วงจรแห่งความปลอดภัย (Circle of Security)
เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีความต้องการความปลอดภัยในระดับที่แตกต่างกัน Circle of Security เป็น โปรแกรมหนึ่งที่ถือว่าเป็นนวัตกรรม ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจวงจรความต้องการทางใจ ของเด็กที่ต้องการสร้างความสมดุลย์ ระหว่างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยกับความต้องการพัฒนาการพึ่งตนเอง ของเด็ก ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถทำหน้าที่เป็นฐานที่มั่นทางใจ ได้เหมาะสมกับสถานการณ์และสอดคล้อง กับธรรมชาติความต้องการของเด็กเล็ก
โปรแกรมนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นโดย โรเบิร์ต มาร์วิน (Robert Marvin) จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย เกลน คูเปอร์ (Glen Cooper) เคนท์ ฮอฟแมน (Kent Hoffman) และเบิร์ต โพเวลล์ (Bert Powel) จากสถาบันแมรี่คลีฟ (วอชิงตัน)
The Circle of Security เป็นเครื่องมือหนึ่งภายใต้ ทฤษฎีความผูกพันไว้ใจ (Attachment Theory) ที่พัฒนาโดย จอห์น โบวล์บี (John Bowlby) และอยู่บนรากฐานความรู้จากงานวิจัยของ แมรี เอิร์นเวิร์ธ (Mary Ainsworth) เป็นโปรแกรมที่ง่ายต่อการใช้ และเป็นประโยชน์ในการช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ใหญ่ ในการสังเกต เด็กเล็ก ทำให้มีทักษะในการดูแลเด็กได้ดีขึ้น สามารถหนุนสร้างสมดุล ระหว่างความต้องการความปลอดภัยกับ ความเป็นอิสระของเด็ก ช่วยให้เข้าใจถึงสิ่งที่เด็กต้องการจากพ่อแม่และผู้ใหญ่ในแต่ละช่วง ได้แม่นยำยิ่งขึ้น ทำให้ ตอบสนองต่อความต้องการของเด็กได้เหมาะสม โดยมีความเข้าใจว่า เด็กทุกคนเกิดมาล้วนต้องการสายสัมพันธ์ที่ มั่นคงปลอดภัยจากแม่พ่อและคนเลี้ยงดู ในการส่งเสริมให้มีความรู้สึกมั่นคง และมีความสามารถที่จะออกไปเผชิญ โลกได้ด้วยตนเองในที่สุด
วงจรแห่งความปลอดภัย ( Circle of Security) กำเนิดมาจากหลักการของความรู้ที่ว่า คนที่ชีวิตช่วงวัย เด็กเล็กมีปัญหาความผูกพันไว้ใจ จะมีโอกาสเติบโตขึ้นมามีปัญหาทางจิตในชีวิตมากกว่าปกติ ความสัมพันธ์ที่ดี กับผู้ดูแลหลักโดยเฉพาะกับแม่ เป็นปัจจัยสำคัญในการวางรากฐานให้เด็กมีความสามารถทางสังคม การกำกับ อารมณ์ และระบบการตอบสนองต่อความเครียดของสมองและร่างกาย ความสัมพันธ์บนรากฐานที่มีความรู้สึก ปลอดภัย ส่งผลให้เด็กเรียนรู้ได้ดีกว่า และสามารถช่วยแก้ปัญหาที่จะเกิดกับจิตใจของเด็กได้ ความสัมพันธ์ที่สร้าง ความผูกพันไว้ใจในระยะยาวนั้นสามารถทำได้ด้วยการพัฒนาให้ผู้ดูแลหลัก เช่น แม่ ให้ความรู้ความเข้าใจ และมี ทักษะ สามารถพัฒนาการตอบสนองและสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งให้ลูกรู้สึกเป็นมีฐานที่มั่นคงทางใจ ซึ่งการ เรียนรู้เพียงเทคนิคการจัดการพฤติกรรมลูกเท่านั้นไม่เพียงพอ
แต่ที่สำคัญที่สุด ผู้ดูแลหลัก โดยเฉพาะ แม่และพ่อนั้นต่างมีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะทำสิ่งที่ดีที่สุด ให้กับลูกของตน
เพื่อให้เข้าใจ “วงจรแห่งความปลอดภัย” ง่ายขึ้น ให้เปรียบ Circle of Security เหมือนหน้าปัดนาฬิกา เพียงแต่กระบวนการของ Circle of Security เริ่มต้นที่ 9 นาฬิกาที่อยู่ทางซ้ายมือ ซึ่งเป็นตำแหน่งของ “ฐานที่ ปลอดภัย” ที่ลูกจะปล่อยมือจากพ่อแม่ และเริ่มต้นการเดินทางตามเข็มนาฬิกา หมายเลข 12 นาฬิกาที่อยู่ด้านบน สุดของวงกลม คือช่วงเวลาของการสนับสนุนให้ลูกออกสำรวจเรียนรู้ ให้ลูกเป็นอิสระ มีระยะห่างจากพ่อแม่ทั้งทาง ร่างกาย และอารมณ์ จนรู้สึกเป็นอิสระอย่างเต็มที่ในตำแหน่งที่ 3 นาฬิกา ซึ่งเป็นสภาวะที่เด็กกำลังยุ่งอยู่กับการ สำรวจสภาพแวดล้อมของตนอย่างเต็มที่ ช่วงเวลานี้เด็กจะใช้ระยะเวลาสักพักหนึ่ง จนกว่าจะพอใจหรือทำอะไร เสร็จสิ้นลง เด็กจึงจะกลับมาหาพ่อแม่อีกครั้ง สิ่งที่ทำได้ในช่วง 3 นาฬิกานี้คือการเฝ้าดู และแสดงความเต็มใจ สนับสนุนให้ลูกได้สำรวจ รู้จักและเรียนรู้สิ่งรอบกาย ด้วยความมั่นใจ รู้สึกปลอดภัย ว่าพ่อแม่ไม่ได้หายไปไหน ส่วนตำแหน่งที่ 6 นาฬิกาด้านล่างซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของวงกลม คือ ช่วงเวลาที่ถือว่าเด็กอยู่ในภาวะเปราะบาง หรือต้องการการใกล้ชิดกับพ่อแม่หรือคนเลี้ยงทั้งทางอารมณ์และร่างกาย
