สุนทรียะและ Self สร้างเด็กสุขภาพจิตแข็งแรงในโลกพลิกผัน

โดย | 21 พฤศจิกายน 2021 | บทความ, สาระ EF

สุนทรียะและ Self สร้างเด็กสุขภาพจิตแข็งแรงในโลกพลิกผัน

โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน โลกในอนาคตของเด็กประถมยุคนี้จะมีความยากลำบากกว่าโลกของพ่อแม่ในขณะนี้อย่างแน่นอน ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้เด็กดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข คือการรู้จักบาลานซ์ความรู้สึกให้ชีวิตเบาสบายมากขึ้น  การปลูกฝังให้เด็กมีสุนทรียะกับสิ่งรอบตัวเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่จะทำให้เด็กเติบโตในโลกที่พลิกผันได้ดี

“สุนทรียะ” มีความหมายมากกว่าความสวยงาม แต่คือการมีความสุขด้วยตัวเองเป็น ซึ่งเป็นสุขภาพจิตที่ดี การมองเรื่องสุนทรียะจึงต้องมองให้กว้าง ไม่เชื่อมโยงไปกับศิลปะ วัฒนธรรมอย่างเดียว แต่ต้องเชื่อมโยงกับชีวิต ความชุ่มชื่น เบิกบานภายใน ไม่ว่าจะเป็นความดีความงามเล็กๆ น้อยๆ ในสิ่งรอบตัว

สุนทรียะจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้จิตใจโล่ง โปร่ง เบาสบาย มีความสุข พร้อมที่จะเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ  มีจิตใจที่เข้มแข็ง มองเห็นสิ่งดีๆ ในความเป็นไปของโลกใบนี้ เปลี่ยนมุมมองจากร้ายให้ดีขึ้น มีความหวัง มองเห็นอนาคต มีพลังชีวิต

แต่พ่อแม่หรือครูยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสุนทรียะมากพอ ยังมองว่าสุนทรียะคืองานศิลปะหรือดนตรีเท่านั้น  ในความเป็นจริงนั้นสุนทรียะมีอยู่ในทุกเรื่อง เช่น กีฬา คนที่เล่นกีฬาก็มีความสุขกายสบายใจได้  เป็นเรื่องจำเป็นมากที่เด็กทุกคนควรต้องมีสุนทรียะ ผู้ใหญ่ต้องปลูกฝังให้เด็กมองเห็นความงดงามในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว  ใครทำดีอะไรให้เราก็รู้สึกดีก็รู้สึกขอบคุณ  

อาจารย์หม่อมดุษฎี บริพัฒน์ ได้กล่าวถึงสุนทรียะไว้ว่า สุนทรียะเป็นสิ่งที่สร้างได้ โดยพาเด็กไปเสพสิ่งสวยงาม พาไปดูงานศิลปะ ไปชมวัดวังที่งดงาม  ปลูกฝังให้ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังในสิ่งที่มีความสวยงาม สุนทรียะจะทำให้เกิดความละเอียดอ่อนในการรับสิ่งเหล่านี้

บางโรงเรียนไม่ได้ให้เด็กอ่านหนังสือเฉพาะแบบเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดเท่านั้น แต่ให้เด็กได้อ่านวรรณกรรมเยาวชน วรรณกรรมโลก เพื่อให้เห็นความสวยงามของภาษา เรื่องราว รู้จักการตีความ เอามาวิพากษ์กัน เพื่อให้เข้าถึงความงามของวรรณกรรม ทำให้เด็กได้เสพได้สัมผัสกับสุนทรียะเช่นกัน

เด็กจะมองเห็นสุนทรียะในสิ่งรอบๆ ตัวได้ หากเด็กได้รู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง รู้ว่ารักอะไร ชอบอะไร มีความสุขเมื่อได้เห็นได้ทำอะไร สุนทรียะจะเป็นสิ่งที่สร้างความสุขให้กับชีวิตแม้ในยามที่ลำบาก

ทำไมเด็กที่เจอความทุกข์ยากเหมือนกัน แต่เด็กคนหนึ่งสามารถฟันฝ่า เผชิญอุปสรรคในชีวิตได้ ล้มแล้วลุกได้ เติบโตไปอย่างดีได้  แต่อีกคนหนึ่งไปต่อไม่ได้ นั่นเป็นเพราะจะต้องมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้ก้าวเดินอย่างเข้มแข็งไปข้างหน้าได้  ซึ่งสุนทรียะเป็นหนึ่งในปัจจัยเหล่านั้น บวกกับการรู้สึกว่าตัวเองคือใคร มีอะไร และสามารถทำอะไรได้

สามารถทำอะไรได้

“I am” ฉันคือใครสักคน หรือมี Self นั่นเอง จึงต้องทำให้เด็กมี Self รู้ว่าฉันมีตัวตนตั้งแต่ยังเล็ก เด็กบางคนอาจเรียนเก่ง แต่ Self อาจแย่ก็ได้

“I have”  ฉันรู้ว่าฉันมี เด็กคนหนึ่งจะรู้สึกว่า “ไม่เป็นไร” ถ้าถูกครูดุแต่ครูก็ยังรักฉัน ยังมีครู หรือยังมีแมวอยู่ที่บ้านนะ เมื่อยังเด็ก I have ยังเป็นในเชิงรูปธรรม พอโตจะเป็นนามธรรมมากขึ้น

“I can”  รู้ว่ามีความสามารถอะไร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทักษะยืดหยุ่น (Resilience) ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่จะทำให้เด็กอยู่ได้ในอนาคต

นอกจากรู้จักตัวเองแล้ว เด็กต้องรู้จักคนอื่นด้วย You are / you can / you have ถ้ารู้จักคนอื่น ก็จะได้รู้ว่า จะทำเหมือนคนอื่นไหม หรือควรจะมีเหมือนเพื่อนไหม

เพราะฉะนั้น อย่าลืมส่งเสริมให้เด็กรู้จักสุนทรียะและการรู้จักตัวเอง ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านอื่นๆ ด้วย เพื่อช่วยให้เด็กเติบโตและดำเนินชีวิตในโลกที่พลิกผันได้อย่างไม่ยากลำบาก


ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ปรารถนา หาญเมธี เขียน
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