เด็กที่ขาดทักษะ EF มักมีปัญหาพฤติกรรมและขาดทักษะในการบริหารจัดการชีวิต
นักจิตวิทยาพัฒนาการ Prof.Dr.Philip David Zelazo ชี้ไว้ว่า “เด็กที่ขาดทักษะ EF มักมีปัญหาพฤติกรรมด้วย เช่น แม้ว่าเด็กจะมีจุดมุ่งหมาย แต่ถ้าไม่สามารถวางแผน ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรม ไม่สามารถประเมินตัวเองได้ก็อาจจะนำไปสู่การกระทำที่ไม่เหมาะสมได้ และไม่รู้ว่าจะจัดการกับผลที่ตามมาอย่างไร”
จากคำอธิบายนี้ ทำให้เรามองเห็นว่า ในการทำให้จุดมุ่งหมายใดๆ สำเร็จได้นั้น ใช่ว่าเพียงมีเป้าหมายตั้งไว้แล้ว ทุกอย่างก็จะเดินหน้าไปได้เอง เพราะในการบวนการทำให้เสร็จบรรลุตามเป้าหมายนั้นต้องใช้ทักษะความสามารถอีกหลายอย่าง เช่น ต้องวางแผนว่า จะต้องทำอะไรบ้าง ทำอะไรก่อนหรือหลัง หรือถ้าทำไปแล้วเกิดเบื่อหน่าย ก็ต้องเตือนตัวเองเป็น หรือควบคุมอารมณ์ให้ทำต่อเนื่องไปให้ได้ ไม่ทิ้งงานกลางคัน
หรือถ้าระหว่างทางที่ทำแล้วเกิดความผิดพลาด หรือมีอุปสรรค ก็ต้องประเมินงาน หรือประเมินตนเองได้ เพื่อจะหาแนวทางปรับปรุงแก้ไข คิดแก้ปัญหาว่าจะจัดการอย่างไร งานจึงจะเดินหน้าต่อไปจนถึงเป้าที่ตัวเองตั้งไว้ได้
ทั้งหมดนี้ก็คือ กระบวนการของทักษะสมอง EF ที่เกิดขึ้นและเกิดเป็นพฤติกรรมของเด็ก ที่พ่อแม่เราต้องเรียนรู้เข้าใจ และช่วยเตรียมตัวให้เด็กๆ ในแต่ละขั้นตอน เพื่อสามารถผ่านไปจนบรรลุถึงเป้าที่วางไว้ได้ด้วยดี
ดร.เซลาโซ ยังชี้ต่อไปว่า “ในเด็กที่ขาดความยับยั้งชั่งใจก็อาจจะทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อไปแม้จะเข้าใจดีว่ามันจะส่งผลอย่างไรหรือเด็กที่ไม่สามารถประเมินตนเองก็ไม่อาจเรียนรู้ผลกระทบจากการกระทำของตนหรือจากการลงโทษได้ ก็จะทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อไปอีกเช่นกัน”
Ref: Philip David Zelazo, professor at the University of Toronto , AboutKidsHealth series on EF).
“เด็กที่ขาดทักษะ EF มักมีปัญหาพฤติกรรมด้วย”