สมองของเด็กปฐมวัย และความจำเป็นในการพัฒนาทักษะสมอง EF
สมองของเด็กมีการพัฒนาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น กล่าวได้ว่าสมองเป็นอวัยวะที่สร้างเป็นอันดับแรกในตัวอ่อน และพัฒนาเสร็จสิ้นเป็นอันดับสุดท้าย จึงแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความซับซ้อนของสมอง และระบบประสาทที่มีต่อร่างกายมนุษย์ การทำงานของสมองเกิดขึ้นในทุกๆ ขณะที่คนเรายังมีลมหายใจ ไม่มีกิจกรรมใดในหนึ่งวันที่เกิดขึ้นโดยปราศจากการทำงานทั้งทางตรงหรือทางอ้อมจากสมอง เพราะไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับก็ต้องอาศัยการทำงานของสมองในส่วนที่กระตุ้นให้เกิดการหลับ การหายใจเข้าและหายใจออกก็เป็นการกำหนดจากก้านสมอง ความอิ่มหรือความหิวก็เป็นผลมาจากการสั่งการของสมองด้วยเช่นกัน หรือแม้แต่การอ่านบทความนี้ ท่านก็ต้องใช้สมองหลายส่วนในการทำงาน สมองส่วนหลังจะทำหน้าที่รับรู้สัญลักษณ์ภาษา อีกส่วนช่วยแปลความหมายของคำ และยังมีสมองส่วนที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงสิ่งที่ท่านอ่านกับประสบการณ์เก่าของท่าน และสมองทางด้านหน้าทำหน้าที่ในคิดวิเคราะห์ ดังนั้น สมองจึงมีส่วนอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพียงแต่เป็นกระบวนการที่คนเราจะควบคุมได้ (เช่น ความคิด การขยับร่างกาย) หรือควบคุมไม่ได้ (ความหิว ความอิ่ม หรืออัตราการหายใจ) เท่านั้นเอง
ในช่วงวัยเด็กจะเป็นช่วงเวลาสำคัญในการพัฒนาของสมอง ทั้งนี้เนื่องจากสมองของทารกแรกเกิดจะมีขนาดค่อนข้างเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับสมองของผู้ใหญ่ โดยจะมีน้ำหนักราว 1/3 ของสมองผู้ใหญ่เท่านั้น ทำให้ลูกของมนุษย์ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตนเองได้เลยในวันแรกของชีวิต แตกต่างจากสัตว์อื่นๆ ที่สามารถเดินตามแม่ได้ หรือเริ่มหาอาหารเองได้ ซึ่งธรรมชาติได้เลือกสรรแล้วว่า การพัฒนาของสมองของมนุษย์ต้องอาศัยทั้งกระบวนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในครรภ์มารดา และการเจริญเติบโตให้มีขนาดใหญ่ขึ้นซึ่งต้องเกิดขึ้นภายนอกครรภ์มารดา การดูแลทารกและเด็กเล็กจึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญเป็นอย่างมาก ภายใน 3 ปีแรกของชีวิต น้ำหนักของสมองจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5-3 เท่าของน้ำหนักสมองเมื่อแรกเกิด แสดงให้เห็นว่าสารอาหารที่ทารกได้รับจะถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างสมองให้มีขนาดใหญ่ขึ้น สอดคล้องกับขนาดศีรษะที่ใหญ่ขึ้น และความสามารถของเด็กที่ทำได้มากขึ้นในแต่ละวันของชีวิต จากทารกที่ทำได้แค่หลับ ตื่น กิน และร้องไห้ ก็สามารถคว่ำและหงายได้ นั่งได้ ยืนได้ พูดได้ เดินได้ ปีนป่ายได้ เลียนแบบท่าทางคุณพ่อคุณแม่ ดื้อได้ เถียงได้ และงอนพ่อแม่ได้ พัฒนาการทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนเป็นผลมาจากการเติบโตและพัฒนาของสมองทั้งสิ้น