กระบวนการ Circle of Security นี้จะเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อใดก็ตามที่เด็กออกจาก “ฐานที่ปลอดภัย” (ตำแหน่ง 9 นาฬิกาทางซ้ายมือ โดยเดินตามเข็มนาฬิกา) การเดินทางที่ครบสมบูรณ์ในแต่ละรอบ อาจเกิดขึ้นได้ หลายครั้งต่อวัน แม้กระทั่งหลายครั้งต่อชั่วโมง เมื่อเด็กสำรวจเสร็จแล้ว เด็กจะกลับมาหาพ่อแม่ ซึ่งกำลังทำหน้าที่ เป็น “ที่หลบภัย” หรือที่พักใจ พ่อแม่ที่อยู่ตรงนี้จะคอยสนับสนุนลูก จะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนได้รับการปกป้อง เกิด ความสบายใจ และจะเกิดความรู้สึกความซาบซึ้งกับการเอาใจใส่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง
ลองนึกภาพดูสถานการณ์ที่ผู้ใหญ่พาเด็กอายุ 3 ขวบไปที่สนามเด็กเล่น แล้วพ่อแม่หรือคนเลี้ยง ปล่อยให้ เด็กเล่นในกะบะทราย ได้สำรวจพื้นที่และการเล่นแบบต่างๆด้วยตนเอง โดยพ่อแม่หรือคนเลี้ยงนั่งดูอยู่ห่างๆ จะพบ ว่า หลังจากนั้นไม่กี่นาที เด็กจะหันมามองทางพ่อแม่หรือคนเลี้ยง เมื่อรู้สึกมั่นใจเด็กก็จะเล่นต่อไป หากรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่ปลอดภัย หรือไม่สบายใจ เด็กก็จะกลับมาหาพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือในวันที่ลูกไปโรงเรียนวัน แรก เด็กหลายๆ คนจะกังวล เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ต้องอยู่คนเดียว โดยไม่มีพ่อแม่อยู่ใกล้ เพื่อให้เด็กรู้สึก ปลอดภัยในการสำรวจพื้นที่ และโลกใบใหม่ในโรงเรียน พ่อแม่อาจต้องเข้ามาในชั้นเรียนและทำหน้าที่เป็น “ฐาน รักษาความปลอดภัย”ให้ จนกว่าลูกจะรู้สึกสบายและปลอดภัยพอที่จะสำรวจสิ่งต่างๆในห้องเรียน เมื่อลูกรู้สึก ปลอดภัยพอที่จะเริ่มเล่นกับเด็กคนอื่น ๆได้ พ่อแม่ยังไม่ควรออกไปทันที ควรรอจนกว่าลูกจะหันมามองอีกครั้ง และเห็นว่าพ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อและแม่ยังอยู่ เมื่อลูกคุ้นเคยและปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่แล้ว พ่อแม่จึงค่อยออกไป เด็กจะไม่รู้สึกหรือตื่นตระหนก และอยู่ได้จนถึงเวลาที่พ่อแม่สัญญาจะกลับมารับ เป็นต้น
การเข้าใจ วงจรแห่งความปลอดภัย (Circle of Security) ช่วยทำให้พ่อแม่ทำหน้าที่เสริมสร้างและเติม เต็มความรู้สึกปลอดภัยซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานของเด็กได้อย่างเต็มที่ ในเวลาที่เหมาะสม ให้สมองส่วนกลาง หรือ limbic system ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับความรู้สึกปลอดภัยนี้ได้รับการเติมเต็ม ซึ่งจะส่งผลให้ทักษะสมอง ส่วนหน้าของเด็กได้มีโอกาสทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ในการใช้ทักษะพื้นฐานที่มีมาแต่กำเนิด ตั้งแต่ความจำเพื่อใช้งาน ความสามารถในการยับยั้ง ยืดหยุ่น จดจ่อ ควบคุมอารมณ์ ประเมินติดตามตนเอง มีความสามารถในการริเริ่ม ทำสิ่งต่างๆด้วยตนเอง วางแผน จัดการ และมุ่งเป้าสู่ความสำเร็จที่ตั้งไว้
อ้างอิง
•https://www.circleofsecurityinternational.com/circle-of-security-model/what-is-the-circle-of-security/ สืบค้น Aug 26, 2021
• http://circleofsecuritynetwork.org/intervention.html. สืบค้น Aug 26, 2021
• The circle of security parenting and parental conflict: a single case study, https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fpsyg.2014.00887/full, Aug 12, 2014