ใส่ใจความเครียดของเด็กในสถานการณ์โควิด
สถานการณ์โควิด 19 ทำให้ทุกคนต้องรักษาระยะห่างทางร่างกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากยิ่งทั้งสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลเด็ก และตัวเด็กเอง ที่จะให้เด็กรักษาความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ การที่เด็กไม่สามารถเล่นหรือสัมพันธ์กับเพื่อนๆ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาวะทางอารมณ์ของเด็ก เช่นเครียด กังวล ซึ่งในที่สุดก็อาจจะส่งผลลกระทบต่อการเรียนรู้และการพัฒนาในด้านต่างๆ ต่อไปด้วย แม้ว่าสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association – APA) จะบอกว่า ความกลัวและความเครียดเป็นปฏิกิริยาธรรมชาติที่เป็นปกติที่สุดเมื่อชีวิตเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง รุนแรง รวดเร็วและคาดการณ์ไม่ได้
องค์การอนามัยโลก (WHO)[1] ชี้ว่าในช่วงวิกฤตนั้น “เป็นเรื่องสำคัญจำเป็นยิ่งที่เราจะต้องใส่ใจ ยอมรับความเครียดและความกลัวของกันและกัน ไวต่อความรู้สึกเหล่านั้นและไม่เพิกเฉย”
และสำหรับเด็กๆ แม้แต่เด็กปฐมวัยทุกคนก็สามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงนี่ได้ แต่อาจไม่ค่อยเข้าใจนักและอาจแสดงออกเป็นความรู้สึกหงุดหงิด โกรธ เรียกร้องจากพ่อแม่ผู้ปกครองมากกว่าเดิม ในขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็มีแรงกดดันในตัวเองมากอยู่แล้ว เช่น ไม่รู้จะตกงานไหม จะติดเชื้อหรือไม่ หรือบางครอบครัว พ่อแม่ตกงาน ค้าขายหาเงินไม่ได้ มีปัญหาเศรษฐกิจจนเกิดบรรยากาศตึงเครียดในครอบครัว ฯลฯ เหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบต่อเด็ก เด็กมีความเสี่ยงที่จะถูกละเลยหรือถูกละเมิดด้วยความรุนแรงในครอบครัวได้
มาสร้างเสียงหัวเราะให้เด็กๆ กันเถอะ
นักวิชาการภาคี Thailand EF Partnership มีข้อแนะนำหลายประการ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางในการส่งเสริมทักษะอารมณ์และสังคม(SEL) ในสถานการณ์โควิด19 ขององค์กร CASEL (The Collaborative for Academic, Social, and Emotional Learning) อันเป็นองค์กรที่ทำงานร่วมกับนักการศึกษา ผู้บริหารและครูเกี่ยวกับการส่งเสริมทักษะด้านอารมณ์และสังคมในเด็ก ที่ได้ให้ข้อแนะนำอันน่าสนใจในการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยในสถานการณ์โควิด19[2] ว่า ในช่วงโควิด ภาวะอารมณ์และสังคมของเด็กเป็นความสำคัญอันดับแรก
อาจารย์วิรรณ สารกิจปรีชา นายกสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯ ก็ได้ให้ตัวอย่างที่ดียิ่งของการใส่ใจในภาวะอารมณ์จิตใจและสังคมของเด็กในช่วงโควิด 19 ว่า “ในฐานะผู้บริหารโรงเรียน ได้เรียกร้องให้ครูปฐมวัยในโรงเรียนทุกคน ทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กมีโอกาส “หัวเราะ” โดยถือเป็นความสำคัญอันดับแรกของการมาโรงเรียนในช่วงนี้”
องค์กรด้านการศึกษาและการพัฒนาของประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ UKfiet[3] ก็ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า การโฟกัสที่ความสุขของเด็ก เสียงหัวเราะของเด็ก จะช่วยให้เด็กรู้สึกถึงความรักของพ่อแม่หรือครูที่มีต่อพวกเขาว่า ผู้ใหญ่ไม่ได้ใส่ใจเรื่องผลสำเร็จในการเรียนมากไปกว่าสนใจในความสุขของพวกเขา นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้เด็กได้คิดและทำในเรื่องใหม่ๆ ที่สนุกและสร้างสรรค์ทุกๆ วัน เด็กจะเรียนรู้ถึงการสร้างเป้าหมายในการปรับตัวตามวิถีชีวิตใหม่ในโลกยุคหลังไวรัสโคโรน่า และยังเปิดโอกาสให้เด็กและพ่อแม่ได้สะท้อนความคิดต่อกัน ที่จะช่วยให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแข็งแรงขึ้นด้วย
นอกจากนี้ CASEL ยังชี้ว่า
- ไม่ว่าจะเรียนผ่านเทคโนโลยี ที่บ้านหรือที่โรงเรียน อันดับแรกต้องโฟกัสที่ภาวะอารมณ์ที่ปลอดภัยของเด็ก และความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน กับผู้ใหญ่ ควบคู่ไปกับการเรียน
- ให้ความสำคัญกับการสื่อสารสองทางระหว่างบ้านและโรงเรียน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่จะช่วยเหลือเด็กได้จริง และช่วยให้ผู้ปกครองได้สื่อสารถึงปัญหา ความทุกข์ ความเครียดกังวลของครอบครัวด้วย
คุณครูต้องปรับ mindset อย่ายึดมาตรการระยะห่างอย่างเถรตรง
การยึดมาตรการรักษาระยะห่างอย่างเถรตรง ไม่คิดสร้างสรรค์พัฒนากิจกรรมใหม่ๆ ที่สอดคล้อง กลับพาเด็กไปเข้าคอก หรือนั่งเงียบๆ อ่าน เขียน คัดลายมือ เป็นเวลานานๆ ในมุมของตน ไม่มีกิจกรรมสัมพันธ์กับใครเลยนั้นเป็นสิ่งที่คุณครูต้องหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นการทำร้ายซ้ำเติมเด็กในสถานการณ์โควิดอย่างร้ายแรง เด็กจะยิ่งเครียดขึ้นไปอีก
ในช่วงเช่นนี้ คุณครูปฐมวัยจะต้องเข้าใจและช่วยปรับสมดุลทางอารมณ์ ลดภาวะเครียดและสร้างโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ฝึกฝนทักษะสังคม-อารมณ์ โดยจัดกิจกรรมที่สนุก ให้เด็กได้เคลื่อนไหว ได้สื่อสารกับเพื่อนแม้ร่างกายต้องอยู่ห่างกัน ก็จะช่วยลดความเครียดของเด็กจากสถานการณ์รอบตัวให้บรรเทาเบาบางลงไปได้
ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ปรารถนา หาญเมธี : เขียน
ผาณิต บุญมาก : เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ : บรรณาธิการ
[1] Hans Kluge, Mental health and psychological resilience during the COVID-19 pandemic,www.euro.who.int, 27-3-2020
[2]CASEL Guide: Effective Social and Emotional Learning Programs Preschool and Elementary School Edition, 2013, https://casel.org/resources-covid/
[3]https://www.ukfiet.org/2020/the-new-normal-prioritising-child-wellbeing-in-india/