การเรียนทำให้ความสุขของเด็กประถม… ลดลง!!
งานวิจัยโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยศวีร์ สายฟ้า รองคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์สาขาประถมศึกษา ภาควิชาหลักสูตรและการสอน เรื่อง “ความสุขของเด็กไทยในวัยเรียน” ซึ่งเก็บข้อมูลจากเด็ก 3,000 คนทั่วประเทศ พบว่า เด็กประถมศึกษายิ่งชั้นเรียนสูงขึ้นความสุขของเด็กยิ่งน้อยลง เพราะช่วงเวลาในการเล่นน้อยลง เด็กเรียนตลอดเวลาตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์
จากงานวิจัยชิ้นนี้ยังพบว่า เด็กในโรงเรียนเอกชนมีความสุขมากกว่าเด็กในโรงเรียนรัฐบาล ซึ่งสวนทางกับกระแสความคิดของคนทั่วไปที่มักคิดว่าโรงเรียนเอกชน เช่น โรงเรียนในเครือคาทอลิค จะมุ่งเน้นความเข้มข้นทางวิชาการมากกว่าโรงเรียนสังกัดสพฐ. แต่งานวิจัยกลับพบว่า เด็กโรงเรียนรัฐบาลมีความกดดันมากกว่าเด็กในโรงเรียนเอกชนหรือในโรงเรียนขนาดใหญ่
พบว่าโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด ซึ่งมีชั้นเรียนตั้งแต่อนุบาล – ประถม 6 เด็กมีความกดดันในหลายมิติ กิจวัตรประจำวันของเด็กประถม 6 ในแต่ละวันหมดไปกับการติวสอบ การเข้าโครงการประกวดต่างๆ เวลาที่หมดไปไม่ใช่เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง แต่เพื่อคนที่อยู่รอบตัว ซึ่งทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่มีเวลาของตัวเอง ความสุขลดลง การเห็นคุณค่าของตัวเองน้อยลง ซึ่งต่างจากเด็กในโรงเรียนเอกชนที่มีความสุขมากกว่า โรงเรียนให้เวลา ให้ Space เด็กมากกว่า
ในการทำงานวิจัยยังได้เห็นการแสดงออกซึ่งความสุขของเด็กวัยประถมศึกษา ผ่านกิจกรรม ผ่านการสื่อสารออกมา รวมทั้งตำราบางเล่มกล่าวว่า ถ้าเด็กมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่แวดล้อมได้ดี จะสัมพันธ์กับทักษะทางสังคม ถ้าเด็กตระหนักรู้ตนในมิติที่เป็นเชิงบวกและมีความสุข เด็กจะเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น ในวัยประถม ความสุขอาจวัดได้จากการที่เด็กอยากมาโรงเรียน ไม่ขาดเรียน อยากร่วมทำกิจกรรม อยากแสดงความคิดเห็น
ความสุขเป็นสมรรถนะหนึ่งซึ่งเป็นรากฐานของการทำให้ Self (ตัวตน) แข็งแรง เด็กคนหนึ่งจะมี Self ได้ ต้องมีทั้งความสุขและความมั่นคงในจิตใจ
ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมยังมองไม่เห็นว่าการเรียนจะทำให้เด็กคนหนึ่งมีความสุขหรือความทุกข์ได้ แต่กลับมองว่าการเรียนเป็นอาวุธ เป็นการทำให้ได้มาซึ่งอนาคตที่ดีที่มีความสุขรออยู่ โดยไม่ได้คิดว่ากว่าจะไปถึงความสุขนั้น ผู้เรียนมีความทุกข์แค่ไหนอย่างไร
เด็กวัยประถมควรได้มีความสุขตามวัย ตามพัฒนาการของวัย ตามการเรียนรู้ที่เหมาะกับวัย เป็นวัยที่มีความขยันขันแข็ง เป็นวัยที่ต้องผลิตงานสร้างงาน เป็นช่วงวัยที่มีกลุ่มเพื่อน และเป็นวัยที่ทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากมีสามารถทางกายภาพมากขึ้น และความคิดอยู่ในโลกของความเป็นจริงแล้ว ดังนั้นถ้าอยู่ในบรรยากาศที่ได้ใช้ศักยภาพ ได้ค้นคว้าทดลอง ได้ปฏิบัติ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ สนุกกับการเรียนรู้ เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองทำได้ ตัวเองมีคุณค่า และมีความสุข แต่ถ้าไม่ได้รับโอกาสให้ทำงาน ให้สร้างสรรค์ตามวัยตามพัฒนาการ หรือทำแล้วถูกว่า ถูกประนาม เปรียบเทียบ เด็กจะรู้สึกไม่มีความสุขได้
