การควบคุมอารมณ์จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเด็กรู้จักยับยั้ง (Inhibit) รู้จักหยุดคิดและควบคุมการกระทำของตัวเอง ทักษะสำคัญอีกอันที่จำเป็นต้องใช้ในการควบคุมอารมณ์ ก็คือการคิดยืดหยุ่น เปลี่ยนความคิดได้ ไม่ยึดติดความคิดเดิม
คุณครูคงต้องเผชิญกับความเจ้าอารมณ์ของเด็กบ่อยๆ และสงสัยว่าเราจะสอนเด็กเล็กให้รู้จักควบคุมอารมณ์ได้ไหม เด็กเล็กสามารถควบคุมอารมณ์ได้แล้วหรือ?
รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ยกตัวอย่างให้ดูดังนี้
เมื่อเด็กคนหนึ่งถูกเพื่อนแกล้งให้เจ็บ หากเด็กไม่มีทักษะด้านการควบคุมอารมณ์ที่ดี ก็จะตีเพื่อนให้เจ็บกลับไปเช่นเดียวกันทันที แต่ถ้าเด็กมีการควบคุมอารมณ์ที่ดีจะอาศัยทักษะด้านการยับยั้งตนเองไม่ให้โต้ตอบกลับแบบเดียวกัน
การหยุดได้นี้จึงนับเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกสุดของการที่มนุษย์เราจะรู้จักควบคุมอารมณ์ หากขาดทักษะด้านการยับยั้ง (Inhibit) เสียแล้ว การควบคุมอารมณ์ก็จะเกิดขึ้นได้ยาก
เมื่อเด็กหยุดและควบคุมการกระทำของตัวเองได้แล้วทักษะสำคัญอีกอันที่จำเป็นต้องใช้ในการควบคุมอารมณ์ ก็คือการคิดยืดหยุ่น เปลี่ยนความคิดได้ ไม่ยึดติดความคิดเดิม เช่น แทนที่จะครุ่นคิดเรื่องความโกรธที่เพื่อนทำให้เราเจ็บก็เปลี่ยนไปคิดในแง่อื่นได้
การหยุดจะช่วยให้อารมณ์โกรธเย็นลง คลายโกรธลงไปได้ และค่อยๆ คิดหาหนทางแก้ปัญหาที่ดีกว่าในระยะยาว
เหล่านี้คือทักษะ EF ด้านการยับยั้ง (Inhibit) ความจำขณะทำงาน (Working Memory) และการคิดยืดหยุ่น (Shift/Cognitive Flexibility) เด็กเล็กที่มีทักษะทั้ง 3 ด้านนี้ดีจะมีความพร้อมในการควบคุมอารมณ์ตนเอง
เราจึงควรฝึกทักษะเหล่านี้ให้เด็กตั้งแต่เล็กๆ เพื่อให้เด็กค่อยๆ มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์
“หากขาดความยับยั้งชั่งใจก็จะควบคุมอารมณ์ได้ยาก”