เด็กที่มีทักษะสมอง EF ดี คือเด็กที่สังคมต้องการ

โดย | 20 พฤศจิกายน 2021 | บทความ, สาระ EF

เด็กที่มีทักษะสมอง EF ดี คือเด็กที่สังคมต้องการ

ในโลกที่โซเชียลมีเดียและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เรียกว่า Disruption กำลังมีบทบาทอย่างสูงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนยุคนี้  เด็กจะเติบโตขึ้นมาอย่างเข้มแข็งในสังคมเช่นนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย พ่อแม่ ครู ผู้ดูแลเด็กต้องสร้างเสริมให้เด็กมีทักษะความสามารถบางอย่างในการรับมือกับสิ่งเหล่านี้  เรื่องนี้จิตแพทย์ นักวิชาการด้านพัฒนาการ และนักการศึกษาได้ให้ความเห็นว่า

1. เด็กต้องมีความสามารถในการควบคุมตัวเอง ในการเข้าสื่อโซเชียล เด็กต้องมีทักษะสมอง EF ที่ดีขณะเดียวกันก็ต้องมีทักษะ มีความสามารถที่เรียกว่า Social Media Skill เพื่อจะได้เข้าไปใช้สื่อโซเชียลอย่างรู้เท่าทัน

ในอดีต เด็กวัยประถมเข้าโรงเรียนหลังจากการยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางลดลง เมื่อไปโรงเรียนก็จะไปมีสังคม ไปปะทะสังสันทน์กับเพื่อน แต่เด็กรุ่น Gen Alpha รุ่น Gen Z จะเข้าถึงโซเชียลก่อนไปโรงเรียนเสียอีก  และเมื่อไปโรงเรียนก็ต้องเข้าใช้สื่อโซเชียลอีก เพราะครูให้การบ้าน ค้นหาข้อมูลเพื่อทำรายงาน ขณะที่เด็กยังไม่มีทักษะในการรับมือกับผลกระทบของสื่อโซเชียล ปัจจุบันมีข่าวเด็กกลั่นแกล้งกันสูงขึ้น เพราะในสื่อโซเชียลทุกคนไม่มีตัวตน เป็นเพียง Account หนึ่ง หากจะแกล้งใครทำร้ายใครก็ไม่ได้รู้สึกอะไร การกลั่นแกล้งจึงลามออกมาภายนอก และรุนแรงมากขึ้น

2. เด็กต้องมีความสามารถในการเลือก เลือกให้เป็น เพราะเด็กรุ่นใหม่นี้เป็นผู้ตัดสินใจเลือกเอง ไม่ได้ฟังพ่อแม่อีกต่อไป เด็กที่มีทักษะสมอง EF ดี จะรู้จักคิดวิเคราะห์มากกว่า ตัวอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ปริมาณนิสิตนักศึกษาปีหนึ่ง – ปีสาม ที่สอบเข้าเรียนใหม่ในมหาวิทยาลัยมากขึ้น แสดงว่าเด็กเลือกผิด ขาดความสามารถในการเลือก

3. เด็กต้องรับมือกับ Disruption หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วให้ได้ เช่นมีการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ทดแทนคนในการทำงานมากขึ้นในเวลาเฉลี่ย 3 ถึง 7 ปี คนที่จบปริญญาตรีจะทำงานได้สูงสุด 3 ปีโดยประมาณ แล้วจะถูก Disrupt ทิ้งไป เด็กจะต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง รับมือให้ได้ เช่น ไปอบรมเรียนรู้เพิ่มเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

จากข้อคิดเห็นดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญได้สรุปว่า เด็กที่ทักษะสมอง EF ดีเท่านั้นจึงจะมีความสามารถเช่นนี้ที่จะรับมือกับโลกในศตวรรษที่ 21 ได้

การควบคุมและยับยั้งตนเอง จุดเริ่มต้นของทักษะสมอง EF ดี

ในขวบปีแรกของชีวิตเด็กคนหนึ่ง จะเกิดวงจรประสาทที่สำคัญต่อการพัฒนาทักษะสมอง EF เป็นครั้งแรก คือ วงจรประสาทที่ควบคุมการยับยั้งตนเอง (Response Inhibition and Shifting) เป็นวงจรประสาทเริ่มต้นในการควบคุมยับยั้งตนเอง

