สุขภาพจิตกับทักษะสมอง EF
ในบทความก่อนหน้า หมอได้กล่าวถึงวิธีการส่งเสริมทักษะสมอง EF ในด้านต่างๆ ไว้หลายวิธี เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองได้นำไปใช้กับบุตรหลานของท่าน อย่างไรก็ดี มีอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะสมอง EF ไม่น้อย แต่มักจะไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงสักเท่าไร นั่นก็คือ สุขภาพจิต โดยในบทความนี้เราจะมาเน้นที่สุขภาพจิตกับทักษะสมอง EF กันนะครับ
เวลากล่าวถึงสุขภาพจิต ทุกท่านก็มักจะคิดไปถึงคนไข้ในโรงพยาบาลจิตเวช ไม่ว่าจะเป็นคนไข้โรคจิตเภท คนไข้โรคซึมเศร้า หรือที่ได้ยินกันบ่อยในช่วงนี้ อย่างผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว ซึ่งจริงๆ แล้ว โรคทางจิตเวชเหล่านี้ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาสุขภาพจิตเท่านั้นเอง เพราะคนทั่วๆ ไปในสังคมก็อาจจะมีปัญหาสุขภาพจิตจากความเครียดในการทำงาน หรือความวิตกกังวลต่อปัญหาปากท้องได้ ดังนั้น คำว่าสุขภาพจิตจึงไม่ได้มีความหมายถึงเฉพาะตัวโรคทางจิตเวชเท่านั้น แต่ยังมีความหมายรวมไปถึงปัญหาด้านจิตใจที่สามารถเกิดขึ้นกับคนทั่วๆ ไปในสังคม อันจะส่งผลให้เกิดความไม่สบายใจ ความวิตกกังวล หรือความเครียด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะนำไปสู่ความผิดปกติในการทำงานของสมอง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการนอนไม่หลับ และอาการป่วยทางกาย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นชั่วคราว หรือนำไปสู่ความผิดปกติในการทำงานของสมองและร่างกายในระยะยาว โดยเฉพาะการนำไปสู่การเกิดโรคทางจิตเวชจริงๆ ได้
ในวัยเด็ก เป็นที่ทราบกันดีว่า ความเครียดเรื้อรัง (Chronic Stress) ถือเป็นปัจจัยเชิงลบที่สำคัญต่อการพัฒนาของสมอง โดยมีรายงานการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า เด็กที่เติบโตในสภาวะที่มีความเครียดเรื้อรัง เช่น ภาวะขาดอาหาร หรือเด็กที่ต้องอาศัยในประเทศที่มีสงครามกลางเมือง จะมีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน และในรายที่ภาวะเครียดเรื้อรังนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรง จะทำให้เด็กเหล่านั้นมีขนาดของสมองที่เล็กกว่าเด็กวัยเดียวกันอย่างชัดเจนอีกด้วย แสดงให้เห็นว่า ความเครียดส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ซึ่งก็แน่นอนว่าทักษะสมอง EF อันเป็นรูปแบบหนึ่งของพัฒนาการทางสมองที่มีการพัฒนาเป็นอย่างมากในช่วงวัยเด็ก ก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
ดังนั้น การพัฒนาทักษะสมอง EF นอกจากการส่งเสริมองค์ประกอบของ EF ในแต่ละด้านแล้ว ยังต้องพยายามลดปัจจัยเชิงลบต่อการพัฒนาสมอง โดยเฉพาะในด้านความเครียดเรื้อรังด้วย อย่างไรก็ดี การลดความเครียดของเด็ก ไม่ได้แปลว่า ท่านต้องตามใจเด็กหรือไม่ปล่อยให้เด็กผิดหวังหรือเสียใจเลย เพราะธรรมชาติของมนุษย์เรา ก็ไม่ได้มีเฉพาะแค่เรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้น คนทุกคนจะต้องประสบกับความผิดหวัง ความเสียใจ การสูญเสียของรัก และการพลัดพราก ด้วยกันทั้งสิ้น ความเสียใจที่เด็กได้รับจะเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ทำให้ตัวเขาแข็งแกร่งขึ้นในวันข้างหน้า และเมื่อมีความทุกข์ใจเกิดขึ้น ก็ไม่ได้แปลว่า มันจะคงอยู่ตลอดไป ในวันรุ่งขึ้นทุกอย่างอาจจะดีขึ้นก็เป็นได้ จึงพอสรุปได้ว่า ความเครียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันที่เด็กต้องพบเจอ ถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ล้ำค่า ที่จะช่วยหล่อหลอมตัวเขาให้เข้มแข็งขึ้น แต่หากความเครียดดังกล่าว เกิดขึ้นอย่างยาวนานและต่อเนื่อง อันเป็นรูปแบบของความเครียดเรื้อรัง จะไม่เป็นผลดีกับตัวเด็กที่กระบวนการแก้ไขปัญหายังไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ ซึ่งตรงจุดนี้ก็เป็นหน้าที่สำคัญของท่านพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลาย ในการสอดส่องดูแลว่าบุตรหลานของท่านมีภาวะความเครียดเรื้อรังเหล่านี้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นท่าทีของเด็กที่ดูวิตกกังวล ขาดความมั่นใจในตนเอง อาการไม่สดชื่น ไม่ร่าเริงเหมือนเดิม ปัญหานอนไม่หลับ ฝันร้าย อารมณ์หงุดหงิดหรือก้าวร้าว อาการร้องไห้บ่อยครั้ง หรือการมีพัฒนาการที่ถดถอย อันหมายถึง การที่เด็กไม่สามารถทำสิ่งที่ตนเองเคยทำมาก่อนได้ เหล่านี้เป็นต้น ความพยายามในการสังเกตบุตรหลานของท่านว่ามีภาวะเครียดเรื้อรังหรือไม่ จะเป็นสิ่งสำคัญในการลดปัจจัยเชิงลบของพัฒนาการสมองและทักษะสมอง EF ซึ่งจะส่งผลให้เด็กๆ ของเราเติบโตขึ้นเป็นประชากรที่มีการพัฒนาของทักษะสมอง EF เป็นอย่างดีและมีสุขภาพจิตดีไปพร้อมๆ กันด้วย