การเล่นเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความสุขของเด็กไทยในวัยเรียน การทำงานวิจัยนี้พบเรื่องที่น่าตกใจว่า ในช่วงพักกลางวันซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เด็กน่าจะได้เล่นกัน ได้พูดคุยกับเพื่อน แต่มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ใช้เวลาอยู่ลำพัง เปิด IG และแชทคุยกันเรื่องดารา กิจกรรมประเภทนี้ ถือว่าไม่ใช่ Active Play ที่เด็กจะได้พัฒนาทักษะต่างๆ จากการมีการเคลื่อนไหวร่างกาย มีการใช้ภาษา แลกเปลี่ยนต่อรอง มีกฎกติกาในการพูดคุย เล่น แบบการเล่นกับเพื่อน
เปลี่ยนค่านิยมเดิมๆ “เด็กเรียนเก่งคือเด็กดี”
- เด็กจำนวนมากมาโรงเรียนมาพร้อมกับความกลัว กลัวได้คะแนนน้อย กลัวไม่เป็นที่ยอมรับ กลัวไม่เก่งเท่าเพื่อน กลัวสอบไม่ผ่าน จนทำให้การเรียนมีแต่ความทุกข์ ความกลัวเหล่านี้สาเหตุหนึ่งเพราะพ่อแม่ ญาติพี่น้องมีค่านิยมเรื่องการเรียนดี เรียนเก่ง คาดหวังกับลูกๆ หลานๆ สูง ทำให้เด็กพกความกลัวมาจากบ้าน เมื่อมาถึงโรงเรียนต้องทำตามความคาดหวังของครูอีก ยิ่งทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น
- ครูส่วนใหญ่มักชื่นชมเด็กที่มีผลการเรียนดี เด็กที่เรียนดีเรียนเก่งคือเด็กดีของครู เด็กที่เรียนไม่เก่งไม่ใช่เด็กดี ซึ่งความคิดนี้เป็นไปทั้งระบบการศึกษา และเป็นค่านิยมของพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่ตั้งความคาดหวัง กับลูกว่าลูกจะต้องเรียนให้เก่ง สอบให้ได้คะแนนสูงๆ จึงจะเป็นเด็กดีของพ่อแม่ของครอบครัว เมื่อเด็กอยู่ที่โรงเรียนแล้วทำคะแนนไม่ดี เรียนไม่เก่ง ครูไม่ยอมรับ หากเพื่อนไม่ยอมรับด้วย จะขาดความสุขอย่างมาก และรู้สึกได้อย่างรุนแรงว่าไม่มีที่ยืนทั้งที่บ้านและโรงเรียน
- ครูและพ่อแม่จึงควรปรับทัศนคติ และยอมรับในความสามารถ ศักยภาพด้านอื่นๆ ที่เด็กมีมากกว่ามุ่งไปที่การทำคะแนนได้ดีเพียงเรื่องเดียว เพราะที่จริงแล้วเป้าหมายของการประถมศึกษา ก็บอกชัดเจนว่า คือการเตรียมความพร้อมเรื่องพื้นฐาน ดังนั้นเมื่อเด็กจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แล้วอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น เป็นคนดี รู้หน้าที่ ช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ทำความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่น ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
- สำหรับเด็กที่เป็น “ครีม” ของห้องของโรงเรียน เป็นที่หนึ่งของห้อง เป็นหัวหน้าห้อง ได้ทุนเรียนดี เป็นตัวแทนไปแข่งขันต่างๆ มีเกียรติบัตรมากมายในแฟ้มประจำตัว ครูต้องระวังที่จะไม่สร้างความกดดัน และไม่ยกย่องจนเกินไป เพราะจะทำให้เด็กแพ้ไม่เป็น ติดกับค่านิยมของการแข่งขัน ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้เด็กที่ครูไม่ได้คัดเลือก รู้สึกถูกเปรียบเทียบ รู้สึกด้อยค่าอย่างมาก
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