การพัฒนาทักษะทางสังคมกับทักษะสมองส่วนหน้า EF

โดย | 17 พฤษภาคม 2022 | บทความแปล

การพัฒนาทักษะทางสังคมกับทักษะสมองส่วนหน้า EF

ทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Functions : EF) เป็นกระบวนการทำงานขั้นสูงของสมองบริเวณหลังหน้าผาก ทำหน้าที่เชิงบริหารจัดการกำกับอารมณ์ ความคิดและการกระทำ ทำให้มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคม สามารถยับยั้งการกระทำที่ไม่เหมาะสมเพื่อไปบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งจะส่งผลให้มีความสุข สุขภาพดี ประสบความสำเร็จในเรื่องที่ตั้งใจ และเมื่อล้มเหลวหรือพลาดไปก็สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ ทักษะ EF พัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงปฐมวัย ซึ่งเป็นวัยเริ่มต้นของการเรียนรู้ทักษะทางสังคมเริ่มจากการมีปฏิสัมพันธ์กับแม่หรือผู้เลี้ยงดูหลัก ทักษะทางสังคมจึงมีอิทธิพลต่อทักษะของสมองส่วนหน้าในเด็กเล็ก ในขณะเดียวกับที่เด็กเล็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาทักษะ EF ดีก็จะส่งผลต่อการเรียนรู้ทักษะทางสังคมทำให้ทีความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างดีและมีความสุข

ทักษะทางสังคมที่พ่อแม่สอนแก่ลูกผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กัน มีความสัมพันธ์ผูกพันระหว่างกันและกัน มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของทักษะสมอง EF และ IQ ของเด็ก การเลี้ยงดูลูกที่แตกต่างกันล้วนมีผลต่อทักษะสมองส่วนหน้า (EF) การเลี้ยงดูแบบสนับสนุน ส่งเสริมลูก โดยพ่อแม่ทำตัวเป็น “นั่งร้าน” ให้ลูกได้ทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง การยอมรับในตัวตนของลูก และการให้อิสระในการตัดสินใจในเรื่องที่ลูกสามารถทำได้ ล้วนเป็นการกระทำที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะ EF ของเด็ก งานวิจัยของ Landry และคณะในปี 2002 แสดงให้เห็นว่า แม่ที่ตั้งไจฟังในสิ่งที่ลูกพูด สนับสนุน ชมเชย ให้กำลังใจลูก ผ่านการพูดและการกระทำ ส่งผลต่อทักษะสมอง EF ของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทักษะการแก้ปัญหาด้วยการพูดหรือการแสดงท่าทางซึ่งเป็น อวัจนภาษา ที่เด็กสื่อสารออกมาให้ผู้อื่นรับรู้ และยังมีงานวิจัยอื่นๆที่แสดงให้เห็นว่าแม่ที่อ่านความต้องการของลูกและตอบสนองได้อย่างเหมาะสมอ่อนโยนส่งผลดีต่อทักษะความจำเพื่อใช้งานของเด็ก เด็กเล็กๆเรียนรู้ทักษะทางสังคมและทักษะสมอง EF ผ่านการเลียนแบบ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญของเด็กปฐมวัยและเรียนรู้ผ่านการดูผู้อื่นแล้วทำตามนั้นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะ EF ในช่วงที่เด็กยังเล็กเป็นอย่างมาก

ในการเลี้ยงดูที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีความสัมพันธ์เชิงลบกับเด็ก อบรมสั่งสอนลูกผ่านการบีบบังคับและลงโทษ มีอิทธิพลที่ทำให้การพัฒนาทักษะสมอง EF ของเด็กไม่ดีและนำไปสู่พฤติกรรมเชิงลบของเด็ก ที่ถูกควบคุมบังคับ และเลียนแบบการกระทำของพ่อแม่ ความสัมพันธ์เชิงลบของพ่อแม่ที่มีต่อเด็ก ทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องทักษะยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control)

ตอนเป็นเด็กเล็ก เด็กเรียนรู้ทักษะทางสังคมจากสิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ปฏิบัติต่อตนและผู้อื่นให้เห็นและเด็กเลียนแบบตามอย่าง เด็กทารกจะมองหน้าพ่อแม่หรือคนเลี้ยงดูหลักและพยายามจะเลียนแบบสีหน้าของอีกฝ่าย การเลียนแบบนี้พัฒนาไปสู่การเรียนรู้และทำความเข้าใจ นอกจากนี้ การทำกิจวัตรประจำวันร่วมกันของคนในบ้าน การเล่นกับพ่อแม่ การฟังนิทาน การเล่นบทบาทสมมติ การเล่นกับผู้อื่นและการทำตามกติกา ล้วนมีส่วนทำให้เด็กเรียนรู้ทักษะทางสังคม

