สถานการณ์โควิด เด็กขาดโอกาสเรียนรู้เรื่องสำคัญของชีวิต

สถานการณ์โควิด เด็กขาดโอกาสเรียนรู้เรื่องสำคัญของชีวิต

เวลานี้มนุษยชาติทั้งโลกต้องเผชิญและหาทางตอบสนองต่อแรงกดดันที่ไม่เคยมีมาก่อน เมื่อเกิดโรคระบาดระดับที่คร่าชีวิตผู้คนได้ง่ายอย่างเชื้อโคโรนาไวรัส เรามีโอกาสติดเชื้อจากฝอยละออง (Droplets) ที่กระเด็นมาจากปาก/จมูกของผู้ที่มีเชื้อโรคซึ่งอยู่ห่างจากตัวเราไม่ถึง 1- 2 เมตร ทั้งๆ ที่ผู้ติดเชื้อนั้นอาจยังไม่แสดงอาการใดๆ ของโรคให้ปรากฏเห็นเลยก็ตาม มาตรการสำคัญที่สุดในการป้องกันโรคที่องค์การอนามัยโลกแนะนำในขณะนี้ก็คือ การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และใช้ชีวิตอยู่ห่างจากกัน (Physical Distancing)  

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างมากนี้สร้างแรงกดดันที่กระทบถึงความเป็นปกติสุขของประชาชน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่กำลังอยู่ในวัยเรียนรู้และมีการเติบโตพัฒนา สถานการณ์โควิดอาจมีผลต่อพัฒนาการด้านร่างกาย ด้านอารมณ์จิตใจ สังคม และการเรียนรู้ของเด็กในช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของชีวิตพวกเขา

ในการจัดการความรู้ร่วมกันของนักวิชาการสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯ และภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership  มีความเห็นตรงกันว่าสถานการณ์โควิดครั้งนี้สร้างภาวะที่น่าเป็นห่วง อาจทำให้เด็กขาดโอกาสเรียนรู้เรื่องสำคัญของชีวิต ดังนี้

  • โควิด19 เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ทางสังคม ในช่วงที่เด็กไม่สามารถไปโรงเรียนได้ หรือเมื่อมาโรงเรียนแล้วแต่ต้องรักษาระยะห่างทางร่างกาย (Physical  Distancing) การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นน้อยลงหรือไม่มีเลย และยิ่งสวมหน้ากากก็ยิ่งปิดโอกาสการเรียนรู้ การอ่านสีหน้า แววตากันและกัน    
  • เด็กกับคุณครู เด็กกับเด็กด้วยกันไม่สามารถเรียนรู้สื่อสารอารมณ์ความรู้สึกกันได้  เฉพาะการที่ครูและเด็กต้องใส่หน้ากาก ก็ทำให้เด็กไม่สามารถเชื่อมโยงสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกกับครูและเพื่อนได้ ครูและเพื่อนไม่สามารถเห็นได้ว่าตนรู้สึกอย่างไร และเด็กเองก็อ่านสีหน้าเพื่อนและครูไม่ออกว่าเพื่อนและครูกำลังรู้สึกอย่างไร ดังนั้น หากครูไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ก็อาจจะมองข้ามไปได้
  • อาจทำให้เด็กขาด Sense of Empathy การที่เด็กถูกกำกับระยะห่างเข้มงวดมากเป็นเวลาที่ยาวนาน ต้องรีบล้างมือหลังการสัมผัสผู้อื่น รักษาระยะห่าง หรือหลีกเลี่ยงไม่ไปใกล้ชิดกับผู้คนอื่น ทำให้เด็กไม่สามารถแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อกันได้ ส่วนครูก็จะกอดเด็กเพื่อปลอบใจ ให้กำลังใจไม่ได้เช่นกัน เด็กก็จะขาดโอกาสเรียนรู้และแสดงความรักผูกพันต่อผู้อื่น หากเป็นเช่นนี้นานไป อาจทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะนึกถึงแต่ตัวเอง  sense of empathy หรือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจะจืดจางหายไปจากตัวเด็ก และอาจนำไปสู่การรังเกียจกัน แบ่งแยกกัน หากผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเด็กไม่ได้พูดคุยชี้แนะอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ
  • เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้เรื่องต่างๆ ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เด็กวัย 3-6 ปี เรียนรู้ผ่านการเล่นทั้งโดยการเล่นคนเดียวและเล่นร่วมกับผู้อื่น ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญมาก  ดังนั้นในช่วงสถานการณ์โควิด แม้จะดูเหมือนว่าเด็กยังสามารถสื่อสารหรือเรียนรู้ได้โดยผ่านเทคโนโลยี เช่น มือถือ ไอแพ็ด ฯลฯ แต่การเห็นกันผ่านจอ หรือการเรียนการสอนออนไลน์นั้น ยากที่เด็กจะรับรู้และตีความได้อย่างชัดเจน

