เราสามารถฝึกเด็กให้รู้จักวางแผน ตั้งเป้าหมาย ลงมือทำจนสำเร็จ ได้ตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ เราสามารถฝึกเด็กให้รู้จักตั้งเป้าหมายและลงมือทำจนสำเร็จได้ตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ เช่นปล่อยให้เด็กมีการเล่นอิสระ (Free Play) เด็กจะตั้งเป้าหมายของเขาเอง การทำงานศิลปะอย่างอิสระ คุณครูหรือคุณพ่อคุณแม่อาจมีตะกร้าของที่ไม่ใช้แล้วไว้ให้เด็กนำไปคิดประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ซึ่งจะทำให้เด็กได้ใช้ความคิดยืดหยุ่นพลิกแพลงและเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในความสำเร็จจากการลงมือคิด ทำด้วยตัวเองนั้นพอโตขึ้นอีกหน่อย เด็กจะสามารถขยายการตั้งเป้าหมายและทำงานร่วมกันกับเพื่อน แล้วขยายเป็นการตั้งเป้าหมายและทำงานร่วมกลุ่มกับเพื่อนทั้งห้องได้ ครูก้าหรือคุณครูกรองทอง บุญประคอง แห่งโรงเรียนจิตตเมตต์ปฐมวัยได้ให้คำแนะนำว่า
สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้บนพื้นฐานที่เด็กมีอิสระทางความคิด แต่อยู่ในกรอบของความเหมาะสม เช่นกติกาการเก็บของ ความปลอดภัย ผู้ใหญ่ต้องไม่แทรกแซงในการคิด วางแผน การลงมือทำของเด็ก และในที่สุดเราต้องยอมรับผลงานของเด็ก ถ้าเราดูเด็กๆ เล่น ล้วนมีเป้าหมายทั้งนั้น เช่น หินมาตำใบไม้ เขามีเป้าหมายว่าจะทดลองทำอะไรสักอย่าง ทำให้เกิดความรู้ใหม่
หากเด็กลงมือทำแล้วไม่สำเร็จอาจจะไม่เกี่ยวกับการวางแผน แต่เกี่ยวกับความไม่พร้อมด้านกล้ามเนื้อมือ เช่น ตัดกล่องนมเป็นรูปนั้นรูปนี้ไม่ได้ ต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยตัดให้ แสดงว่าที่จริงเด็กมีแผนมีเป้าหมายว่าจะทำอะไรเราไม่ต้องกลัวเลยว่าเด็กจะคิดไม่ได้
สำหรับบทบาทของผู้ใหญ่ต้องเป็นคนเอื้อ ให้โอกาส เรื่องสื่อวัสดุ สถานที่ ดูแลความปลอดภัย สร้างบรรยากาศที่เป็นกันเอง เฝ้าสังเกต แล้วจะเห็นศักยภาพของเด็กแต่ละคนผู้ใหญ่ต้องมีทักษะในการสื่อสาร ในการพูดกระตุ้นเด็ก
ผู้ใหญ่ไม่ควรห้ามหากในการทำงานร่วมกันของเด็ก เด็กอาจจะเลียนแบบกัน ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน
ผู้ใหญ่ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้อยู่นิ่งๆ มีสมาธิ วางแผน ทำคนเดียว หากเรารีบให้เด็กมีประสบการณ์ทำร่วมกับเพื่อนเร็วเกินไป เด็กอาจจะไม่ชอบ
การพูดของผู้ใหญ่ต้องไม่ไปสกัดกั้นความคิดเด็ก ต้องมีจังหวะในการที่ลงไปแทรกแซง ซึ่งบางครั้งผู้ใหญ่ตั้งใจจะกระตุ้นเด็กแต่พูดในจังหวะที่ไม่เหมาะ เช่น ในขณะเด็กกำลังคิดอะไรอยู่ เด็กก็หันเหมาจากเป้าหมายมาที่ความต้องการของผู้ใหญ่แทน เพราะฉะนั้นผู้ใหญ่ต้องระมัดระวังในการลงไปมีปฏิสัมพันธ์กับการเล่นของเด็ก ไม่ใส่ความคิด ความคาดหวัง รวมทั้งต้องพยายามให้เด็กตั้งโจทย์ด้วยตัวเองด้วย ต้องรักษาสมดุลระหว่างโจทย์ที่เราจะตั้งให้เด็กกับให้โอกาสเด็กคิดโจทย์เอง ถ้าเด็กไม่ได้รับโอกาสตั้งโจทย์ตั้งเป้าหมายเอง ในที่สุดเด็กจะตั้งเป้าหมายไม่เป็น
การลงมือทำมีความสำคัญมากที่จะทำให้เด็กเกิดการต่อยอด พอทำได้สำเร็จแล้วก็อยากทำสิ่งที่ยากขึ้นไปอีก เป็นพลังท้าทายให้เด็กอยากทำโน่นทำนี่