สัมพันธภาพครู-เด็ก ต้องมาก่อนการเรียนการสอน

บทที่ 2 ตอนที่ 1
สัมพันธภาพครู-เด็ก ต้องมาก่อนการเรียนการสอน

นักการศึกษาเชื่อว่า การเริ่มต้นเรียนรู้ใดๆ ก็ตามในเด็กวัย สัมพันธภาพ หรือ Relationshipระหว่างผู้สอนกับเด็ก ควรเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดเป็นอันดับแรก ไม่ใช่เฉพาะการสอนเด็กพิเศษเท่านั้นที่ต้องสร้าง Relationship ก่อน Relationship เป็นกุญแจ เป็นประตูที่จะพาเด็กเข้าสู่การเรียนรู้ และเป็นการเรียนรู้ที่มีความสุข มีความหมาย (Meaningful) กับผู้เรียน ซึ่งถ้าครูไม่เปิดประตูนี้ออกไป สมองของเด็กก็จะไม่ทำงาน ทักษะสมอง EF ไม่พัฒนา เพราะอยู่ในภาวะของความตื่นกลัว เด็กจะหดตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ที่ตัวเองรู้สึกปลอดภัยที่สุด หากความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับเด็กดีแล้ว ก็จะเกิดความวางใจต่อกัน เด็กจึงจะเปิดใจเปิดสมองเรียนรู้ใดๆ ได้ 

ทั้ง ๆ ที่หลักการทางด้านการศึกษาเป็นเช่นนี้ แต่ครูส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้นึกถึงการสร้างสัมพันธภาพเพื่อเตรียมพร้อมทางด้านอารมณ์หรือสร้างความรู้สึกที่ดีให้แก่เด็ก หากจะมีบ้าง เช่นให้เด็กนั่งสมาธิก่อนเรียน ก็ยังไปไม่ถึงหัวใจของการเตรียมความพร้อมด้านอารมณ์ให้เด็กอย่างแท้จริง

“เก็บเด็ก” ทำให้เด็กเรียนรู้ได้ดีจริงหรือ?     

คำว่า “เก็บเด็ก” ในแวดวงครูอนุบาล หมายถึง การทำให้เด็กมีความพร้อม มีสมาธิก่อนเริ่มกิจกรรมต่างๆ ในห้องเรียนปฐมวัย ซึ่งต้องใช้เทคนิควิธีการที่ดี เพราะเด็กอนุบาลกำลังเป็นวัยที่ซุกซนไม่อยู่นิ่ง ยังควบคุมตัวเองไม่ได้ การจะทำให้เด็กอยู่นิ่งก็เหมือนจับปูใส่กระด้ง และในความเป็นจริง ครูมักไม่มีวิธีการที่เหมาะสม ส่วนใหญ่ใช้การออกคำสั่งให้เด็กเงียบ ดุให้เด็กกลัว ให้นั่งนิ่ง หรือรุนแรงถึงขั้นให้เด็กอมลูกมะนาวก็มี เป็นการใช้ “อำนาจ” ในห้องเรียนเสียมากกว่า  

ครูจำนวนมากจะภูมิใจเมื่อเข้าห้องเรียนแล้วเด็กเงียบ เพราะครูติดอยู่ใน “อำนาจ” สั่งได้ สั่งแล้วมีคนทำตาม เป็นการสร้างแรงจูงใจอย่างหนึ่ง แรงจูงใจมี  3 แบบ ได้แก่ แรงจูงใจใฝ่อำนาจ แรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ และแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ครูมักใช้แรงจูงใจใฝ่อำนาจ เพราะการใช้อำนาจเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับครู เห็นผลทันที ใช้การลงโทษควบคุมเด็กซึ่งมีพื้นฐานมาจากไม่ “เคารพในความเป็นมนุษย์” ของเด็ก ไม่ได้คิดว่าจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กเสียหาย หรือเกิดผลเสียระยะยาวต่อเด็กอย่างไรบ้าง 

พบว่าครูไม่ค่อยใช้แรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ ครูควรจะ Control เด็กด้วย Relationship หรือสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูกับเด็กมากกว่า ไม่ใช่ด้วยการใช้เสียงดัง ตวาด หรือใช้กฎ ระเบียบห้อง  Relationship ต่างหากที่สามารถสยบเด็กก้าวร้าว อาละวาด ให้สงบลงได้อย่างแท้จริง เรียนรู้ต่อได้

ก่อนจะสอนต้องเริ่มสร้างสัมพันธภาพที่ดีก่อน

ครูปฐมวัยทุกคนรู้ดีว่าเด็กจะเรียนรู้ได้ดีต่อเมื่อได้เรียนรู้อย่างมีความสุข อย่างมีความหมาย แต่ครูก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดผลตามที่มุ่งหวังได้ เพราะยังใช้วิธีการเดิมๆ เช่นใช้อำนาจในห้องเรียนดังกล่าว จึงไม่เกิดผลลัพธ์ดังที่ต้องการ เพราะฉะนั้น หากต้องการให้เกิดผลที่แท้จริงและยั่งยืน ก่อนจะสอนหรือพัฒนาเด็ก ครูต้องเริ่มที่การทำให้เกิด Relationship หรือสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันก่อน แล้วจึงค่อยสอนให้เด็กเริ่มมีทักษะต่างๆ เช่น การตระหนักรู้จักตัวเอง (Self – awareness) และทักษะอื่นๆ ต่อไป


ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ปรารถนา หาญเมธี เขียน
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