ทักษะสมอง EF เกิดขึ้นอย่างไร ในพฤติกรรมหรือกิจกรรมต่างๆในชีวิตของเราและเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ทำให้เกิดผลอย่างไร ตลอดเวลาในชีวิตของเรา ทั้งวัน ทุกวัน ไม่ว่าที่บ้าน ที่โรงเรียนหรือที่ทำงาน ทักษะสมอง EF ทำงานอยู่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนเข้านอน เช่น ตื่นเช้าทำกิจวัตร (Working Memory) ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ เลือกหยิบเสื้อผ้า (Shift) ให้เข้ากับกิจกรรม เตรียมอาหารเช้า (Plan and Organize) ต้องส่งลูกไปเรียนดนตรีก่อน ทั้งที่อยากไปตลาด (Inhibit, Shift) ขับรถด้วยสติ (Attention) วางแผนเส้นทาง (Plan) แต่รถติด ต้องเปลี่ยน (Shift) ถึงตลาดต้องจัดลำดับรายการซื้อให้ดี (Prioritize) จะได้ไม่ต้องเดินย้อนไปมา เวลามีน้อย (Time Management) ขากลับเจอรถปาดหน้า..เตือนตนเองให้ใจเย็น (Inhibit, Emotional Control) ถึงบ้าน ดีใจที่ทำภารกิจได้ครบทุกอย่าง (Self-Monitoring)
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่าในชีวิตของ เราใช้ทักษะสมอง EF คิด รู้สึก และทำ อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น หากเราต้องการใช้ทักษะสมอง EF ได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ จัดการเรื่องต่างๆในชีวิตได้ราบรื่น เราจำเป็นต้องฝึกฝน ไม่ว่าจะฝึกความยับยั้งชั่งใจ ฝึกการยืดหยุ่นพลิกแพลง ฝึกการมีสติฯลฯ อย่างไรก็ตาม แม้วัยผู้ใหญ่ยังพอฝึกฝนทักษะเหล่านี้ได้ แต่จะไม่ได้ผลดีเท่ากับฝึกเมื่อตอนเป็นเด็กปฐมวัย
“ในชีวิตประจำวันธรรมดาๆ เราใช้ทักษะสมอง EF คิด รู้สึก และทำ อยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นนอนยันเข้านอน”
“เด็กและวัยรุ่น ก่อนเป็นหนุ่มสาว ควรได้รับการฝึกทักษะสมอง EF อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง จนเกิดเป็นทักษะสมองที่คล่องตัว มีประสิทธิภาพ”