เด็ก Self ดี เรียนรู้ได้ดี กระบวนการเรียนรู้ที่ดีสร้าง self ให้เด็ก

เด็ก Self ดี เรียนรู้ได้ดี กระบวนการเรียนรู้ที่ดีสร้าง self ให้เด็ก

จากการปฏิบัติตามแนวการเรียนการสอนในโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ ครูได้พบว่า Self ของเด็กมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ และกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมก็จะช่วยสร้าง Self ที่ดีให้เด็กด้วย ดังนี้

  • การเรียนรู้ของผู้เรียนจะก้าวไกลไม่ได้ ถ้าไม่มี Self-control และ Self esteem เพราะจช่วยให้
    เด็กเรียนอย่างมีฉันทะ
  • จิตศึกษา จิตวิทยาเชิงบวก กระบวนการที่ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น เช่น การเรียนแบบ PBL (Project Based Learning) การไม่ถูกตัดสิน ตีความ ทำให้เด็กเกิด Self esteem ได้ เมื่อมี Self esteem เด็กก็จะมี Passion ที่จะกำกับตัวเอง เอาชนะปัญหาต่างๆ จนเกิดทักษะสมอง EF ได้ในที่สุด
  • การใช้กิจกรรมจิตศึกษาในโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนากิจกรรมหนึ่ง เมื่อผ่านกิจกรรมนี้ไปแล้ว เด็กจะรู้ว่าสิ่งใดที่เป็นตัวตนของตัวเอง สิ่งใดคือสิ่งที่คนอื่นมาชี้มาบอกว่าคือตัวเรา แล้วเด็กจะค่อยๆ สร้าง Self-image ขึ้น ขณะเดียวกันจิตศึกษาก็จะค่อยๆ บ่มเพาะให้เด็กเห็นตัวเอง ตรวจสอบตัวเอง ในที่สุดก็พบว่าตัวเองปรารถนาอะไร ต้องการอะไร แล้ว Self-concept จะเกิดขึ้นเมื่อเด็กอยู่ชั้นมัธยม 3 ตัดสินใจได้แน่ชัด ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น
  • ครูใช้กิจกรรมจิตศึกษา 20 นาทีหลังเคารพธงชาติทุกวันก่อนจะเรียนวิชาหลัก พัฒนา Self เด็ก ครูจะ “ชง” ด้วยคำถามที่จะพัฒนา Self แต่ละด้าน จะพัฒนา Self เรื่องใดครูก็จะนำคลิปนิทาน เรื่องเล่าที่เกี่ยวกับ Self เรื่องนั้นมาใช้ให้เด็กได้สะท้อนคิดและใคร่ครวญ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เด็กจะได้แสดงตัวตนออกมา
(ขอบคุณภาพจาก โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์)
  • Self esteem จะเห็นได้ชัดจากการที่เด็กทำงานร่วมกับเพื่อน กับครู ทำงานเป็นกลุ่ม เคารพความเห็นซึ่งกันและกัน โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาและโรงเรียนเครือข่ายจะไม่ให้เด็กมีหัวหน้ากลุ่ม เพราะไม่ต้องการให้ใครด้อยกว่าใคร แต่แบ่งหน้าที่กันตามความถนัด เด็กเอาความสามารถมาแชร์กัน ประสานกัน

กระบวนการเหล่านี้ทำให้เด็กได้เห็น Self ตัวเอง นำตัวตนออกมา และสามารถนำตัวเองออกจากสถานการณ์บางอย่างได้ การพัฒนา Self เด็ก ครูคือคนที่สำคัญมาก ต้องพัฒนาครู ทำให้ครูเข้าใจ มีความรู้ แล้วจึงจะสามารถไปพัฒนาเสริมสร้าง Self ให้เด็กได้ รวมทั้งวิธีการสอนที่ครูตอบคำถามให้น้อย เปิดโอกาสให้ผู้เรียนหาคำตอบเอง ซึ่งครูต้องอดทนให้มาก ไม่ผูกติดกับเรื่องความรู้ที่เด็กจะต้องได้รู้ แต่ให้ความสำคัญกับกระบวนการให้มาก 


ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
เนื้อหาจากการประชุมจัดการความรู้: การพัฒนาทักษะสมอง EF กับการเรียนรู้ของเด็กระดับชั้นประถมศึกษา ครั้งที่ 6 กรณีศึกษาโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์
ปรารถนา หาญเมธี เขียน
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