ความรู้ชุด: จักรวาลของ “สมอง”

สามเสาหลัก : การเปลี่ยนผ่านของสมองส่วนอารมณ์สู่เหตุผล

Howard Bath นักจิตวิทยาคลีนิกชาวออสเตรเลีย ผู้เขียนหนังสือร่วมกับ John Seita เรื่อง ‘The Three Pillars of Transforming Care: Trauma and resilience in the other 23 hours’ (2018).ได้อธิบายว่า  ด้วยเหตุจากธรรมชาติ ที่สมองส่วนหน้านั้นพัฒนาช้ากว่าสมองส่วนกลางในช่วง 20 ปีแรกของชีวิตคนเรา สมองส่วนกลางที่ทำหน้าที่เอาชีวิตรอดและทำตามอารมณ์  จึงเป็นสมองที่มีพลังในการทำงานเป็นส่วนใหญ่และแสดงบทบาทในชีวิตประจำวันเกือบตลอดเวลา  อย่างไรก็ตาม ในการที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ สมองส่วนอารมณ์และสมองส่วนเหตุผลต้องพัฒนาการเชื่อมต่ออย่างแข็งแรงของระบบประสาท กล่าวคือ สมองแต่ละส่วนจะต้องมีปฏิสัมพันธ์เชื่อมต่อกับสมองส่วนอื่น รวมทั้งการเชื่อมปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆในชีวิตด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ยังเป็นเด็ก ในระหว่างที่สมองกำลังพัฒนานั้น ปฏิสัมพันธ์เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด บาธได้แนะนำว่า: “บทบาท หน้าที่และงานส่วนใหญ่ของพ่อแม่ ครู ที่ปรึกษา และพี่เลี้ยง คือ การช่วยให้เยาวชนพัฒนาสมองให้เสร็จ ผลการพัฒนาสมองในเชิงบวกที่จะทรงพลังที่สุดของเด็กคนหนึ่ง ที่เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ นั้น เกิดจากปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพ และคนรอบข้างที่เอาใจใส่”

ปฏิสัมพันธ์เชิงบวกที่มีความอบอุ่นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงขวบปีแรกของชีวิตมีความสำคัญต่อ การพัฒนาคุณธรรม เนื่องจากประสบการณ์แรกๆของช่วงชีวิตที่เพิ่งเกิดขึ้นมาจะเป็นตัวโปรแกรม หรือป้อนข้อมูลให้สมองเราเรียนรู้ว่า จะตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมอย่างไร หากความสัมพันธ์ในช่วงแรกของชีวิตเป็นไปในทางลบ จะพัฒนาวงจรทางประสาทที่นำไปสู่พฤติกรรมที่ตอบสนองอย่างรุนแรง หรือหากเด็กไม่มีโอกาสได้รับประสบการณ์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นตั้งแต่แรกเริ่ม สมองก็จะไม่ได้สร้างเซลล์ประสาทที่จำเป็น สำหรับใช้ในการเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นหรือสังคม

โฮเวิร์ด บาธนำเสนอทฤษฎี สามเสาหลัก (Three Pillars) ไว้ว่า การที่เด็กหรือคนๆหนึ่งมี ความเครียดเรื้อรังหรือมีอาการป่วยทางใจที่ไม่ได้มาจากสาเหตุทางกาย สามารถมีอาการดีขึ้นได้ โดยการได้รับการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัว พ่อแม่ ครู หรือโค้ช ไม่ต้องรับการรักษาด้วยยา Ven Der Kolk (2014) และได้ตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจว่า “อาการเจ็บป่วยทางจิต ส่วนใหญ่เกิดขึ้น จากกลไกในการปกป้องตนเอง” ของสมอง การมีผู้ใหญ่ที่เข้าใจ รู้วิธีการ และสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับวัยรุ่นได้จะไม่เพียงช่วยให้เด็กวัยรุ่นรอดปากเหยี่ยวปากกามาได้ แต่ยังช่วยให้วัยรุ่นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์และมีคุณภาพอีกด้วย

ประสบการณ์ที่ไม่ดีในวัยเด็ก เช่น การถูกละเลย ความเจ็บปวดทางร่างกายจากการป่วยไข้ ปัญหาในครอบครัว  การถูกทำร้ายและถูกล่วงละเมิด ส่งผลต่อพฤติกรรม และสร้างผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ไปตลอดชีวิต ความเครียดในช่วงชีวิตวัยเด็กยิ่งมากเท่าใด ความเสี่ยงที่ไม่พึงประสงค์ตลอดอายุขัยก็มากขึ้นเท่านั้น คุณภาพความสัมพันธ์ในวัยเด็กเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆในชีวิต แต่ขณะเดียวกันนักวิจัยก็พบว่าคุณภาพความสัมพันธ์ที่ดีเป็นเครื่องมือในการเยียวยาปัญหาและลดผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้

