กิจกรรมฝึกฝน EF ในเด็กวัย 18-36 เดือน

โดย | 19 พฤษภาคม 2022 | บทความแปล

กิจกรรมฝึกฝน EF ในเด็กวัย 18-36 เดือน

เด็กวัยขวบครึ่งเริ่มพูดได้ไปจนถึงอายุ 3 ขวบ (18-36 เดือน) เป็นช่วงเวลาที่การพัฒนาการด้านภาษาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ภาษาจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Function: EF) และการควบคุมตนเอง ภาษาเป็นเครื่องมือที่ทำให้เด็กได้สะท้อนความคิดและการกระทำของตนเอง วางแผนการทำสิ่งต่างๆในสมอง และยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้เด็กสามารถไปเข้าใจและสามารถทำตามกฎเกณฑ์ที่ซับซ้อนขึ้นได้ ในช่วงวัยนี้ หากครอบครัวใดที่พ่อแม่มาจากครอบครัวที่ใช้ภาษาต่างกัน หรือสามารถใช้ภาษากับลูกทั้ง 2 ภาษาเป็นเรื่องดีที่จะใช้ประโยชน์จากภาษาที่แตกต่างกันในการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า

          เมื่อเด็กเริ่มหัดเดิน เป็นพัฒนาการทางร่างกายที่แสดงให้เห็นว่ากล้ามเนื้อขาและข้อต่อแข็งแรง ทำให้เด็กเป็นอิสระสามารถไปไหนมาไหนได้ด้วยตนเอง เด็กวัยนี้จึงต้องการสำรวจและทำกิจกรรมทางกายที่ท้าทายมากขึ้น ลองทำสิ่งใหม่ๆเพื่อเรียนรู้ แม้บางครั้งทำแล้วทำสำเร็จ บางครั้งทำไม่สำเร็จ แต่เด็กก็จะอยากลองอีก ทำซ้ำอีก ผู้ใหญ่จะเริ่มรู้สึกและพูดว่า เด็กเริ่มซนแล้ว การอยากลองใช้พลังกำลังของร่างกายเล่นโน้น ลองนี่ เป็นกระบวนการเรียนรู้  กิจกรรมส่งเสริมทักษะ EF ในช่วงวัยนี้ สามารถทำได้ด้วยการส่งเสริมให้เด็กวัยหัดเดินมีสมาธิและจดจ่อกับเป้าหมาย มีความสามารถในการยับยั้งการกระทำที่ไม่จำเป็นและไม่เกิดผลดี พ่อแม่ คนเลี้ยง ผู้ใหญ่ในบ้านหรือครูผู้ดูแลเด็ก นอกจากให้ความรัก ความเอาใจใส่ สร้างความผูกพันไว้ใจ ดูแลอาหารการกินให้มีประโยชน์ พอดีและตรงเวลา ให้เด็กได้มีเวลานอนที่พอเพียง ดูแลพื้นที่และสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยสำหรับเด็กได้ออกสำรวจโลกใบเล็กทั้งที่บ้านหรือศูนย์รับเลี้ยงเด็ก การทำกิจกรรมร่วมกันกับเด็กขวบครึ่งถึงสามขวบให้สนุกและท้าทายตามวัยยังคงเป็นเรื่องที่ต้องทำซ้ำๆให้เซลล์สมองเชื่อมต่อกันอย่างแข็งแรงเป็นวงจรประสาทที่มีคุณภาพนั้น เป็นเรื่องที่สามารถทำได้หลายหลากวิธี เช่น

          หาอุปกรณ์และสร้างโอกาสให้เด็กลองใช้ทักษะร่างกายหลายอย่างให้แข็งแรง เช่น หาลูกบอลขนาดพอเหมาะกับที่เด็กจับได้ ไม่เล็กเกินไป ไม่หนักเกินไป (ลูกบาสหนักไปสำหรับเด็กวัยนี้) ให้เด็กได้ขว้าง ไล่จับลูกบอลหรือเตะ (เด็กมักเตะไม่ได้แต่ก็ชอบที่จะลองเรื่อยๆ) ศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้านหรือโรงเรียนอนุบาลมีคานไม้ให้เด็กหัดเดินทรงตัว มีทางลาดให้เด็กได้วิ่งขึ้นลง หรือมีจุดสัญลักษณ์ตามแต่จะสร้างสรรค์ให้เด็กเล่นกระโดด และวิ่ง ในระหว่างที่เด็กๆเล่นอุปกรณ์ง่ายๆเหล่านี้ นอกจากร่างกายของเด็กแข็งแรงขึ้น ในระหว่างการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการขว้างลูกบอล เดินอย่างระมัดระวังบนคานไม้ หรือกระโดดทำท่าต่างๆไปตามจุดสัญลักษณ์นั้น เซลล์สมองที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทำงานเชื่อมต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นเซลล์ในสมองส่วนที่กำกับดูแลเรื่องการเคลื่อนไหว สายตา ฯลฯ และทักษะเชิงบริหารในสมองส่วนหน้า (Executive Functions: EF) ตั้งแต่ทักษะพื้นฐาน ความจำเพื่อใช้งาน ในการจำกฎง่ายๆ เพื่อปฏิบัติตาม การฝึกฝนทักษะการยั้ง หยุด เช่น  การผลัดกันกระโดดหรือ วิ่งหรือถอยหลังเข้าเส้นชัย เป็นต้น