มีรายงานการวิจัยว่าวงจรประสาทที่ควบคุมการยับยั้งตนเองจะปรากฏตั้งแต่อายุ 3 เดือนซึ่งเป็นช่วงที่เด็กเริ่มจำหน้าแม่ เห็นจากการที่เด็กนอนหงายดูโมบายล์ เมื่อแม่ยื่นหน้าเข้ามา เด็กจะหยุดมองโมบายล์ (Response Inhibition) แล้วเปลี่ยน (Shifting) ไปดูหน้าแม่แทน

วงจรประสาทที่ควบคุมและยับยั้งนี้ จะพัฒนามากขึ้นในระหว่างช่วงเวลาเติบโตของเด็ก จะเห็นได้จากการที่เด็กวัยหลัง 8 เดือน หยุดหาของเล่นบนผ้า (ที่มองหาแล้วไม่เห็น) แล้วไปหาของเล่นที่ซ่อนอยู่ใต้ผ้า หรือจากตัวอย่างที่เด็กจะสามารถหยุดและเปลี่ยนการกระทำได้ เพราะวงจรประสาทนี้ เช่น
           วัยอนุบาล : ร้องไห้ งอแง => หยุด (Inhibition) => เปลี่ยน (Shifting) ไปอาบน้ำ
           วัยประถม : เล่นเกม => หยุด (Inhibition) => เปลี่ยน (Shifting) ไปทำการบ้าน
           วัยมัธยม : เที่ยวกับเพื่อน => หยุด (Inhibition) => เปลี่ยน (Shifting) ไปท่องหนังสือสอบ
           จบปริญญาตรี : นอนก่ายหน้าผาก => หยุด (Inhibition) => เปลี่ยน (Shifting) ไปสมัครงาน

เด็กที่ใช้ยาบ้าแล้วเลิกไม่ได้ ผู้ใหญ่ที่เข้าใจจะไม่พูดว่าเด็กคนนี้ “นิสัยไม่ดี” เพราะคำนี้ไม่ถูกต้อง มีแต่คำว่า “สมองไม่ดี” สมองไม่ดีไม่ใช่ไม่ฉลาด แต่เป็นเพราะวงจรปฐมบทของทักษะสมอง EF ไม่เกิดตั้งแต่แรก

สาเหตุที่ไม่เกิดเพราะ “แม่ไม่มีอยู่จริง” แม่พิสูจน์ตัวเองไม่สำเร็จในหกเดือนแรก สิบสองเดือนแรก และสามปีแรก นี่คือความสำคัญของคำว่า “แม่ต้องมีอยู่จริงในสามปีแรกของชีวิตเด็ก”

ในเด็กวัยรุ่นที่มีปัญหาหนัก เป็นเพราะไม่มีวงจร “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” (Delayed Gratification) ในวัยรุ่นกลุ่มนี้วิธีแก้ปัญหาที่ใช้ได้ผลคือให้ทำงานอาสาสมัคร งานที่ใครๆ ไม่ทำเพราะมองว่าน่ารังเกียจ  เช่น เก็บศพ ถ้าทำแล้วมีคนชม สิ่งที่ได้คือ ตระหนักเห็นในคุณค่าของตัวเอง (Self Value) คำว่า Self หรือตัวตนจะปรากฏขึ้นมา

วัยรุ่นที่อดเปรี้ยวไว้กินหวานไม่ได้ เป็นเพราะไม่เคยถูกฝึกให้ทำงานบ้าน ไม่เคยได้เล่น ไม่มีตัวตน ไม่มีสายสัมพันธ์ ไม่มีแม่ ดังนั้นเด็กจึงไม่มีวงจรอดเปรี้ยวไว้กินหวานในสมอง 

เมื่อเห็นคุณค่าในตัวเอง เกิด Self Esteem แล้ว ก็จะนำไปสู่การรักตัวเอง และจะนำไปสู่ Self Control ควบคุมตนเองให้พ้นจากอบายมุขได้ดีกว่าเดิม โปรแกรมรักษายาเสพติดที่นำเด็กไปทำงานอาสาสมัคร เด็กหยุดยาได้มากกว่านำเด็กไปเข้าค่ายทหาร เพราะเด็กได้รับคำชม ได้รับ Self Reflection “ผมไม่ได้แย่ ผมล้างส้วมวัดก็เป็นนี่นา ผมแย่แค่สี่อย่าง คณิตศาสตร์ เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ แต่อย่างอื่นไม่ได้แย่”


ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ปรารถนา หาญเมธี เรียบเรียงจากการบรรยายของ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จากการประชุมจัดการความรู้ “การพัฒนาทักษะสมอง EF เด็กวัยประถม-มัธยมศึกษา”
ณ ห้องประชุม สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