เมื่อพัฒนาการตามวัยเติบโตขึ้นเข้าสู่ช่วงชั้นประถม การได้มีโอกาส “ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน” มีความสำคัญต่อพัฒนาการช่วงนี้ ที่เด็กก้าวออกมาจากอกพ่อแม่ เริ่มเรียนรู้ให้ความสำคัญกับการมีเพื่อน การได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนคนอื่นๆ ได้แลกเปลี่ยนความรู้สึก บอกเล่ามุมมองของตน ซึ่งเด็กแต่ละคนมักมีมุมมองที่แตกต่างกันไป รวมถึงมีความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่มีวิธีการทำงานที่ครูกำหนดให้ต่างกัน ในสถานการณ์ที่มีความแตกต่างนั้นมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ทำให้เด็กได้มีโอกาสในการฝึกฝนการรับฟังมุมมองที่ต่างกันของผู้อื่น และต้องหาทางประนีประนอมหรือหาทางออกจากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ได้ประสบการณ์ทั้งทะเลาะกัน หาทางเอาชนะกัน คืนดีกัน ขอโทษกัน หาทางออกใหม่ๆ ร่วมกัน ทำให้กระบวนการทำงานขั้นสูงของสมอง คือทักษะ EF ในการกำกับอารมณ์ ความคิด และการกระทำ ถูกดึงมาใช้งานและพัฒนาต่อ      

การทำงานร่วมกันกับผู้อื่นในวัยประถมมักเป็นงานที่ได้รับมอบหมายจากครูหรือผู้ใหญ่ เด็กได้เรียนรู้ว่า เป้าหมายของงานคืออะไร และโจทก์คือจะต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อไปถึงเป้าหมายนั้นอย่างไร นำไปสู่การนำเอาทักษะต่างๆ ของสมองส่วนหน้า EF มาใช้ในการกำกับควบคุมอารมณ์ตนเอง ยั้งพฤติกรรมหรือวาจาที่จะไปทำร้ายหรือกระทบกระทั่งเพื่อน ต้องร่วมกันในการวางแผนจากความคิดที่หลากหลาย ต้องประเมินตนเอง ประเมินเพื่อน รักษาความสัมพันธ์ เป็นการปั่นให้ทักษะสมองส่วนหน้าไม่ว่าจะเป็นทักษะพื้นฐาน ทักษะกำกับตนเอง และทักษะปฏิบัติได้ทำงาน การเรียนหนังสือแบบที่ให้เด็กนั่งฟังและจด แล้วต่างคนต่างตอบข้อสอบแข่งกัน ทำให้เด็กพลาดโอกาสฝึกทักษะสังคมในช่วงพัฒนาการที่สำคัญที่สุดของชีวิตในการสร้างเพื่อนและเครือข่าย

การพัฒนาทักษะทางสังคมของเด็กพัฒนาได้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ทักษะทางสังคมไม่สามารถพัฒนาขึ้นมากับการมีปฏิสัมพันธ์กับหุ่นยนต์หรือคอมพิวเตอร์ อีกทั้งวัฒนธรรมของแต่ละสังคมล้วนมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ระหว่างทักษะสมองส่วนหน้า EF กับการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของเด็กกับผู้อื่น อีกทั้งงานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า ทักษะสมองส่วนหน้า EF มีความสัมพันธ์กับ “ทฤษฎีทางจิต” อย่างมีนัยยะสำคัญ “ทฤษฎีทางจิต”(Theory of mind: ToM) เป็นความสามารถในการทำความเข้าใจจิตใจของผู้อื่น ว่ามีความเชื่อ ความต้องการ และความตั้งใจต่างไปจากตน เป็นทักษะที่จำเป็นในการเข้าสังคมทำให้เราสามารถตอบสนองต่อความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมของผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม ซึ่งความสามารถเช่นว่านี้บกพร่องในคนที่เป็นออทิสติก สมาธิสั้น หรือจิตเภท