          การทำท่าง่ายๆ ตามเพลงซึ่งเด็กๆ มักได้เรียนรู้ในโรงเรียนอนุบาลและศูนย์เด็กเล็ก พ่อแม่และผู้ปกครองสามารถนำมาใช้ที่บ้าน ในขณะที่เด็กเลียนแบบท่าทางประกอบเพลงเหล่านี้ ทักษะจำเพื่อใช้งานกำลังฝึกฝนอย่างหนักในการจำลำดับท่าทางให้ตรงกับเสียงและจังหวะของเพลง ในการควบคุมตนเอง สมองเด็กกำลังฝึกฝนการจดจ่อใส่ใจ ควบคุมอารมณ์ตนเองให้ไม่วอกแวก หรือหงุดหงิดเมื่อทำไม่ได้ ในขณะที่พยายามทำให้ได้ตาม ทัน พอดีกับเพื่อนนั้นสมองต้องประเมินตลอดเวลา ทำช้าไป เร็วไป ต้องปรับให้ทันพอดีกับคนอื่นนั้นเป็นโอกาสอันสำคัญในนาทีต่อนาที ที่ทักษะยั้งคิดไตร่ตรองและทักษะยืดหยุ่นความคิดทำงานสอดประสานกัน เพื่อไปสู่เป้าหมายคือการทำท่าทางประกอบเพลงจนเพลงจบลงได้สำเร็จ เพลงที่สนุกสนานการได้เล่นกับพ่อแม่ที่ตนรัก เป็นความสุขและสนุกสนานสำหรับเด็กในการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า เพื่อจะนำไปสู่ความสามารถในการยั้งอารมณ์ ยั้งคิด และยั้งพฤติกรรมในสถานการณ์ที่ยากขึ้น ไม่สนุก หรืออาจนำไปสู่อันตรายในอนาคตได้

          เด็กในวัยนี้สนุกไปกับการได้ฝึกทักษะยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control) ผ่านการเต้นรำกระด้าง ที่ผู้ใหญ่หรือครูหยุดร้องเพลงกระทันหันโดยไม่บอกล่วงหน้า เมื่อเพลงหยุดทุกคนต้องหยุดอยู่ในท่านั้น เมื่อเสียงเพลงขึ้นใหม่ก็เต้นต่อไปได้ กิจกรรมนี้ก็สามารถทำได้ทั้งที่โรงเรียนและบ้าน เพลงที่ใช้ในการประกอบท่าทางที่ไพเราะ มีคำคล้องจอง สัมผัสง่ายๆ ช่วยให้เด็กได้มีความรุ่มรวยทางภาษา เลือกเพลงหลากหลายจังหวะ เพื่อให้ทักษะสมองของเด็กได้ประสบการณ์ที่หลากหลายและสนุก ง่ายและสั้นๆ เพื่อดึงความสนใจของเด็ก แต่หากเด็กชอบเพลงใดเพลงหนึ่งอยู่เพลงเดียว ก็ไม่จำเป็นต้องฝืนใจเด็ก หลักการคือ พ่อแม่ ครู มีหน้าที่เสนอไม่บังคับ และสอนให้เด็กร้องเพลงเพื่อเด็กจะได้พัฒนาการออกเสียง หากเป็นเพลงที่สอนให้เด็กทำกิจวัตร หรือวิธีปฏิบัติตัวก็จะทำให้เด็กได้เรียนรู้แนวทางในการปฏิบัติตัวในชีวิตปประจำวันไปด้วย การเล่นนิ้วและทำมือประกอบเพลงยังเป็นที่ชื่นชอบของเด็กวัยนี้ที่สามารถบังคับกล้ามเนื้อนิ้วได้ดีขึ้น ใช้นิ้วทำสัญลักษณ์ได้ดีขึ้น เช่น ชู สอง สาม สี่ นิ้วได้ เอาสองมือประกอบกันเป็นรูปหัวใจ หรือทำมินิฮาร์ตได้ เป็นต้น

          ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า เด็กวัยตั้งแต่ขวบครึ่งถึงสามขวบเป็นวัยหัดพูด การคุยกันและการให้เด็กเล่าเรื่องง่ายๆ เป็นการฝึกทักษะสมองส่วนหน้า (EF) ได้เป็นอย่างดี เวลาที่พ่อแม่และผู้ปกครองที่บ้านเฝ้ามองดูเด็กเล่น แล้วพูดบอกสิ่งที่เด็กทำ เป็นการช่วยให้เด็กเข้าใจการใช้ภาษาอธิบายสิ่งที่ตนทำ เมื่อเด็กโตขึ้นมาหน่อย คำถามของพ่อแม่ช่วยพัฒนาสมองของลูกได้ผ่านคำถามง่ายๆ ว่า “แล้วลูกจะทำอะไรต่อ?” หรืออาจเป็นคำถามชวนคิดง่ายๆ ให้เด็กได้ลองคิดในมุมอื่น เช่น “แม่เห็นว่าหนูจะดึงของเล่นออกจากถุง มีวิธีไหนอื่นอีกไหม ลองบอกแม่หน่อย” แต่อย่าคาดคั้นหากเด็กไม่ยอมตอบ คิดได้แบบเดียวหรือคิดไม่ได้ พ่อแม่ ผู้ใหญ่ให้ทำหน้าที่หยอดคำถามและมุมมองง่ายๆ ไปเรื่อยๆ เป็นการช่วยให้เด็กได้หยุดที่จะสะท้อนสิ่งที่ตนเองกำลังคิด กำลังทำ หรือกำลังวางแผนที่จะทำต่อไป

          ให้เด็กเล่าเรื่องที่ตนเจอหรือได้ทำในแต่ละวันให้ฟัง เป็นการช่วยทำให้ทักษะความจำเพื่อใช้งานได้ฝึกฝน ในการลำดับสิ่งที่เกิดขึ้น และพัฒนาความเข้าใจว่าทำไมสิ่งต่างๆ จึงเกิดขึ้น

          ให้เด็กได้บอกถึงอารมณ์ความรู้สึกของตน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เมื่อเด็กเกิดอารมณ์โดยเฉพาะอารมณ์เชิงลบ บอกให้เด็กรู้ เช่น “หนูทำอย่างนี้แสดงว่าหนูกำลังโมโห” หากเด็กบอกได้ ถามให้เด็กได้บอกและเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะค่อยๆเข้าใจตนเอง และมีความสามารถในการใช้ภาษาในการสื่อสารสิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจตน ซึ่งจะช่วยให้เด็กสะสมทักษะความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนา EF ด้านอื่นๆต่อไป

          เกมส์จับคู่/เรียงลำดับ เล่นเกมจับคู่และจัดเรียง คัดแยก แบบง่ายๆ ได้ เช่น จับคู่ จัดกลุ่มหรือจัดเรียงตามรูปร่าง สี ขนาด  การเล่นเกมนี้พัฒนาความจำเพื่อใช้งานหรือความจำในการทำงาน ว่าสิ่งใดเหมือนหรือไม่เหมือนกัน และจำโจทย์หรือกติกาที่เปลี่ยนไปในแต่ละครั้ง ขณะเดียวกันเด็กในวัยหัดเดินและก่อนขึ้นอนุบาล จะได้ฝึกทักษะยั้งตัวเอง ไม่ให้หยิบของตามใจ แต่ต้องทำตามกติกาที่ตั้งไว้ เกมประเภทนี้หาซื้อได้ แต่ก็สามารถหาของใช้ในบ้านมาเล่นได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องเสียเงินเช่นกัน นอกจากนี้พ่อแม่และผู้ปกครองในบ้านหรือครูในศูนย์เด็กเล็กยังพัฒนาและดัดแปลงเกมออกไปในรูปแบบการจัดหมู่และเรียงของได้อีกมากมาย และไม่ว่าจะเป็นการให้โจทย์หาของชิ้นเล็ก และเอาไปวางในถังที่ใหญ่กว่า เอาของที่มีรูปร่างเป็นวงกลมไปวางไว้บนกล่องสี่เหลี่ยม ฯลฯ ตามแต่จินตนาการ พอโตขึ้นอีกหน่อย เพื่อให้เข้าใจเรื่องรูปร่างและสีดียิ่งขึ้น พ่อแม่อาจทำเองหรือหา

