การตั้งกรอบ การตั้งโจทย์ที่เหมาะสมจะเป็นการกระตุ้นให้เด็กได้พยายามใช้ความคิดยืดหยุ่นหาทาง วิธีการที่จะปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามกรอบกติกาหรือโจทย์ที่ผู้ใหญ่ตั้งไว้
การให้อิสระทางคิดแก่เด็ก จะทำให้เด็กมีความคิดนอกกรอบ คิดยืดหยุ่นสร้างสรรค์ได้ดี แต่ใช่ว่าผู้ใหญ่ เช่น คุณพ่อคุณแม่ คุณครู จะไม่ต้องมีการสร้างกรอบกติกาให้เด็กปฏิบัติตามเสียทีเดียว
ในทางตรงข้ามการตั้งกรอบ การตั้งโจทย์ที่เหมาะสมจะเป็นการกระตุ้นให้เด็กได้พยายามใช้ความคิดยืดหยุ่นหาทาง วิธีการที่จะปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามกรอบกติกาหรือโจทย์ที่ผู้ใหญ่ตั้งไว้
ลองดูตัวอย่างกิจกรรมของโรงเรียนเพลินพัฒนา ที่เด็กจะต้องใช้ความคิดพลิกแพลงให้เข้ากับกติกาที่คุณครูตั้งไว้
ในชั่วโมงศิลปะ คุณครูให้เด็กทำกิจกรรมตัดปะกระดาษสีอย่างอิสระ คุณครูมีโจทย์กำหนดไว้ว่า ให้เด็กเลือกกระดาษสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีใดก็ได้ที่ชอบเพียง 1 ชิ้น แล้วจะตัดหรือฉีกหรือทำอะไรก็ได้ ให้กระดาษเปลี่ยนเป็นรูปร่างอื่น เช่น เด็กอนุบาล 3 คนหนึ่งเล่านิทานเกี่ยวกับ Perfect Square เป็นเรื่องของสี่เหลี่ยมที่เพอร์เฟ็กต์มาก สามารถแปลงร่างเป็นอย่างอื่นได้
ด้วยความคุ้นชินที่เด็กๆเคยใช้กระดาษหลายแผ่นมาทำงานตัดปะ ก็มีเด็กที่ตัดกระดาษไปแล้วไปหยิบกระดาษชิ้นใหม่มาอีก คุณครูจึงต้องทบทวนกติกาให้เด็กฟังใหม่ว่า เด็กๆสามารถใช้กระดาษได้คนละแผ่นเท่านั้น
แล้วคุณครูให้เวลาเด็กๆ หยุดคิดว่าจะทำอย่างไรให้เป็นไปตามกรอบโจทย์ที่คุณครูตั้งไว้ เด็กๆจึงต้องใช้ Working Memory หรือประสบการณ์เดิมที่เคยทำกับใช้ความยืดหยุ่นทางความคิด คิดพลิกแพลงสร้างสรรค์กระดาษแผ่นเดียวให้เป็นสิ่งใหม่ขึ้นมาให้ได้
โจทย์หรือกรอบกติกาปลายเปิดที่ท้าทายให้เด็กได้รับการฝึกความคิดยืดหยุ่นเช่นนี้ ถ้าทำอยู่เสมอ เด็กก็จะเติบโตเป็นคนที่คิดพลิกแพลงเก่ง สร้างสรรค์ได้ดี
“โจทย์หรือกรอบกติกาปลายเปิดที่ท้าทายให้เด็กได้รับการฝึกความคิดยืดหยุ่นเช่นนี้ ถ้าทำอยู่เสมอ เด็กก็จะเติบโตเป็นคนที่คิดพลิกแพลงเก่ง สร้างสรรค์ได้ดี”