10 วิธีส่งเสริมให้เด็กประถมเรียนรู้ได้ดี

โดย | 29 พฤศจิกายน 2021 | บทความ, สาระ EF

10 วิธีส่งเสริมให้เด็กประถมเรียนรู้ได้ดี

1. ให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความหมาย รู้ว่าสิ่งที่เรียนรู้มีความหมายต่อตัวเอง ต่อคนอื่น และต่อโลก ถ้าเด็กเข้าใจถึงคุณค่าของสิ่งที่เรียน เห็นว่าเป็นประโยชน์กับตัวเองจริงๆ รู้เป้าหมายว่าเรียนไปเพื่ออะไร และมีส่วนร่วม จะเป็นแรงจูงใจ แรงผลักดัน ทำให้มี Passion มากกว่า มีความสนุกในการเรียน โดยครูเชื่อมโยงสิ่งที่เด็กสนใจกับชีวิตจริง กับตัวเด็ก เพื่อให้เกิดความหมาย และให้เกิดเป็นความรู้ ที่รู้รอบ รู้ลึก

2. ครูต้องรู้ และทำให้เด็กรู้ถึงวิธีการเรียนรู้ของตนเอง (Approach to Learn) ว่าถนัดในการเรียนรู้ หรือมีสไตล์การเรียนรู้แบบใด (Multiple Intelligence) เพื่อจะได้จัดวิธีการเรียนรู้ได้ตรงตามความถนัดของผู้เรียน ครูคำนึงถึงระดับความสามารถ และภูมิหลังของเด็ก เพื่อช่วยส่งเสริมให้เด็กไปถึงการเรียนรู้อย่างมีความหมาย

3. ครูเปลี่ยนบทบาทเป็นโค้ช เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ เป็นนักตั้งคำถาม สนับสนุนให้เด็กได้ค้นหา ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง

4. ครูต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้มากกว่าผลลัพธ์ปลายทาง เพราะการเรียนที่เน้นกระบวนการเรียนรู้เป็นการเรียนที่น่าสนใจ น่าติดตามมากกว่าการเรียนรู้ที่เพียงแค่ให้ได้ความรู้ ชื่นชมให้กำลังใจในความพยายามมากกว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

5. ครู พ่อแม่ มีหน้าที่ช่วย “ชง” หรือ “Built” ให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจ ความสนใจ จุดประกายให้เด็กเกิด Passion เพื่อให้เป็นตัวหนุนเสริมให้เด็กอยากเรียนรู้ ค้นคว้าให้มากขึ้น ลึกขึ้น มีสายตาสุนทรียะในการมองสิ่งต่างๆ หรือไปถึงขั้นเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์ ร่วมสร้างนวัตกรรมได้

6. ให้เด็กได้ทำในสิ่งที่ท้าทาย ทำสิ่งที่ยากขึ้น มีความเสี่ยงบ้าง เพื่อให้ทักษะสมอง EF ได้ทำงาน ได้พัฒนา

7. ทำให้เด็กมีความกระหายใคร่รู้ (Curiosity) ในการเรียนรู้อยู่เสมอ ให้เด็กมีส่วนร่วม ให้เป็นผู้ริเริ่ม ไม่ใช่เกิดจากผู้ใหญ่เป็นผู้กำหนด ให้เด็กเห็นคุณค่า ความหมายของสิ่งที่เรียน เด็กจะมีแรงจูงใจ มีความอยากที่จะรู้มากขึ้น และสิ่งสำคัญ ถ้าเด็กทำโครงงาน (Project) ใดก็ตาม ครูต้องไม่กังวลเรื่องผลปลายทาง ถึงจะล้มเหลวก็ไม่เป็นไร เด็กจะได้เรียนรู้จากความล้มเหลว ความผิดพลาด

8. การประเมินเด็ก โรงเรียนและครูสามารถประเมินเด็กจากกระบวนการทำงาน จากคะแนนเก็บที่มาจากการทำงาน โดยไม่ได้ประเมินจากการสอบปลายภาคการศึกษาอย่างเดียว ระบบการประเมิน การ Feed Back ต้อง Feed Back ที่กระบวนการทำงาน ระหว่างการทำงานอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อเด็กส่งชิ้นงาน ไม่ควรประเมินที่ชิ้นงาน แต่ Feed Back ที่กระบวนการ ให้เห็นว่างานที่สำเร็จหรือไม่สำเร็จนั้นเป็นที่กระบวนการใด อย่างไร และในหนึ่งคาบการเรียนรู้ ควรมีการ Feed Back หลายครั้ง เพื่อให้เกิดการประเมินอย่างต่อเนื่อง และทันทีขณะเรียน

9. การจัดทำแผนการเรียนการสอน นอกจากจะให้เด็กเรียนรู้โลกภายนอกแล้ว ต้องคำนึงถึงการเรียนรู้ภายใน เช่น การเข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การอดทน การมีความเพียรพยายาม เป็นต้น รวมทั้งการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งหมายเพื่อให้เด็กมีความสามารถ 3 เรื่อง  

  • เรื่องแรกคือความสามารถในการรับเข้า เป็นคนช่างสงสัย ชอบตั้งคำถาม มีแรงบันดาลใจ
  • เรื่องที่สองคือความสามารถในการประมวลผล การใคร่ครวญ คิดเป็นระบบ จัดการเป็นระบบ
  • เรื่องสุดท้ายคือความสามารถในแสดงผล เพื่อเอาไปใช้ในชีวิต เกิดเป็นสมรรถนะโลกภายในด้วย การเรียนรู้โลกภายนอกเชื่อมมาที่โลกภายใน เช่นถ้าเรียนรู้เรื่องขยะซึ่งเป็นเรื่องโลกภายนอก นอกจากเรียนรู้ว่าขยะมีกี่ประเภทเพื่อนำไปสอบแล้ว ยังจะต้องให้เด็กสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ทิ้งขยะถูกที่ แยกขยะได้ บริโภคอาหารที่ไม่ทำให้เกิดขยะมาก และสามารถขจัดขยะภายในจิตใจของตัวเอง เช่น ความโกรธ เกลียดในใจด้วย เพราะถ้าเด็กเรียนรู้ตัวเอง จะเข้าใจตัวเอง ทำให้มี Empathy กระตือรือร้นที่จะเข้าใจผู้อื่น สร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ และเห็ณคุณค่าของการมีชีวิตที่ดี

10. ครูต้องไม่หลุดออกไปจากกระบวนการทำงานของเด็ก เพื่อจะได้ให้คำแนะนำ ชวนคิด ชวนทบทวน เพื่อเด็กจะได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองไปตลอดเส้นทางการทำงาน


ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ปรารถนา หาญเมธี เขียน
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