นพ.ประเสริฐ : เด็กอายุ 9-12 ขวบ สมองจะเริ่มสลายวงจรประสาทบางส่วนที่ไม่ค่อยได้ใช้ทิ้งไป เหลือเฉพาะวงจรประสาทที่ได้ใช้
การค้นพบใหม่ๆ ของวิทยาศาสตร์ทางสมอง (Neuroscience) แสดงให้เห็นว่า สมองของมนุษย์ที่ทำให้เรารู้คิด ประกอบขึ้นจากเซลล์ประสาทประมาณแสนล้านเซลล์ ทำงานร่วมกันผ่านจุดเชื่อมต่อหรือ Synapse ประมาณร้อยล้านล้านจุด เชื่อมโยงกันเป็นวงจรประสาทหลากหลาย ประสานสัมพัน กระบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากในช่วงแรกเกิด ต่อเนื่องไปถึงช่วงปฐมวัย ความหนาแน่นของวงจรประสาทในสมองจะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ประมาณ 9 ขวบ จากนั้นก็เริ่มลดลง
นพ.ประเสริฐ : ซึ่งแปลว่าระหว่างอายุประมาณ 9 – 15 ปี สมองมีเหตุการณ์สำคัญคือการ pruning การตัดแต่ง การสลาย synapse และวงจรประสาทที่ตัวเองไม่ค่อยได้ใช้ ความรู้ข้อนี้สำคัญ มีความหมายว่าก่อน 9 ขวบ เราต้องทำอะไรบางอย่างกับเด็กๆ
คืองานฝึกสมองของเด็กๆ ให้ค่อยๆ พัฒนาไปตามลำดับขั้น เพื่อปลูกสร้างทักษะหรือความสามารถขั้นสูงของสมอง ให้ติดตัวและพัฒนาต่อไปได้ตลอดชีวิต
นพ.ประเสริฐ : ใน 9 ปีแรก สิ่งที่ควรทำที่สุด ขั้นที่ 1 สร้างแม่ที่มีอยู่จริง ขั้นที่ 2 สร้างสายสัมพันธ์กับแม่ แล้วขั้นที่ 3 คือสร้างตัวตน 3 ขั้นตอนนี้สร้างในเวลา 3 ปีแรกเท่านั้นเอง 3 ขวบปีแรก เร็วมาก!!
ขั้นที่ 4 คือการสร้าง Self – esteem หรือความมั่นใจว่าตนเองสามารถทำอะไรได้
นพ.ประเสริฐ : Self – esteem เป็นพลังงานของจิตใจที่พาเด็กคือ Self ตัวตนที่ 3 ขวบไปสู่อนาคตอันไกลโพ้น ถามว่า Self – esteem มาจากอะไร ไม่ได้มาจากการเรียนแล้วตัดเกรด มาจากการเล่น ที่พวกเราไม่รู้อีกอันหนึ่งก็คือ นิ้วมือมาก่อนสมอง ความหมายก็คือเด็กที่ใช้ 10 นิ้วมากกว่า พัฒนาการทางสมองดีกว่า การเล่น 10 นิ้วนั้นเพื่อสร้างสมองทั้ง 10 ส่วน
กิจกรรมอะไรอีกที่ใช้นิ้วทั้งสิบ คำตอบคือทำงาน แต่จะเห็นว่าการทำงานไม่เหมือนการเล่น ตรงที่ หนึ่งมันยาก สอง มันไม่สนุก สามมันน่าเบื่อ จะทำแบบนี้ได้เด็กต้องมีความสามารถในการควบคุมตัวเอง คือ Self control
บันไดขั้นที่ 5 คือก้าวแรกของการสร้างทักษะขั้นสูงให้กับสมอง
นพ.ประเสริฐ : การควบคุมตัวเอง เราก็แจงเป็น 3 step
ความสามารถที่จะตั้งใจมั่น ไม่วอกแว่ก
แล้วก็อดเปรี้ยวไว้กินหวาน
แล้วก็ควบคุมตนเองจนกว่างานจะเสร็จ
อันนี้เป็นเรื่องของวงจรประสาท ไม่ใช่เรื่องของนิสัย
เป้าหมายที่ท้าทาย ไกล แต่อยู่ในระยะที่มองเห็น จะไปถึงได้ เด็กๆ ต้องข้ามผ่านอุปสรรคด้วยการแก้ปัญหาและความมานะอดทน จนผ่านมาถึงเป้าหมายได้ เห็นผลสำเร็จ เป็นผลดี ผลได้ เกิดแรงเสริมเชิงบวก เสริมหนุนให้หมุนวงจรเรียนรู้ ยกระดับขึ้นไป
การทำวงจรปัญหา อุปสรรค เป้าหมาย ซ้ำแล้วซ้ำรอบจะสะท้อนกลับไปปรับเปลี่ยนวงจรประสาทในสมองส่วนหน้า เกิดการเชื่อมโยงวงจรประสาทแบบใหม่ ขยายออกไป เพื่อรองรับทักษะที่พัฒนายกระดับขึ้น นี่คือ Executive Functions หรือ EF
นพ.ประเสริฐ : EF คืออะไร