          เกมจิ๊กซอเป็นรูปร่างต่างๆ กันมาเล่นเรียงต่อกันก็ได้ ในการเล่นให้เด็กเป็นคนคิด เด็กยิ่งสนุก เมื่อเล่นแล้วให้พูดคุยสะท้อนสิ่งที่ทำกัน จะช่วยให้ภาษาและความเข้าใจของเด็กดียิ่งขึ้น

          เล่นในจินตนาการ เด็กที่เริ่มหัดเดิน เริ่มพัฒนาความสามารถในการเล่นตามจินตนาการ เด็กในวัยนี้เห็นผู้ใหญ่ทำอะไรก็มักเลียนแบบทำตามโดยไม่รู้ความหมาย ภาพปกติที่เรามักเห็นกันคือ เมื่อเด็กโตพอและเดินไป เห็นพ่อแม่ใช้ไม้กวาดกวาดบ้าน เด็กก็ไปหยิบไม้กวาดมาเลียนแบบตาม การเลียนแบบเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่มนุษย์ใช้มากที่สุด เมื่อลงมือเลียนแบบไปเรื่อยๆ สมองจะเรียนรู้ความหมายของสิ่งที่ทำ ผู้ใหญ่ในบ้านช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของสมองลูกหลานตัวเล็กได้โดยใช้สิ่งของที่มีอยู่บ้าน หรือหาของเล่นมาให้เล่น เช่น ให้เด็กใช้ชุดหม้อข้าวหม้อแกงของเล่น สมมุติทำอาหารเหมือนแม่ เด็กจะจริงจัง เมื่อทำเสร็จแล้ว ก็จะเล่นกินอาหารที่ทำแล้วอีกต่างหาก การดูกิจกรรมที่ผู้ใหญ่ทำ และทำตาม เด็กได้ใช้มือกล้ามเนื้อเล็กในการหยิบจับ ทักษะสมองส่วนหน้าขั้นพื้นฐานรวมทั้งทักษะการกำกับตนเอง และทักษะปฏิบัติได้ถูกท้าทายให้ลองทำ เมื่อเล่นกับเด็กให้เด็กเป็นผู้กำกับการเล่น ให้โอกาสเด็กได้บอกเราว่า ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ นอกจากพ่อแม่และผู้ใหญ่จะได้ฝึกฝนทักษะยั้งคิดไตร่ตรองและใช้ทักษะกำกับตนเองของตน การให้เด็กควบคุมพฤติกรรมของผู้อื่น (ในที่นี้คือเราที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่กำลังเล่นสมมุติด้วย) เป็นวิธีการสำคัญที่เด็กจะเรียนรู้ในการพัฒนาทักษะการควบคุมตนเอง

          กิจกรรมพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า EF ของเด็กตั้งแต่ขวบครึ่งไปถึง 3 ขวบค่อยๆ ซับซ้อนขึ้นตามพัฒนาการทางด้านสมอง จิตใจ ร่างกายและสังคม แต่ยังอยู่ในช่วงปฐมวัยที่เป็นรากฐานของการพัฒนาที่มีลักษณะเป็นลำดับชั้น คือ ฐานที่อยู่ล่างจะเป็นฐานของการพัฒนาขั้นต่อไป การที่พ่อแม่ลงทุนให้เวลา ให้โอกาสและเล่นอย่างจริงจังกับเด็กในวัยนี้ทำได้ง่ายกว่า อีกทั้งยังเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตต่อไปข้างหน้า สิ่งที่เรียนผ่านการเล่นซ้ำๆ และต่อเนื่อง จะสร้างวงจรของเซลล์ประสาทที่แข็งแรงขึ้นตามลำดับในสมองจากประสบการณ์ที่ได้รับ กลายเป็นความสามารถในการดึงข้อมูลและมีข้อมูลมากพอจากประสบการณ์ดีที่ได้รับการฝึกฝน มาใช้ในกำกับอารมณ์  ความคิด การกระทำเพื่อไปบรรลุเป้าหมายในแต่ขั้นของชีวิตต่อไป

          ทำให้เด็กพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะก้าวต่อไปในการเรียนรู้ชั้นอนุบาล


อ้างอิง
• Center on the developing child, Harvard University, Enhancing and Practicing Executive Function Skills with Children from Infancy to Adolescence, https://46y5eh11fhgw3ve3ytpwxt9r-wpengine.netdna-ssl.com/wp-content/uploads/2015/05/Enhancing-and-Practicing-Executive-Function-Skills-with-Children-from-Infancy-to-Adolescence-1.pdf, สืบค้น 10 เมย. 2565