เทคนิควิธีส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้พัฒนาทักษะอารมณ์-สังคม

บทที่ 2 ตอนที่ 6
เทคนิควิธีส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้พัฒนาทักษะอารมณ์-สังคม

ทักษะอารมณ์และสังคมเป็นทักษะทีใช้เชื่อมโยงกับการเรียนรู้เรื่องอื่นๆ เด็กๆ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้พัฒนาอารมณ์และสังคมควบคู่ไปกับการเรียนรู้วิชาการและเรื่องอื่นๆ ด้วย จากวิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษากระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม สำหรับเด็กในช่วงรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาจากชั้นเรียนอนุบาลสู่ชั้นเรียนประถมศึกษา ปีที่ 1 ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ยศวีร์ สายฟ้า รองคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอหลักการและแนวปฏิบัติที่จะทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้พัฒนาทักษะอารมณ์ สังคม ซึ่งคุณครูสามารถนำไปใช้ได้ไม่ยาก

1. ครูเป็น “แบบอย่าง” ที่ดี

     ครูเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการควบคุมการแสดงอารมณ์ รวมถึงการยอมรับข้อผิดพลาดของตนเอง

  • ครูเป็นต้นแบบในการแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสมและปฏิบัติต่อเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม
  • ครูส่งเสริมแนวคิดการต่อต้าน (Bullying) ทั้งในและนอกห้องเรียน
  • ครูปลูกฝังให้เด็กปฏิบัติดีต่อผู้อื่น และสามารถเล่นด้วยกันได้อย่างร่วมมือ
  • ครูเป็นแบบอย่างในการยอมรับข้อผิดพลาดของตนเอง โดยสามารถกล่าวคำขอโทษเมื่อตัวเองกระทำผิด
  • ครูปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับการทำผิดพลาดว่าเป็นการเรียนรู้มากกกว่าเป็นความผิด

สิ่งที่เด็กได้เรียนรู้

        เด็กสามารถยอมรับข้อผิดพลาดของตนเอง โดยไม่แสดงความก้าวร้าวหรือยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางเมื่อทำผิด สามารถเล่นกับเพื่อต่างเพศหรือต่างห้องเรียนได้

2. ครูและเด็กมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

โดยสามารถอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดความรู้สึกของตนเองได้อย่างตรงไปตรงมา สามารถสื่อสารข้อดีและข้อควรปรับปรุงของกันและกันได้ รวมถึงให้ความเคารพและรับฟังความคิดเห็นด้วยเหตุผล

  • ครูแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อมูลป้อนกลับ (feedback) แก่เด็กอย่างสม่ำเสมอ
  • ครูและเด็กมีการพูดคุยหรืออภิปรายเกี่ยวกับความรู้สึกและอารมณ์ของเด็กในแต่ละวัน
  • ครูสนับสนุนการแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้องตามระเบียบของห้องเรียน
  • ครูสนับสนุนให้เด็กเคารพเหตุผลและการตัดสินใจของผู้อื่น

        สิ่งที่เด็กได้เรียนรู้

เด็กสามารถบอกสิ่งที่ตัวเองชอบหรือทำได้ดี  บอกความรู้สึกตนเองในแต่ละสถานการณ์  สามารถปฏิบัติตามกฎของห้องเรียนหรือโรงเรียนได้  เคารพในการตัดสินใจของผู้อื่น เช่น สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ และสามารถหาแนวทางในการเล่นด้วยวิธีอื่นเมื่อเพื่อนปฏิเสธที่จะเล่นด้วย

3. ครูจัดบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เด็กได้แสดงออกทางความคิดอย่างอิสระ

โดยสามารถอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิด ความรู้สึกของตนเองได้อย่างตรงไปตรงมา สามารถสื่อสารข้อดีและข้อควรปรับปรุงของกันและกันได้ รวมถึงให้ความเคารพและรับฟังความคิดเห็นด้วยเหตุผล

  • ครูสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นมิตร เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น โดยไม่มีการตัดสินว่าความคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกหรือผิด
  • ครูจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย และเปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลองทำกิจกรรมใหม่ๆ

สิ่งที่เด็กได้เรียนรู้

เด็กสามารถทดลองปฏิบัติในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำ  พูดสื่อสารความต้องการของตนได้

4. ครูอธิบายให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบ กติกา และสิ่งที่เด็กต้องปฏิบัติในแต่ละวัน

รวมถึงให้แนวทางหรือตัวเลือกในการทำงานและปฏิบัติตน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะเลือกปฏิบัติในสิ่งที่เหมาะสมอย่างมีประสบการณ์

  • ครูอธิบาย ทำความใจเกี่ยวกับข้อตกลง กฎ ระเบียบของห้องเรียน โรงเรียน ตั้งแต่ช่วงต้นภาคเรียน
  • ครูให้ข้อมูลว่าในแต่ละวันเด็กต้องทำสิ่งใดบ้าง เพื่อให้รู้สิ่งที่ต้องทำล่วงหน้า 
  • ครูเตรียมข้อมูลที่แสดงให้เด็กเห็นและเข้าใจสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน เช่น การติดตารางสอนให้เห็นชัดในห้องเรียน
  • ครูอธิบายและสอนให้เข้าใจถึงลักษณะการแสดงอารมณ์ที่เหมาะสม โดยยกตัวอย่างสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีในการแสดงอารมณ์ในสถานการณ์ต่างๆ
  • ครูอธิบายคำสั่งหรือสิ่งที่ต้องทำอย่างชัดเจนเป็นขั้นตอน รวมถึงบอกระยะเวลาในการทำงานแต่ละขั้น เพื่อเป็นแนวทางให้เด็กรู้ว่าควรปฏิบัติอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
  • ครูให้ตัวเลือกแก่เด็กในการทำงานหรือแสดงพฤติกรรม อธิบายข้อดี ข้อเสียของแต่ละตัวเลือก เพื่อให้เด็กมีข้อมูลในการตัดสินใจว่าจะเลือกกระทำอย่างไร

สิ่งที่เด็กได้เรียนรู้

เด็กสามารถบอกกฎระเบียบของห้องเรียน/ โรงเรียนได้ ปฏิบัติตนตามกิจวัตรประจำวันได้  ควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม  ทำงานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จ  สามารถเลือกปฏิบัติในสิ่งที่ดี

5. ครูเรียนรู้ ทำความเข้าใจลักษณะนิสัย จุดเด่น จุดด้อยของเด็กแต่ละคน

เพื่อจะได้เข้าใจความคิดและความรู้สึกของเด็กแต่ละคน รวมถึงเพื่อที่จะสามารถวิเคราะห์หาแนวทางในการพัฒนาเด็กแต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ครูใช้การสังเกตเพื่อทำความรู้จักลักษณะนิสัย และการแสดงออกขั้นพื้นฐานของเด็ก เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการอบรมเด็กที่มีการแสดงออกทางอารมณ์ต่างกัน
  • ครูทำความรู้จักข้อดีข้อเสียของเด็กแต่ละคน และส่งเสริมให้เห็นข้อดีของตนเองและผู้อื่น เพื่อให้เด็กเห็นว่าทุกคนมีข้อดี และใช้ชีวิตด้วยกันด้วยความเคารพต่อตนเองและผู้อื่น โดยความเคารพต่อตนเองและผู้อื่นเป็นสิ่งที่จะทำให้เด็กอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
  • ครูทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของเด็กในแต่ละสถานการณ์ และให้โอกาสเด็กในการสื่อความคิด หรืออธิบายสิ่งที่กำลังเผชิญ

          สิ่งที่เด็กได้เรียนรู้

          สามารถแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน สามารถบอกปัญหาที่กำลังเผชิญได้


ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ปรารถนา หาญเมธี เขียน
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