ในเด็กที่ยังเล็กมากในอายุราวหนึ่งถึงสองปียังไม่มีความเข้าใจความต้องการของผู้อื่น จะสังเกตได้จากการที่เด็กมักจะนำสิ่งที่ตนอยากได้มาให้คนอื่น นักจิตวิทยาอธิบายว่าการที่เด็กทำเช่นนี้เพราะเด็กคิดว่าคนอื่นนั้นคิดเช่นเดียวกับที่ตนคิด พัฒนาการของ Theory of Mind เห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่อเด็กอายุสี่ถึงห้าขวบ เด็กเริ่มมีความเข้าใจความต้องการของผู้อื่น เช่น เด็กจะรู้ว่า แม้ว่าตนเองชอบไอศกรีมรสส้มแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าน้องของตนจะชอบไอศกรีมรสเดียวกัน ความสามารถในการเรียนรู้และเข้าใจว่าทำไมผู้อื่นจึงคิดเช่นนั้นและเราจะตอบสนองอย่างไรดีพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในเด็กวัย 6-8 ปี เด็กสามารถเข้าใจได้ว่าคนอื่นเข้าใจผิดได้และเข้าใจว่าผู้อื่นซ่อนความรู้สึกได้ นั่นหมายความว่าเด็กสามารถอ่านความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ภายใต้การแสดงออกที่ตรงข้ามกับความรู้สึกนั้น ความเข้าใจอีกเช่นที่ว่านี้ช่วยให้เด็กสามารถแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ตอบสนองผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม จากผลการวิจัยที่มีการติดตามในระยะยาวแสดงให้เห็นว่า ทักษะสมองส่วนหน้าในระยะแรกของชีวิต จะบอกได้ถึงความสามารถในการเข้าใจผู้อื่นเมื่อโตขึ้น เช่น มีทักษะ EF อย่างไรในตอนอายุราวสองขวบสามารถทำนาย ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น (Theory of mind: ToM) ในตอนที่อายุมากขึ้น เช่น ตอนอายุราว 3 ขวบได้

มีการทดลองในเด็กอายุ 3-8 ขวบ โดยปล่อยเด็กให้อยู่กับของเล่นตามลำพัง หลังจากที่ผู้ใหญ่ออกไปแล้ว โดยห้ามไม่ให้เด็กแอบดูของเล่น เมื่อผู้ใหญ่กลับมาแล้วถามว่า ได้แอบดูของเล่นหรือไม่ด้วยคำถามสองข้อคือ ข้อที่หนึ่งเด็กแอบดูของเล่นหรือไม่ ข้อที่สองของเล่นนั้นคืออะไร จากผลการวิจัยพบว่า เด็กที่ทำคะแนนการทดสอบทักษะ EF ด้วย Day-Night Stroop ได้ดีกว่ามักจะพูดโกหกมากกว่า อย่างไรก็ตามในงานวิจัยอื่นๆ พบว่า ทักษะสมองส่วนหน้า EF ที่ได้รับการพัฒนาทำให้เกิดการพัฒนาพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรม การฝึกฝนทักษะ EF  ทำให้เด็กมีความสามารถควบคุมตนเอง ชะลอความพึงพอใจหรือยั้ง หยุด กิจกรรมที่ตนชอบ แล้วไปทำสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์หรือพาไปสู่เป้าหมายได้  เด็กสามารถควบคุมตนเองได้ในวัยเตาะแตะและก่อนวัยเรียนเป็นการพัฒนามโนธรรมตั้งแต่อายุยังน้อย โดยดูได้จากการที่เด็กสามารถระงับพฤติกรรมที่เอาแต่ใจตนเองได้ตั้งแต่ยังเล็ก

ผลงานวิจัยหลายโครงการในปัจจุบัน ได้แสดงให้เห็นว่า ความสามารถในการควบคุมตนเองและการพัฒนาทักษะ EF ตั้งแต่เด็กยังเล็ก สามารถทำนายความสำเร็จในการเรียนและสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจเมื่อตอนโตเป็นผู้ใหญ่ของเด็กได้

ปัจจุบันมีหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะ EF ของเด็ก และมีหลายหลักสูตรที่พัฒนาทักษะ EF โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่อย่างไรก็ตาม นักวิชาการมีข้อเสนอแนะว่า การพัฒนาทักษะ EF ที่เด็กได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมีประโยชน์มากกว่าการพัฒนา EF โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งต่างจากการพัฒนาทักษะ EF ผ่าน “การเล่นเกมเป็นกลุ่ม” นั้นสามารถพัฒนาทักษะเชิงบริหารจัดการของสมองส่วนหน้า ในเรื่องทักษะยังคิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control) การควบคุมกำกับตนเอง (Self-Regulation) และทักษะยืดหยุ่นความคิด (Cognitive Flexibility) ให้แข็งแรงขึ้น ทำให้ทักษะทางสังคมของเด็กก่อนวัยเรียนพัฒนาขึ้น มีพฤติกรรมทางสังคมที่เหมาะสม สามารถหยุดยั้งพฤติกรรมก้าวร้าวได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

อ้างอิง
Yusuke Moriguchi, The early development of executive function and its relation to social interaction: a brief review, https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fpsyg.2014.00388/full, 29 April 2014
Alvin I. Goldman, Theory of Mind, https://fas-philosophy.rutgers.edu/goldman/Theory%20of%20Mind%20_Oxford%20Handbook_.pdf.pdf สืบค้น 10 เมย.2565
Malahat Amani and team, The Effect of Strengthening Executive Functions Through Group Games on the Social Skills of Preschool Children, https://www.liebertpub.com/doi/full/10.1089/g4h.2018.0052, 10 Jun 2019