EF คือความสามารถที่จะควบคุมตนเอง กำหนดเป้าหมาย แล้วก็เดินทางไปสู่เป้าหมาย โดยการฝ่าฟันอุปสรรคนานาจนกว่าจะถึงเป้าหมาย นี่คือ EF คำนิยามนี้ง่ายมาก ปีนต้นไม้ EF ล้วนๆ เล่นเสรีในสนาม Hi-light เด็กจะต้องกำหนดเป้าของการเล่น เป้าหมายคือ EF
EF คือความสามารถในการกำหนดเป้าหมายในอนาคตอันไกลโพ้นของชีวิต แล้วเดินทางผ่านอุปสรรค ไปจนถึงเป้าหมาย
บันไดขั้นที่ 6 คือ EF
นพ.ประเสริฐ : จากควบคุมตัวเอง เรามาสู่ EF เต็มรูปแบบ ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน
หนึ่ง ความสามารถที่จะควบคุมตนเอง
สอง การบริหารความจำใช้งาน
สาม การคิดยืดหยุ่น
การคิดวิเคราะห์หรือการคิดยืดหยุ่น เราไม่ควรแปลลึกซึ้ง ของง่ายมาก เหมือนเล่นบล็อกไม้ คุณแค่เปลี่ยนมุมมองเรื่องก็เปลี่ยนแล้ว เปลี่ยนเป้าหมาย เปลี่ยนแผน เปลี่ยวิธีการ จะเห็นว่าโดยไม่ต้องทำอะไร เด็กเล่นบล็อกไม้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดเขาก็สามารถเปลี่ยนมุมมองต่อรูปธรรม คือสิ่งที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นนามธรรม
ความจำใช้งานคือความจำพร้อมใช้ ความจำใช้งานเป็นประเด็นเรื่องความเร็ว เพื่อนกำลังยื่นยาบ้าให้ ความจำใช้งานจะต้องพุ่งมาที่สมองส่วนหน้า คือ prefrontal cortex ซึ่งเป็นฐานปฏิบัติการของ EF เร็วพอที่จะปฏิเสธความยั่วยวนที่เพื่อนทำให้ เพศสัมพันธ์ก็เหมือนกัน
ความเร็วขึ้นกับอะไร??… ความเร็วขึ้นกับ
หนึ่ง pruning การตัดแต่ง สมองที่ตัดแต่งเรียบร้อย จัดระเบียบได้ดีกว่า ความเร็วของการส่งสัญญาณประสาทก็จะเร็วกว่า
สอง ขึ้นกับการเติมสารไมอีลีนลงบนเส้นประสาท เส้นประสาทที่มีสารไมอิลีนมากกว่าก็จะส่งสัญญาณประสาทได้เร็วกว่า เร็วกว่าเยอะ เป็นพันเท่า สารไมอิลีนมาจากไหน หนึ่งเล่น สองทำงานก็คือการใช้ 10 นิ้ว
คือความรู้ที่ผ่านการตีความงานวิจัย และการค้นพบใหม่ของวิทยาศาสตร์ทางสมอง ทฤษฎีทางจิตวิทยาเข้ากับประสบการณ์ในการแก้ปัญหาเด็ก วัยรุ่น และครอบครัว ในฐานะจิตแพทย์ของคุณหมอประเสริฐมากว่า 30 ปี
นพ.ประเสริฐ : แต่ประเทศไทยทำอะไร เอาเข้าไปเรียนหนังสือหมด 4 ปี เด็กเอาแต่เรียนจะมีเวลาเล่น 8 อย่างที่ไหน นอกจากไม่มีประโยชน์แล้ว ยังทำลาย Self – esteem และ EF ซ้ำ การ pruning สมองกำลังจะใกล้เข้ามาเต็มแก่ เราเสียเวลาเรียนไปอีก 5 ปีแทนที่จะเอาเวลาทั้งหมดนั้นมาเล่น
คือการเขียนโปรแกรมให้กับสมองทีละบรรทัดด้วยความรัก ความเข้าใจ สอดคล้องกับพัฒนาการของช่วงวัย เป็นลำดับขั้นของความรู้ ที่ผู้ใหญ่เราทุกคนควรจะนำไปใช้ในการเลี้ยงดูลูกหลาน ก่อนที่หน้าต่างแห่งการเรียนรู้บานใหญ่นี้จะปิดลง
นพ.ประเสริฐ : พอมีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์สมองสมัยใหม่แล้วก็ EF เข้ามา ผมคิดว่านี่เป็นความหวัง เป็นความหวังว่าเรื่องทั้งหมดนี้มีความเป็นวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน เราสามารถเตรียมให้สมองเด็กดีที่สุดก่อนอายุ 9 ขวบได้
สื่อชุด พลังสมองเด็กไทย สร้างได้ด้วยพลังชุมชน
ความรู้จากบทสัมภาษณ์ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์