EF ดี : “ยั้ง” ได้เพราะไตร่ตรอง ใช่ถูกบังคับ

โดย | 19 พฤษภาคม 2022 | บทความแปล

EF ดี : “ยั้ง” ได้เพราะไตร่ตรอง ใช่ถูกบังคับ

ทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Function: EF) พื้นฐานที่สำคัญยิ่งทักษะหนึ่งคือ ทักษะยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control) อันเป็นความสามารถในการหยุดหรือยั้งความคิด ความสามารถนี้เกิดขึ้นและพัฒนาตั้งแต่ช่วงแรกเกิดของชีวิต ความสามารถในการยั้ง หยุดและความจำเพื่อใช้งานเป็นทักษะฐานรากที่ช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะยืดหยุ่นความคิด เมื่อโตขึ้น การยั้งหรือหยุดเกิดขึ้นได้ทั้งแบบที่เด็กสามารถหยุดยั้งตัวเองได้ด้วยตนเองตั้งแต่แบเบาะ เช่น ร้องไห้เพราะหิวนม พอได้ยินเสียงแม่บอกว่า รอเดี๋ยวนะลูก เด็กก็เริ่มแสดงอาการพยายามหยุดร้อง และรอให้แม่เอาเข้าเต้า หรือเอานมมาให้ แต่ก็มีการหยุดจากการที่ถูกบังคับให้หยุด ไม่หยุดจะถูกทำโทษ ถูกทำร้าย หรือถูกทำให้หยุดด้วยความกลัว กลัวว่าจะไม่รัก กลัวว่าจะถูกทำโทษ รวมถึงเด็กที่ถูกเลี้ยงมาแบบเข้มงวด ทำอย่างนี้ไม่ได้ ทำอย่างนั้นไม่ถูก ก็จะมีทักษะที่หยุด ยั้ง ไม่ออกนอกกรอบเช่นกัน

แต่เด็กที่ถูกเลี้ยงดูด้วยความเข้มงวด ถูกจำกัดไม่ให้มีอิสระ ส่งผลกระทบไปถึงบุคลิกภาพในวัยผู้ใหญ่ ให้เป็นคนที่ระมัดระวัง หวาดกลัว และหลบเลี่ยงที่จะพบหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่คุ้นเคย จากการวิจัยพบว่าเด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงมากขึ้น 4- 6 เท่า ที่จะมีปัญหาเรื่องความวิตกกังวลและซึมเศร้า มีการสำรวจพบว่า  40% ของเด็กที่ถูกเลี้ยงดูด้วยความเข้มงวดนำไปสู่ความผิดปกติดังที่กล่าวมาได้ในวัยผู้ใหญ่อันเป็นช่วงชีวิตที่มีความท้าทายมากกว่าในช่วงที่ยังเล็ก ในวัยผู้ใหญ่มีเรื่องเป้าหมายที่ต้องการไปถึง ความเป็นอิสระทางด้านการเงิน และความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบที่ชีวิตของผู้ใหญ่คนหนึ่งต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในที่ทำงานซึ่งมีทั้งเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า ฯลฯ การมีคนรัก การมีครอบครัว มีลูก เป็นต้น การอยู่แต่ในกรอบ หยุด ยั้ง ไม่กล้าทำอะไรด้วยตัวเองหากไม่ได้รับอนุญาต ในตอนเป็นเด็กพ่อแม่อาจสบายใจที่ลูกเรียบร้อย แต่เมื่อต้องรับผิดชอบชีวิตของตนเอง สมองที่ไม่เคยได้รับประสบการณ์การฝึกฝนให้คิดและทำด้วยตนเองมาก่อน ก็เหมือนขาที่ไม่เคยออกเดิน ก็ป้อแป้เดินเองไม่ได้ สมองก็เช่นกัน เมื่อถึงเวลานั้นเมื่อไม่สามารถคิดเองทำเองได้ ชีวิตก็ลำบาก หรืออาจเจอวิกฤติ และไม่สามารถแก้ได้