แม้ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์พัฒนาเด็กของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจะให้ความเห็นว่า เราไม่ควรกังวลกับเรื่องพัฒนาการทางสังคมของเด็กที่อาจจะลดลงมากเกินไป เพราะที่จริงแล้วมนุษย์ทุกคนมีความสามารถในการปรับตัวได้ สามารถอยู่ตามลำพังได้  หากเด็กไม่ได้สัมพันธ์กับคนอื่นนอกบ้าน ก็ยังมีพ่อแม่ พี่น้องในบ้านที่จะให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องทักษะอารมณ์-สังคม  อย่างไรก็ตาม นี่เป็นประเด็นสำคัญที่คุณครูปฐมวัยทุกคนต้องใส่ใจ เพราะวัยนี้เป็นช่วงวัยสำคัญอย่างยิ่งในการที่เด็กจะก่อเกิดรูปแบบความสัมพันธ์กับโลกรอบตัว

ถ้าเช่นนั้นจะทดแทนหรือชดเชยอย่างไร

          สถานการณ์โควิด19 ทำให้เด็กและคุณครูต้องรักษาระยะห่าง การรักษาระยะห่างทางร่างกาย(Physical Distancing) จะต้องไม่ทำให้เกิดระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หมายความว่า “กายห่าง แต่ใจต้องไม่ห่าง”

คุณครูจึงควรหาทางสร้างสรรค์หรือปรับกิจกรรมให้เด็กได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน กับครู และคนอื่นๆ รวมทั้งช่วยลดความเครียดกังวล  รศ.ดร.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ จากศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล  แนะนำว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ครูอาจไม่สามารถจัดกิจกรรมที่เด็กจะมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้  ก็ควรเลือกกิจกรรมที่เด็กได้เห็น ได้มอง ได้เคลื่อนไหวตาม เช่น  Music and Movement  ยังจะช่วยเด็กให้เกิดการเรียนรู้ทักษะด้านอารมณ์-สังคม ส่งเสริมการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ เพราะพื้นฐานการเข้าใจท่าทาง สีหน้า เกิดมาจากการที่เห็น จำ แล้วเลียนแบบนั่นเอง เพราะมนุษย์เรามีเซลล์ประสาทกระจกเงา (Mirror Neuron) จากการศึกษาวิจัยในลิง สังเกตเห็นว่าแม้ลิงจะอยู่เฉย แต่เซลล์ประสาทในสมองที่ทำหน้าที่ด้านการเคลื่อนไหว ยังคงทำงาน ยังมีการบันทึกสิ่งที่ตามองเห็นเอาไว้ แล้วเมื่อมีโอกาสลิงก็จะแสดงพฤติกรรมเช่นเดียวกับสิ่งที่มองเห็นนั้นออกมา

        จากการวิจัยนี้ทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องพฤติกรรมเลียนแบบในเด็ก ที่แม้พ่อแม่ ครู ไม่ได้สอน แต่จากการมองเห็นในสิ่งที่พ่อแม่หรือครูทำ เด็กก็จะแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมาตามที่เห็นได้  ดังนั้นถ้าจะให้เซลล์กระจกเงาของเด็กพัฒนาไปได้ดี เด็กต้องมีโอกาสได้เห็นและเลียนแบบพฤติกรรมที่ดีของคนรอบข้าง ดังคำกล่าวที่ว่า “เด็กเป็นอย่างที่เราเป็น มากกว่าเป็นอย่างที่เราสอน”

อีกทั้งมีงานวิจัยเรื่องการสร้างบทเรียนพิเศษเพื่อให้เด็กที่เป็นโรคออทิสซึ่มมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น  พบว่า เมื่อนำภาพใบหน้าที่แสดงอารมณ์ต่างๆ เช่น ยิ้ม โกรธ  เฉยๆ ฯลฯ มาให้เด็กดู แล้วบอกเขาว่า ใบหน้านั้นๆ คืออารมณ์อะไร กับการเอาภาพใบหน้าที่แสดงอารมณ์บวกกับภาพที่มีท่าทางประกอบด้วยมาให้ดู พบว่าการมีท่าทางประกอบ ช่วยให้เด็กรับรู้ความหมายของอารมณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น  งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า หากเด็กจำเป็นต้องเรียนผ่านสื่อออนไลน์  ก็ควรให้เด็กได้เห็นท่าทางด้วย ไม่ใช่เห็นเฉพาะใบหน้าเพื่อน หรือครูเท่านั้น  เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมที่ดีกว่า

ดังนั้น  แม้ร่างกายจำต้องห่างกันเพื่อป้องกันโรค  แต่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูจะต้องตระหนักว่าเด็กๆ จะต้องไม่ขาดโอกาสเรียนรู้ทักษะอารมณ์–สังคม และการมีความรู้สึกเชื่อมโยงสัมพันธ์กับสังคม จะต้องปรับกิจกรรมให้เอื้อต่อการส่งเสริมให้เด็กมีทักษะนี้ด้วย

ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ปรารถนา หาญเมธี : เขียน
ผาณิต บุญมาก : เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ : บรรณาธิการ