ในช่วงปฐมวัย (อายุ 3-6 ปี) สมองยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่กระบวนการที่เกิดขึ้นจะมีความแตกต่างจากช่วงวัยทารกเล็กน้อย กล่าวคือในแง่ของขนาด น้ำหนักสมองจะมีการเพิ่มขึ้นไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 3 ปีแรกของชีวิต แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสมองของเด็กปฐมวัยคือการพัฒนาของสมองส่วนที่ทำหน้าที่ซับซ้อนขึ้นจากส่วนที่ทำหน้าที่พื้นฐาน (เช่น การมองเห็น การเคลื่อนไหว การฟัง) โดยสมองส่วนที่ทำงานซับซ้อนเหล่านี้จะพบในหลายบริเวณของสมองใหญ่ แต่จะมีศูนย์ควบคุมหลักอยู่ที่สมองส่วนหน้า หรือสมองส่วนฟรอนทัล (Frontal Lobe) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรู้คิด (Cognitive Functions) ไม่ว่าจะเป็น การคิดวิเคราะห์ การวางแผน การหาเหตุผล การยับยั้งชั่งใจ การยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหา สมาธิจดจ่อ และทักษะสมอง EF (Executive Functions) นอกจากนี้ในช่วงปฐมวัย ยังมีการพัฒนาโครงข่ายของการเชื่อมโยงสมองแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน หรือการสร้าง “ถนน” ในสมองจากสมองส่วนหน้าไปยังสมองส่วนอื่นๆ เกิดขึ้นด้วย เพื่อช่วยในการทำงานที่มีความละเอียดและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงเวลาที่สำคัญต่อการพัฒนากระบวนการรู้คิดและทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อตัวเด็กในอนาคต ซึ่งต้องอาศัยการทำงานของสมองส่วนหน้า ร่วมไปกับการประสานงานกับสมองส่วนอื่นๆ เพื่อให้การทำงานที่มีความยุ่งยากและซับซ้อนสามารถดำเนินการไปได้จนแล้วเสร็จ หนึ่งในกระบวนการที่มีการพัฒนาเป็นอย่างมากในช่วงวัยนี้ รวมถึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการเรียนรู้และการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคตของตัวเด็ก ก็คือทักษะสมอง EF (Executive Functions) อันเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของคนในยุคนี้เป็นอย่างมาก เพราะทักษะสมอง EF เป็นการทำงานของสมองในด้านการควบคุมและการจัดการกระบวนการรู้คิดในด้านต่างๆ ของสมองให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม โดยทักษะสมอง EF จะประกอบไปด้วยองค์ประกอบพื้นฐานและกระบวนการขั้นสูงหลายอย่างมาทำงานร่วมกัน ซึ่งในส่วนขององค์ประกอบพื้นฐานจะประกอบไปด้วยกลไกที่สำคัญ 3 ประการคือ
1. ความจำใช้งาน หมายถึงความสามารถของสมองในการเก็บข้อมูลเอาไว้เป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะจดจำเป็นความจำระยะยาว หรือเลือกที่จะลบทิ้งไป ความจำใช้งานทำให้มนุษย์สามารถจดจำหมายเลขโทรศัพท์ที่ได้ยิน หรือสามารถจำได้ว่าต้องไปซื้ออะไรที่ร้านสะดวกซื้อบ้าง การพัฒนาของความจำใช้งานจึงเป็นองค์ประกอบของการรู้คิดในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสมาธิจดจ่อ หรือทักษะสมอง EF
2. ความยับยั้งชั่งใจ หมายถึงความสามารถในการยับยั้งความคิดหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จึงเป็นกลไกในการควบคุมตัวเองไม่ไหลไปตามความต้องการของตนโดยปราศจากการยับยั้ง การพัฒนาความยับยั้งชั่งใจทำให้เด็กสามารถ “รอ” เป็น สามารถอดทนอดกลั้นต่อสถานการณ์ที่ไม่ชอบใจ รวมถึงยับยั้งตนเองไม่ให้ไปทดลองหรือเข้าหาสิ่งที่ไม่ดีหรือเป็นอันตรายต่อตนเองได้
3. ความยืดหยุ่นในกระบวนการคิด หมายถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนการตอบสนองหรือการแก้ไขปัญหาเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป หรือเมื่อการพยายามทำตามแนวทางเดิมไม่ประสบความสำเร็จ ความยืดหยุ่นในกระบวนการคิดทำให้เด็กมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อน และสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเหมาะสม
โดยประเด็นที่สำคัญคือ องค์ประกอบพื้นฐานของทักษะสมอง EF เหล่านี้แม้จะมีการพัฒนามาตั้งแต่ช่วงวัยทารก ต่อเนื่องไปจนถึงวัยเตาะแตะ แต่จะมีการพัฒนาเป็นอย่างมากในช่วงปฐมวัย ที่เด็กๆ จะได้มาเรียนรู้ความสามารถของตนเองในจดจำสิ่งต่างๆ มาฝึกฝนความพยายามในการยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของตนเอง เพื่อที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างเป็นสุข ได้รู้จักการแก้ไขปัญหาที่หลากหลายและปรับเปลี่ยนวิธีการแก้ไขปัญหาไปตามสถานการณ์เฉพาะหน้า โดยหากเด็กได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกฝนกระบวนการเหล่านี้ในช่วงปฐมวัย จะทำให้การพัฒนาทักษะสมอง EF สามารถเกิดขึ้นได้เต็มศักยภาพ และนำไปสู่การพัฒนากระบวนการ EF ขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็น การควบคุมอารมณ์ การวางแผน การติดตามประเมินผล การลงมือทำ และสมาธิจดจ่อ ที่จะมีการพัฒนาตามมาในช่วงวัยนี้ ไปจนถึงช่วงเด็กวัยเรียน (6-12 ปี) และวัยรุ่นต่อไป ดังนั้นทักษะสมอง EF จึงเป็นคำตอบของสังคมไทยในปัจจุบันที่ต้องการให้เด็กไทย ไม่ได้เป็นเพียงแค่เด็กที่เรียนเก่ง แต่ยังต้องเป็นคนดีของสังคม รู้จักยับยั้งตนเองได้ รวมถึงสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รู้จักพลิกแพลงแก้ไขปัญหาได้ วางแผนเก่ง มีสมาธิในการทำงาน รู้จักเลือกสิ่งที่ควรให้ความสนใจ และควบคุมตนเองได้อย่างเหมาะสม ทักษะสมอง EF จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องมีการส่งเสริมอย่างจริงจัง เพื่อให้คนรุ่นใหม่ของประเทศได้พัฒนาศักยภาพ และพร้อมในการแข่งขันกับบุคคลจากทั่วโลกต่อไป
นอกจากผลในด้านของการพัฒนาศักยภาพของตัวเด็กเองแล้ว ทักษะสมอง EF ยังมีส่วนสำคัญในการปกป้องเด็กๆ ของเราต่อภยันตรายที่กำลังคืบคลานเข้ามาหาตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นภัยจากไซเบอร์ ภัยจากสังคมรอบข้าง และภัยยาเสพติด เพราะองค์ประกอบพื้นฐานของ EF ที่สำคัญคือ ความยับยั้งชั่งใจ หากได้รับการส่งเสริมให้มีการพัฒนาเป็นอย่างดีในช่วงปฐมวัยแล้ว จะทำให้เด็กคนนั้นเติบโตไปโดยมีภูมิคุ้มกันของจิตใจต่อการลองสิ่งที่ไม่ดี โดยเฉพาะยาเสพติด ซึ่งผู้ติดยาเสพติดโดยส่วนใหญ่ทราบดีว่า ยาเสพติดเป็นอันตรายต่อสุขภาพของตนเอง แต่ที่ยังคงเลิกใช้ไม่ได้นั้น เกิดจากการที่ไม่อาจจะหักห้ามใจในการใช้ยาเสพติดได้ รวมถึงไม่ทราบว่าจะปฏิเสธเพื่อนที่มาชักชวนได้อย่างไร ดังนั้น หากทักษะสมอง EF ได้มีการส่งเสริมให้มีการพัฒนาในช่วงวัยเด็กอย่างจริงจังแล้ว จะทำให้เด็กคนนั้นสามารถยับยั้งตนเองจากการลองใช้ยาเสพติด และมีทักษะในการเอาตัวรอดจากการชักชวนของกลุ่มเพื่อนหรือสังคมรอบข้างที่มีการใช้ยาเสพติดได้อีกด้วย
กล่าวโดยสรุป ทักษะสมอง EF เป็นกระบวนการของสมองที่มีการพัฒนาเป็นอย่างมากในช่วงปฐมวัย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาของสมองส่วนหน้าและวงจรประสาทที่เชื่อมโยง องค์ประกอบพื้นฐานของทักษะสมอง EF ประกอบไปด้วย ความจำใช้งาน ความยับยั้งชั่งใจ และความยืดหยุ่นในกระบวนการคิด ซึ่งหากได้รับการส่งเสริมให้มีการพัฒนาเป็นอย่างดีในช่วงปฐมวัยแล้ว จะทำให้ทักษะสมอง EF ในภาพรวมมีการพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ ส่งผลให้เด็กมีความสามารถในการจดจำ การยับยั้งตนเองไม่ให้เข้าหาสิ่งที่ไม่ดี และรู้จักปรับเปลี่ยนรูปแบบการแก้ไขปัญหาไปตามสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงนำไปสู่การพัฒนาทักษะสมอง EF ขั้นสูงอีกต่อไปอีกด้วย