วัยรุ่นคือช่วงสะพานของชีวิตที่เชื่อมต่อระหว่างวัยเด็กกับวัยผู้ใหญ่ ชีวิตช่วงวัยรุ่นเริ่มต้นที่อายุ 10-12 ปี สิ้นสุดประมาณ 21-25 ปี ชีวิตช่วงนี้เป็นชีวิตที่ชวนน่าสับสน เต็มไปด้วยความโกลาหล สุดเหวี่ยง ขณะเดียวกันก็มีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง เพราะเพิ่งพ้นจากความเป็นเด็กที่ไม่รู้ประสีประสานัก มาเป็นวัยที่มีความสามารถในการเข้าใจเรื่องยากๆที่เป็นนามธรรม ทำอะไรได้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนได้มากเท่าผู้ใหญ่คนหนึ่ง ส่วนทางด้านร่างกายอยู่ๆ ก็พรวดพราดสูงปรี๊ดชั่วข้ามคืน ชวนให้สยองว่า หากไม่หยุดสูงจะเป็นอย่างไร การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างของร่างกายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เห็นอย่างเด่นชัดทั้งวัยรุ่นหญิงและชาย หากยังจำกันได้ผู้ใหญ่ที่ผ่านการเป็นวัยรุ่น คงไม่ลืมความรู้สึกนึกคิด โดยเฉพาะอารมณ์ที่ความรุนแรงกว่าปกติอย่างที่ไม่เข้าใจตนเองว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ในช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ จำเป็นต้องได้รับความเข้าใจ เพราะเป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่วิกฤติ คำว่า “หัวเลี้ยวหัวต่อ”แสดงภาพชัดเจนว่า จากนี้ไป ชีวิตในช่วงนี้อาจจะพาให้ทะยานไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า ความสำเร็จ ความสุข หรือการจะเลี้ยวเข้ารกเข้าพงจนหาทางกลับไม่เจอ ดังนั้น ในช่วงนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด จำต้องเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจ
ซึ่งความรู้อันเป็นฐานรากสำคัญต่อความเข้าใจและพัฒนาชีวิตช่วงวัยนี้รุ่น ก็ยังยืนอยู่ที่ 3 มิติ อันประกอบด้วย ความรู้ใน พัฒนาการด้านตัวตน (Self) พัฒนาการ 4 ด้าน และการพัฒนาการด้านทักษะสมองส่วนหน้า (EF) ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่สานต่อเนื่องมาจากช่วงปฐมวัยและประถมศึกษานั่นเอง
พัฒนาการด้านตัวตน (Self) เป็นความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อตนเองว่าตนเป็นใคร เป็นคนอย่างไร มนุษย์เรียนรู้ “ตัวตน” ของตนจากการที่มีความสัมพันธ์กับผู้อื่น เริ่มตั้งแต่วินาทีแรกที่เกิดมาชีวิต ทารกต้องการการดูแล การตอบสนองของผู้ดูแล เป็นความสัมพันธ์แรกที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้คนเรียนรู้ว่าว่า เขาเป็นใคร เป็นคนที่มีคุณค่าหรือมีตัวตนแค่ไหน “แม่ที่มีอยู่จริง” ทำให้สิ่งมีชีวิตน้อยๆชีวิตหนึ่งไว้วางใจแม่ ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นการไว้วางใจโลก (Trust) ความรู้สึกนึกคิดต่อตนเองและผู้อื่น สายสัมพันธ์และความผูกพันไว้ใจ เป็นต้นธารของพฤติกรรม หนึ่งขวบปีแรกนี้เป็นฐานที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาบุคลิกภาพของคนๆหนึ่งขึ้นมา และเป็นรากฐานของความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อตนเองหรือ Self ในวัยรุ่น
วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการหาเอกลักษณ์ของตน เพื่อเลือกแบบแผนของพฤติกรรม ค่านิยม ที่เหมาะสมกับตนมากที่สุดในการเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบชีวิตของตนเองและครอบครัวของตนที่จะมีขึ้นในอนาคต วัยรุ่นเป็นวัยที่ก้าวออกไปสู่สังคมที่กว้างออกไป ต้องการให้ตนเองเป็นที่รู้จักในฐานะ “บุคคล” คนหนึ่งในกลุ่ม นั่นหมายถึงความต้องการเป็นที่ยอมรับ เพื่อนจึงมีอิทธิพลสูงต่อวัยรุ่น เด็กวัยรุ่นที่มี Self ดี จะหาอัตลักษณ์ของตนได้ ไม่เลียนตามแบบเพื่อนมาก แต่เด็กที่ไม่มี Self หรือ Self ไม่ดีจะไม่เป็นตัวของตัวเอง เลียนแบบเพื่อนและถูกชักจูงไปได้ง่าย