โดยทั่วไปแล้ว แม้ว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงมาอย่างเข้มงวดจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในสังคม แต่การศึกษาระยะยาวเกี่ยวกับปัญหาทางอารมณ์ ว่าความเข้มงวดส่งผลลัพธ์ระยะยาวในชีวิตอย่างไร โดยติดตามกลุ่มที่เข้าร่วมงานวิจัยตั้งแต่ยังเป็นเด็กไปจนถึงวัยที่เป็นผู้ใหญ่ พบว่าช่วงที่เด็กอายุ 3 ขวบถูกเลี้ยงอย่างเข้มงวดมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นเมื่ออายุราว 21 ปี และในการศึกษาที่เมืองมิวนิคในประเทศเยอรมันนีพบว่า เด็กเหล่านี้เมื่อเติบโตขึ้นไปจนจบการศึกษาและต้องออกทำงานในราวอายุประมาณ 23 ปี จะใช้เวลานานกว่าในการเปลี่ยนบทบาทตนเอง การมีคนรักที่มั่นคงและแยกตัวออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านพ่อแม่ นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กที่ถูกเลี้ยงอย่างเข้มงวดในช่วงอายุราว 8-12 ปีนั้น เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นอายุราว 17-24 ปีมีแนวโน้มเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมน้อยกว่า มีความกระตือรือร้นน้อยกว่า ตั้งตัว แต่งงาน มีลูกช้า และมีความเสี่ยงที่จะเสพยา

การเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดเป็นการควบคุมหรือบังคับให้เด็กทำตามที่ผู้ใหญ่บอก สอน หรือต้องการให้ทำตาม ต่างจากการที่ควบคุมกำกับตนเองที่เด็กใช้ทักษะของสมองส่วนหน้า (Executive Function: EF) มาทำหน้าที่กำกับพฤติกรรมของตนด้วยตนเอง ความสามารถในการยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control) เป็นความสามารถในการยับยั้งหรือระงับความสนใจของตนเองอย่างจริงจัง และตอบสนองต่อสิ่งเร้าโดยอัตโนมัติ เช่น การไม่สนใจสิ่งเร้าจากภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตนกำลังทำอยู่ ไม่สนใจสิ่งที่กวนสมาธิอยู่ หรือการยั้งตัวเองไม่ให้แสดงอาการที่ไม่เหมาะสมออกไป รวมไปถึงความสามารถในการชะลอความพึงพอใจ  คนที่มีปัญหาเรื่องการยั้งคิด ไตร่ตรอง (Inhibitory Control) จะมีพฤติกรรมที่วอกแวก หุนหันพลันแล่น ถูกกระตุ้นโดยสิ่งเร้าได้ง่าย ซึ่งพบได้มากในเด็กกลุ่มสมาธิสั้น

ทักษะยั้งคิดไตร่ตรองในสมองส่วนหน้าทำหน้าที่กำกับพฤติกรรมยับยั้งชั่งใจ ควบคุมตนเอง เอาชนะการกระตุ้นต่างๆ ไม่ตามใจตนเอง เช่น ไม่โพล่งพูดแทรกระหว่างที่ผู้อื่นคุยกัน ซึ่งเป็นทักษะที่ยากและท้าทายสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนซึ่งเป็นช่วงวัยที่การเชื่อมต่อของสมองเพิ่งเริ่มต้น และเป็นมารยาททางสังคมที่เด็กเล็กทุกคนต้องได้รับการฝึกฝน  เด็กที่ยังเล็กนั้นถือเอาผลประโยชน์ คือ ความพึงพอใจเฉพาะหน้าทันทีของตนเป็นหลักมากกว่าประโยชน์ในระยะยาวที่จะได้จากการรอ แต่เมื่อโตขึ้นการเรียนรู้และความสามารถในทักษะนี้จะค่อยพัฒนาขึ้นตาม

ทักษะการยับยั้งชั่งใจที่เกิดจากการฝึกฝนจนกลายเป็นนิสัย ไม่ใช่จากการถูกบังคับ ส่งผลระยะยาวต่อชีวิตของเด็กในทางตรงกันข้ามกับการควบคุมบังคับเด็กด้วยความเข้มงวด มีการศึกษาพบว่า เด็กอายุ 3-11 ปีที่มีทักษะยั้งคิดไตร่ตรองจะเติบโตมาเป็นคนที่มีสุขภาพดี มีความสุขมากกว่า และมีรายได้ดีกว่าเด็กที่ไม่มีการยั้งคิดไตร่ตรองในการทำสิ่งต่างๆ