เสาหลักที่ 1 ความปลอดภัย

สภาพแวดล้อมที่ให้ความรู้สึกปลอดภัย สงบ และให้เด็กได้รับการดูแลตามพัฒนาการ ส่งเสริมสัมพันธภาพกับแม่และผู้อื่น เป็นการตอบสนองความต้องการความปลอดภัยอันเป็นความต้องการที่มาสโลว์ได้อธิบายไว้ว่าเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ และความรู้สึกปลอดภัยที่เกิดขึ้นเป็นแรงส่งสำคัญที่ทำให้เราทุกคนเติบโตงอกงามยิ่งขึ้นไปอีก

นักจิตวิทยาสำคัญของโลกเช่น อับบราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow), อีริค อีริคสัน (Erick Erickson) จอห์น โบว์ลบี้ (John Bowlby) และมารี เอนสเวิร์ธ (Mary Ain-Sworth) ต่างมีมุมมองร่วมกันว่าความรู้สึกปลอดภัย เป็นความต้องการพื้นฐานในการพัฒนาเด็ก ความรู้สึกไม่ปลอดภัย มีความเครียดอยู่ตลอดเวลา ส่งผลต่อเซลล์ประสาท การควบคุมอารมณ์และความสามารถทางสติปัญญา เด็กที่มีความเครียดอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความรู้สึกปลอดภัย จะตื่นตระหนก วิตกกังวล ระวังตัวตลอดเวลา แม้ว่าจะไม่มีแรงกระตุ้นเลยก็ตาม คนที่ขาดความสามารถในการแยกแยะว่าสถานการณ์หรือแรงกระตุ้นใดปลอดภัยหรือเป็นภัย จะตอบสนองต่อสถานการณ์ผิดเพี้ยนไป เช่นในสถานการณ์ที่ไม่รุนแรงกลับตอบสนองไปรุนแรงเกินเหตุเป็นต้น เด็กที่ถูกละเลยหรือถูกทารุณกรรมจะมีความตื่นตัวต่อสิ่งแวดล้อมว่าจะไม่ปลอดภัยต่อตน พฤติกรรมที่แสดงออกจะตื่นกลัวเกินไป ระมัดระวังเกินไป

แต่ท้ายที่สุดความต้องการคือความปลอดภัยทั้งทางด้านกายภาพ และทางสังคมคือได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ได้รับความเห็นอกเห็นใจ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ การที่ผู้ใหญ่ไม่มีความรู้หรือความเข้าใจในเรื่องนี้ มักจะจัดการพฤติกรรมของเด็กที่ไม่เหมาะไม่ควร โดยมุ่งแก้เฉพาะที่พฤติกรรม โดยไม่รู้ที่มาของพฤติกรรม ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาของเด็กได้ หรือยิ่งทำให้ปัญหาแย่ลงไปอีก ด้วยการตอกย้ำประสบการณ์ที่ผ่านมาของเด็ก ทำให้เด็กเจ็บปวดและยิ่งเชื่อว่าตนอยู่ในโลกที่ไม่ปลอดภัย

เสาหลักที่ 2 ความสัมพันธ์เชิงบวก

การมีผู้ใหญ่ที่เอาใจใส่ และมีความรู้สึกว่ามีคนที่ไว้วางใจได้ รวมไปถึงการได้อยู่ในกลุ่มก้อนที่ทำกิจกรรมดีๆร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางกีฬา นันทนาการหรืออื่นๆ จะทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย  จึงควรอย่างยิ่งที่จะให้เด็กทุกคนได้มีกิจกรรม และทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับกลุ่มที่มีความชอบเหมือนกัน การมีสายสัมพันธ์เช่นนี้ได้ทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะมีความยืดหยุ่น และเอื้ออาทรต่อคนรอบข้าง

การที่มีผู้ใหญ่เอาใจใส่ ตั้งแต่พ่อแม่ ปู่ย่าตายายและผู้ใหญ่ในบ้าน ในโรงเรียนมีครูและผู้ที่เกี่ยวข้องเอาใจใส่รับฟัง ในชุมชนมีความสุขสงบ เอื้ออาทร ในสังคมมีโครงสร้าง กติกา บริบท ที่เป็นธรรม เป็นมิตร ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นความสัมพันธ์เชิงบวกที่เป็นรูปธรรม ที่จะสนับสนุนให้เด็กสามารถเอาชนะความทุกข์ที่ผ่านมา และสามารถสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างให้ชีวิตได้   Brene’ Brown (2012) ได้ระบุว่า ความรู้สึกหรือประสบการณ์ที่เจ็บปวดทำให้เด็กเชื่อว่า ตนเป็นคนที่บกพร่อง ไม่คู่ควรกับความรักและการได้รับการเอาใจใส่ หน้าที่พื้นฐานของผู้ใหญ่คือการเอาใจใส่และตอบสนองความต้องการพื้นฐานของเด็ก นั่นคือ ปัจจัยสี่ สร้างสภาพแวดล้อมที่มั่นคง และปลอดภัย

