกลับบ้านยังต้องทำการบ้าน เรียนพิเศษ จึงไม่มีเวลาพอที่จะทำให้เกิด Passion และลงลึกกับเรื่องใด แต่ถ้าพ่อแม่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ก็สามารถจัดเวลาให้ลูกมีเวลาขลุกอยู่กับสิ่งที่ตัวเองชอบ อยากเรียนรู้ได้
ครูผู้สอนต้องเปลี่ยนบทบาทอย่างมาก เปลี่ยนจากการบอกความรู้เพื่อไปสอบ เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ ตั้งคำถาม ชวนให้เด็กคิด ชวนให้สร้างสรรค์
อีกทั้งโรงเรียนต้องสนับสนุนให้เกิดการเรียนการสอนที่เอื้อให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจ Passion และมีเวลาลุ่มลึกกับสิ่งที่เด็กสนใจ
ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ปรารถนา หาญเมธี เขียน
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