การยั้งคิดไตร่ตรอง (inhibitory Control) ช่วยให้คนมีความสามารถในการเลือกว่าจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่อยู่ตรงหน้า และมีพฤติกรรมอย่างไร เพื่อไปสู่เป้าหมายในระยะยาว ตัวอย่างเช่น ในฐานะนักวิ่งมาราธอนที่มีเป้าหมายชัดเจนในการลงสนามแข่งขันที่จะไปถึงเป้าหมายตามเวลาที่ตั้งไว้ ต้องเสียสละที่จะไม่ทำตามใจตนเองหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ต้องนอนตั้งแต่หัวค่ำ ไม่สามารถไปเที่ยวกับเพื่อนหรือดูหนังได้ดึกดื่น ต้องตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อฝึกซ้อม  ต้องกินอาหารที่มีคุณค่าตามโภชนาการ ไม่สามารถตามใจปากที่อาจอยากกินของหวาน หรือน้ำอัดลมซึ่งทั้งหมดนี้ตอบสนองความพึงพอใจหรือความสุขเฉพาะหน้า นักวิ่งมาราธอนต้องยั้งตัวเองจากการเลือกที่จะให้สิ่งที่ตนเองพึงพอใจทันที เพื่อให้ในระยะยาวได้รางวัลที่ใหญ่กว่าคือ ชัยชนะจากการวิ่งได้ตามเป้าหมายที่กำหนด

ในชีวิตจริงของคนเราทุกๆวัน ทักษะยั้งคิดไตร่ตรอง เป็นทักษะที่ถูกฝึกและถูกใช้เกือบตลอดเวลา เพื่อทำให้ชีวิตในภาพรวมระยะยาวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนรู้ การทำงาน คุณภาพของชีวิต สุขภาพ การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น การรักษาสัมพันธภาพ ความสุข และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ในสังคมของการเคารพกันและกัน  ตลอดวันที่เราดำรงชีวิตอยู่ เราใช้ทักษะยั้งคิดไตร่ตรอง ตั้งแต่รอให้น้ำเดือดก่อนจึงจะนำมาชงกาแฟ  อดใจไว้ไม่ตอบโต้หรือด่าคนที่ใช้คำพูดที่ไม่เข้าหูไปในทันที เราทำงานได้ดีขึ้นรอบคอบและมีประสิทธิภาพน่าเชื่อถือมากขึ้น เมื่อเราไม่รีบกระโดดเข้าไปหาข้อสรุปก่อนที่จะสำรวจข้อเท็จจริงทั้งหมด ไม่รีบด่วนสรุปกับคำตอบแรกที่ผุดขึ้นในใจ แต่ไตร่ตรอง ยั้งคิดก่อน ทบทวนก่อนเพื่อให้งานดีขึ้น  ความเข้าใจต่อผู้อื่นดีขึ้น เราอดใจไว้ไม่กินต่อหลังจากรู้สึกอิ่มแล้ว เพื่อรักษาน้ำหนักให้คงที่ ไม่กินขนมหวานที่อยู่ตรงหน้าโดยไม่คิดถึงผลที่ตามมาจนกลายเป็นปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน หรืออดออมเงินที่หามาได้ ไม่เอาไปใช้ตามใจ เพื่อรวบรวมเป็นก้อนใหญ่ไว้ซื้อบ้าน ฯลฯ

แต่การฝึกทักษะยั้งคิดไตร่ตรองให้กับเด็กที่เราดูแล ไม่ว่าบทบาทของเราจะเป็น พ่อแม่ ครู ปูย่าตายาย บทบาทของเราไม่ใช่การบังคับ ห้าม ดุ ด่า หรือทำโทษ เพื่อให้เด็กยั้ง หยุดการกระทำเชิงลบ แต่บทบาทของผู้ใหญ่ทุกคนในการหนุนช่วยเด็กให้มีทักษะยั้งคิดไตร่ตรอง คือการทำตัวเป็นเหมือน “นั่งร้าน” ให้โอกาสทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งคำถาม อยู่เคียงข้าง เป็นฐานทางใจ ให้เด็กได้มีโอกาส ตัดสินใจที่จะหยุด ยั้ง  ฝึกฝนทักษะสมองนี้อย่างจริงจัง ด้วยการให้เด็กได้เป็นผู้ตั้งเป้าหมาย เป็นผู้เลือก ตัดสินใจเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ทำงาน (เล่น) บางอย่างที่ท้าทาย เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ด้วยตนเอง

ทักษะยั้งคิดไตร่ตรองจะเกิดขึ้นด้วยตัวเขาเอง ในระหว่างทางที่เขากำลังแก้ปัญหา อดทน มุมานะ พยายามไปให้เป้าหมายที่เขาอยากไปให้ถึง


อ้างอิง
• Alva Tang, Haley Crawford, Infant behavioral inhibition predicts personality and social outcomes three decades later, https://www.pnas.org/doi/10.1073/pnas.1917376117, April 20, 2020