ในบทความก่อนหน้า หมอมักจะพูดเกี่ยวกับผลดีของการฝึกทักษะสมอง EF ต่อการพัฒนาศักยภาพของตัวเด็ก ซึ่งมักจะเน้นไปที่พัฒนาการด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ผลของการพัฒนาทักษะสมอง EF ไม่ได้มีเพียงแค่ผลในระยะสั้นที่เกิดขึ้นในวัยเด็กเท่านั้น แต่ยังไปมีผลถึงกระบวนการต่างๆ ของทั้งสมองและร่างกายเมื่อเด็กคนนั้นเติบโตขึ้นมาอีกด้วย ในบทความอันนี้ ซึ่งเป็นอันสุดท้ายแล้ว เราจะมาคุยกันว่า การฝึกทักษะสมอง EF ส่งผลดีในระยะยาวสำหรับเด็กคนหนึ่งได้อย่างไรบ้าง มาลองติดตามอ่านกันนะครับ
การศึกษาผลระยะยาวของทักษะสมอง EF มักจะอ้างอิงจากการทดลองที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งก็คือ การทดสอบมาร์ชเมลโลว์ (Marshmallow test) ที่ให้เด็กช่วงปฐมวัยมานั่งอยู่ในห้องที่มีขนมที่เด็กๆ ชอบวางอยู่ตรงหน้า ซึ่งหนึ่งในขนมหวานหลักที่ใช้ในการทดลองก็คือ มาร์ชเมลโลว์ นั่นเอง โดยเด็กๆ จะได้รับการบอกว่า หากสามารถอดทนรอตามเวลาที่กำหนดได้ ก็จะได้รับขนมเพิ่มขึ้นอีก 1 ชิ้น รวมเป็น 2 ชิ้น แต่หากไม่สามารถรอได้ ก็จะได้แค่ขนมเพียง 1 ชิ้นที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งในการทดลองจริงจะมีขั้นตอนและรายละเอียดปลีกย่อยอีกพอสมควร แต่กล่าวโดยสรุปก็คือ จะมีเด็กที่สามารถอดทนรอและได้รับขนมเพิ่ม กับเด็กที่ไม่สามารถอดทนรอไหว ต้องยอมแพ้ต่อความเย้ายวนของขนมที่อยู่ตรงหน้าไปก่อน
การติดตามเมื่อเด็กกลุ่มดังกล่าวเติบโตขึ้นได้แสดงให้เห็นว่า เด็กช่วงปฐมวัยที่สามารถอดทนต่อความเย้ายวนของขนมหวาน และสามารถรอได้ จะเติบโตเป็นวัยรุ่นที่มีความสามารถทั้งในด้านการเรียนและการเข้าสังคม การพูดจา ความมีสมาธิ การใช้เหตุผล การวางแผน และความสามารถในการจัดการกับปัญหาและความเครียดที่ดีกว่ากลุ่มที่ไม่สามารถรอได้ รวมไปถึงยังมีผลคะแนนการทดสอบสูงกว่าอีกด้วย นั่นแสดงให้เห็นว่า การพยายามในการอดเปรี้ยวไว้กินหวานของเด็กๆ ไม่ได้ส่งผลเพียงแค่ทำให้ได้รับขนมมากขึ้นในช่วงการทดลองเท่านั้น แต่ยังส่งผลระยะยาวต่อลักษณะนิสัย การใช้ชีวิต และพัฒนาการของตัวเด็กเมื่อเติบโตขึ้นอีกด้วย
ข้อมูลการศึกษาที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ เมื่อทำการติดตามเด็กกลุ่มดังกล่าวไปจนถึงช่วงวัยผู้ใหญ่ จะพบว่ากลุ่มที่เคยอดทนรอได้นาน กับกลุ่มที่ไม่สามารถอดทนรอได้ จะมีรูปแบบการทำงานของสมองที่แตกต่างกันเมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องพยายามควบคุมตัวเอง กล่าวโดยสรุปคือ ในผู้ใหญ่ที่เติบโตมาจากเด็กที่สามารถอดทนรอได้ จะมีการทำงานของสมองส่วนหน้าเพิ่มขึ้นในระหว่างการพยายามควบคุมตนเอง ซึ่งสมองส่วนดังกล่าวเป็นสมองส่วนหลักในด้านของทักษะสมอง EF โดยเฉพาะในด้านความยับยั้งชั่งใจ ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่เติบโตมาจากเด็กกลุ่มที่ไม่สามารถอดทนรอได้ กลับกลายเป็นว่า สมองส่วนหน้าจะมีการทำงานน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบสมองส่วนที่อยู่ทางด้านล่าง ซึ่งมีบทบาทในการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าที่จะไปยับยั้ง นั่นแสดงให้เห็นว่า การควบคุมตนเองในช่วงปฐมวัย ที่ต้องอาศัยการยับยั้งชั่งใจ อันเป็นการทำงานของสมองส่วนหน้าและเป็นองค์ประกอบหลัก 1 ใน 3 ประการของทักษะสมอง EF จะยังคงเป็นสมองตำแหน่งหลักในการไปควบคุมพฤติกรรมของตนเองเมื่อเด็กคนนั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไป และเป็นการยืนยันอีกด้วยว่าลักษณะนิสัยที่คุณพ่อคุณแม่ได้ปลูกฝังลูกๆ มาตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก หากทำได้อย่างสม่ำเสมอ จะเป็นสิ่งที่ติดตัวลูกไปถึงวัยที่ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่เลยครับ
ข้อมูลที่หมอเล่ามาในวันนี้ถือเป็นหลักฐานอย่างดีเลยนะครับว่า ความพยายามที่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองได้ลงทุนลงแรงไปกับลูกๆ เพื่อช่วยสร้างทักษะสมอง EF ในช่วงวัยเด็กนั้นไม่ได้สูญเปล่าแม้แต่น้อย ผลดีของการฝึกทักษะสมอง EF อย่างต่อเนื่องในช่วงวัยเด็ก จะยังคงพบได้เมื่อเด็กเติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ความยับยั้งชั่งใจในวัยเด็กยังคงสะท้อนให้เห็นผ่านพฤติกรรมที่ดีในวัยรุ่นและการทำงานของสมองส่วนหน้าที่ยังคงปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในวัยผู้ใหญ่ ดังนั้น ทุกๆ หยาดเหงื่อที่ท่านได้ลงไปกับลูกๆ เพื่อช่วยพัฒนาทักษะสมอง EF มันจะไม่ได้หายไปไหน แต่จะอยู่กับตัวลูกๆ ของทุกท่านต่อไปอีกนานเลยครับ สุดท้ายนี้ หมอขอขอบพระคุณทุกท่านสำหรับการติดตามบทความมาตลอดนะครับ ขอให้ทุกๆ ท่านมีสุขภาพแข็งแรง มีกำลังกายและกำลังใจในการดูแลบุตรหลานของท่านกันต่อไปนะครับ