การทำกิจกรรมร่วมกันเป็นการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวก ศาสตราจารย์ Henry Maier (1992) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กิจกรรมที่คนสองคนได้มีปฏิสัมพันธ์ที่ต้องรับส่งลูกกัน จะเป็นกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์เชิงบวก เช่น การเต้นรำ การเล่นดนตรีร่วมกัน การตีปิงปอง ฯลฯ  Maier สังเกตว่า “แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่ชอบคนที่เรากำลังประสานจังหวะอยู่กับพวกเขา”

คนที่ไม่มีความรู้สึกไว้วางใจคนอื่น โดยเฉพาะไม่มีความรู้สึกไว้วางใจคนที่ตนรัก จะเป็นคนมีความทุกข์ และมักต้องพึ่งยาเสพติด ง่ายที่จะเสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรม หรือปกป้องตนเองเกินปกติ เพื่อเลี่ยงความเจ็บปวด ซึ่งยิ่งทำให้ตนเองเจ็บปวดหรือสร้างความเจ็บปวดให้ผู้อื่นโดยไม่ตั้งใจ ประสบการณ์ที่เจ็บปวดไม่ได้อยู่ในสมองส่วนคิดเป็นเหตุเป็นผลหรือสมองส่วนหน้าที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ แต่ความเจ็บปวดอยู่ในกลไกการทำงานของสมองส่วนกลางที่ไม่มีภาษา

การใช้ความรู้ความเข้าใจหรือการสั่งสอนด้วยเหตุผลเท่านั้น ไม่สามารถทำให้พฤติกรรมดีขึ้น เด็กๆที่หงุดหงิด ฉุนเฉียว หุนหันพลันแล่น กังวลหรือ หดหู่ จะจัดการอารมณ์ตนเองให้สมดุลได้ดีขึ้น ก็ด้วยความสัมพันธ์ที่สร้างความไว้วางใจให้กับเด็กเท่านั้น

เสาที่ 3 การเผชิญหน้ากับปัญหา

การสนับสนุนให้เผชิญปัญหา จะช่วยให้มีความสามารถในการตอบสนองความท้าทายที่เข้ามาในชีวิต ทำให้เกิดทักษะในการจัดการอารมณ์และความเครียดที่สั่งสมอยู่ในจิตใจ ทำให้แข็งแกร่ง และสามารถเป็นอิสระจากปัญหาที่ทับถมอยู่ได้

การเผชิญหน้ากับปัญหามีมิติทั้งด้านนอกและด้านใน ด้านนอกคือการพัฒนาความสามารถในการรับมือกับเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น มิติด้านในคือความสามารถในการจัดการเรื่องราวที่อยู่ภายในของตนทั้งความคิดและความรู้สึก คนทุกคนที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ ต่างต้องมีทักษะทั้งสองด้านเพื่อความอยู่รอดของชีวิตและการเติบโตทั้งในหน้าที่การงาน ครอบครัว ชีวิต และชีวิตด้านใน

สิ่งที่พ่อแม่สามารถช่วยลูกเล็กๆได้ ก็ด้วยการชวนลูกทบทวนประสบการณ์ในแต่ละวัน และ ชวนกันรู้จักชื่ออารมณ์นั้น ทำให้เด็กเข้าใจสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่ การฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening) ของพ่อแม่ ทำให้เด็กรับรู้ว่าตนเอง “มีอยู่จริง” รู้สึกได้ บอกความต้องการได้โดยมีคนที่ตนรัก รับรู้ รับฟัง และอยู่เคียงข้าง โดย “พ่อแม่มีอยู่จริง”

สำหรับเด็กทารกและเด็กเล็กที่ยังควบคุมอารมณ์ของตนไม่ได้ และไม่รู้จะสื่อสารเป็นภาษาอย่างไร การมีพ่อแม่อยู่ข้างๆคอยปลอบ โอบกอด ลูบไล้ ให้สัมผัสที่อ่อนโยน อุ้มหรือเอามานั่งตักแล้วโยกตัวในจังหวะที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น นุ่มนวล เด็กเล็กก็จะเรียนรู้จากประสบการณ์ดีๆเหล่านี้ และนำมาใช้ปลอบโยนตัวเองได้ต่อไป แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์ดีๆเช่นนี้คือ ความรู้สึกว่ามีคนที่รักตน มีคนที่ตนไว้วางใจได้ และมี พื้นที่ปลอดภัยในยามที่ตนเองรู้สึกไม่มั่นคง

เสาหลักทั้ง 3 เสามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ;  ความรู้สึกปลอดภัย ความรู้สึกไว้วางใจ การมีความสัมพันธ์ที่ดี การรู้จักและเผชิญหน้ากับปัญหา ทำให้สมองมีทักษะในการยับยั้งตน ควบคุมอารมณ์ อันเป็นพื้นฐานของความสำเร็จของชีวิตในการทำงานหรือการจัดการชีวิตประจำวันให้ ประสบความสำเร็จ


อ้างอิง

  • Howard Bath, The Three Pillars of TraumaWise Care:   Healing in the Other 23 Hours, https://www.traumebevisst.no/kompetanseutvikling/filer/23_4_Bath3pillars.pdf สืบค้น 7 กย.2564