พัฒนาการ 4 ด้าน เป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาของชีวิตที่เป็นขั้นตอนตามลำดับ พัฒนาการที่มาก่อนเป็นฐานที่ส่งผลต่อพัฒนาการขั้นต่อไป พัฒนาการในช่วงวัยรุ่นนับเป็นวิกฤติที่อาจมีปัญหาทางจิตใจมากที่สุด เนื่องจากร่างกายที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ มีความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างเด็กชายและหญิง ฮอร์โมนเปลี่ยน สมองส่วนกลางซึ่งกำกับอารมณ์วัยรุ่นโตเต็มที่แล้วตั้งแต่อายุประมาณสิบสามปี ในขณะที่สมองส่วนหน้ายังไม่สมบูรณ์จนกว่าจะอายุประมาณยี่สิบห้า วัยนี้จึงเป็นวัยที่มีอารมณ์รุนแรง อ่อนไหวง่าย มีความตึงเครียดสูงจากสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลง ความคาดหวังของครอบครัว สังคม หรือความไม่เข้าใจของคนรอบข้าง
ตามพัฒนาการของวัย วัยรุ่นเป็นวัยแห่งการตระหนักรู้ความเป็นตัวตนของตนเอง และเป็นวัยแห่งการแสวงหาตัวตนของตนเอง จึงมีแนวโน้มอย่างสูงที่จะยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง มองโลกที่ดำเนินอยู่ ว่ามีตนเป็น “ตัวเอก”บนเวทีที่มีคนสนใจดูอยู่รอบข้าง การตระหนักรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดของตน ในขณะที่ประสบการณ์ต่อโลกภายนอกเพิ่งเริ่มต้น อาจทำให้คิดไปว่าตนเป็นบุคคลพิเศษ มีอัตลักษณ์เฉพาะ มักมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนอื่นไม่มีทางเกิดขึ้นกับตน” ซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมสุ่มเสี่ยงหรือ “คนอื่นไม่มีโอกาสประสบเหตุการณ์ที่เกิดกับตน” ทำให้เรื่องเล็กสำหรับคนอื่น เป็นเรื่องใหญ่ของตนได้
พัฒนาการด้านทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ (Executive Function: EF) เป็นการทำงานของสมองระดับสูงที่ใช้กำกับความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมเพื่อไปสู่เป้าหมาย (ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร) เป็นกระบวนการทำงานของบริเวณสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นสมองส่วนที่พัฒนาเสร็จสมบูรณ์ช้าที่สุด และต้องการโอกาสฝึกฝนพัฒนา
ช่วงที่ทักษะสมอง EF พัฒนาอย่างรวดเร็วนั้น จะอยู่ในอายุ 3-6 ปี ซึ่งถือว่าเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสที่จะพัฒนาได้ดีที่สุด ส่วนช่วงวัยรุ่นเป็นอีกช่วงวัยที่สมองพัฒนาอย่างก้าวกระโดดอีกครั้ง จากการที่ปลอกประสาท (Myeline) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้การส่งต่อข้อมูลระหว่างเซลล์ประสาททำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งเซลล์ประสาททำการตัดแต่งตนเองตามธรรมชาติ กำจัดเซลล์ประสาทที่ไม่ได้ใช้ทิ้งไป เซลล์ประสาทที่ทำงานบ่อยแข็งแรงเติบโตเชื่อมร้อยกันเป็นวงจรประสาท ทำให้โครงสร้างสมองปรับเปลี่ยน เป็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” ครั้งสำคัญอีกครั้งในการพัฒนาสมอง สร้างเซลล์ประสาทให้แข็งแรงผ่านการลงมือทำซ้ำอย่างต่อเนื่องในระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ที่เกื้อหนุน
สถาบันรักลูกได้อธิบายองค์ประกอบทักษะสมองส่วนหน้าออกเป็น 3 หมวดทักษะเพื่อให้จดจำง่ายประกอบด้วย
1. ทักษะพื้นฐาน ประกอบด้วย 3 ทักษะคือ
- จำเพื่อใช้งาน (Working Memory) ความสามารถในการจำขณะประมวลผล เป็นความจำที่เก็บไว้แล้ว สามารถถูกนำขึ้นมาใช้งานในทันทีที่ต้องการ
- ยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibitory) ความสามารถหยุดความคิด พฤติกรรม ในเวลาที่เหมาะสม
- การยืดหยุ่นทางความคิด (Shifting) ความสามารถเปลี่ยนวิธีคิด เมื่อเงื่อนไขเปลี่ยน
2. ทักษะการกำกับตนเอง ประกอบด้วย 3 ทักษะคือ
- จดจ่อใส่ใจ (Focus/Attention) ความสามารถปัจจุบันขณะในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างต่อเนื่อง
- ควบคุมอารมณ์ (Emotional Control) ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และแสดงออกเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสม
- การติดตามประเมินตนเอง (Self-Monitoring) ความสามารถในการทบทวน ความคิด ความรู้สึกและผลงานของตนเอง ทำให้เกิดความเข้าใจตนเอง ซึ่งจะนำพาไปสู่ความเข้าใจผู้อื่นด้วย
3. ทักษะปฏิบัติ อันเป็นการนำทักษะ EF ทั้งสองกลุ่มมาลงมือทำ ประกอบด้วยทักษะ
- ริเริ่ม ลงมือทำ (Initiating) ความสามารถเริ่มต้นลงมือทำงานด้วยตนเอง โดยไม่ต้องให้ใครบอกหรือบังคับ
- วางแผน จัดระบบดำเนินงาน (Planning & Organizing) ความสามารถในการวางแผน และจัดการงานเป็นลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน
- มุ่งเป้าหมาย (Goal-Directed / Persistence) ความพากเพียร มีมานะ ไม่ยอมแพ้ เอาชนะอุปสรรค เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้
ในช่วงวัยรุ่นมีความท้าทายซับซ้อนมากมายที่ชีวิตต้องเผชิญเมื่อต้องออกสู่โลกที่กว้างขึ้น ทักษะสมองส่วนหน้าที่สั่งสมผ่านการปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงปฐมวัย จะเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดในการกำกับตนเอง ไปสู่เป้าหมายของชีวิตทั้งทางด้านสุขภาพ การเรียนรู้ ความสำเร็จ ความสุข การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น
ทักษะสมองส่วนหน้าเปรียบเหมือนซีอีโอของชีวิต เป็นสปอตไลน์ส่องให้ชีวิตไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจ ผู้ใหญ่ต้องสร้างโอกาสให้เด็กได้มีโอกาสใช้สมองส่วนหน้าได้คิด วิเคราะห์ ลงมือทำ ออกแบบกระบวนการทำงานของตนเอง ทำซ้ำทำให้เกิดความชำนาญ ทำสิ่งที่ท้าทายขึ้นตามลำดับ กำกับตนเองทีละเล็กทีละน้อย ได้ทบทวน อันเป็นกระบวนการย้อนกลับเข้าไปภายใน ประเมินและถอดบทเรียนเพื่อให้สามารถทำได้ดียิ่งขึ้น
สมองส่วนหน้าทำงานได้ดีเมื่อสมองกลางที่ทำหน้าที่กำกับส่วนอารมณ์ได้รับการเติมเต็ม กล่าวคือ คือได้รับความรู้สึกมั่นคงในความสัมพันธ์ มีความรู้สึกปลอดภัย และที่สำคัญคือการได้รับศรัทธาอันเป็นความเชื่อมั่นจากคนที่รักและคนรอบข้าง จะสนับสนุนทำให้วัยรุ่นเห็นตัวตนและคุณค่าของตนเอง อีกทั้งจำเป็นต้องให้ความรู้ ความเข้าใจต่อวัยรุ่นเรื่องพัฒนาการตามวัยของตน เพื่อจะได้เข้าใจสิ่งที่ตนประสบว่าเป็นประสบการณ์ร่วมของคนวัยนี้ เพื่อเรียนรู้ที่จะจัดการและเผชิญสิ่งที่ต้องประสบไปสู่วัยผู้ใหญ่ด้วยความสุข และเดินไปในทางที่ทำให้ชีวิตประสบความสุขและความสำเร็จ
พ่อแม่ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในการสนับสนุนและยืนเคียงข้างลูกวัยรุ่น รวมทั้งครู สถาบันการศึกษา และบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับวัยรุ่น จำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจในความรู้ฐานราก 3 มิติ และนำไปลงมือทำอย่างจริงจัง เพื่อร่วมกันเป็นสภาพแวดล้อมที่เป็นคุณประโยชน์ต่อประชากรวัยรุ่นของสังคม ให้ได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มที่สมกับโอกาสของวัย อีกทั้งก้าวข้ามความปั่นป่วนสับสนตามวัยไปการค้นพบตนเอง ประสบความสำเร็จ และมีความสุข สู่การเป็นผู้ใหญ่ที่จะเป็นกำลังหลักของบ้านเมืองต่อไป