วัฒนธรรมไทยดั้งเดิมเราอาจจะไม่คุ้นนักกับ Self-Esteem หรือการเห็นคุณค่าในตนเอง เพราะเรามักจะ “กลัวเด็กเหลิง” เข้าใจไปว่าถ้าเด็กเห็นคุณค่าในตนเองมาก จะหยิ่งยะโส ผู้ใหญ่ก็จะเอาไม่อยู่ กำกับควบคุมไม่ได้ หรือเด็กจะตัวตนสูงจนอยู่กับคนอื่นยาก
ความเข้าใจนี้ผิดมหันต์ เพราะการเห็นคุณค่าในตนเองจะทำให้เด็กมีเหตุผล มีความเชื่อมั่นในตนเองพร้อมที่จะทำสิ่งต่างๆให้สำเร็จ รู้สึกดีกับตัวเองแต่ก็รู้สึกดีกับคนอื่นได้ด้วย เด็กจะรู้สึกดีกับสิ่งที่ตนเองทำ เห็นจุดแข็งในตนเองแต่ก็เห็นจุดอ่อนในตนเองที่ต้องพัฒนาปรับปรุงต่อ
เพราะมี Self-Esteem ที่เห็นคุณค่าในตนเอง เด็กจึงจะมีฐานของการกำกับควบคุมตนเอง หรือมี Self-Control คนที่เห็นคุณค่าในตนเอง รักตนเองมักจะไม่ทำลายตนเอง แต่จะพยายามกำกับตนเองให้อยู่ในลู่ในทางที่ตนเห็นว่าดี พยายามไปสู่เป้าหมายที่ตนตั้งไว้ ในขณะที่เด็กที่ขาด Self-Esteem ซึ่งมักจะมองตนเองไม่ขึ้น ไม่รู้สึกดีกับตัวเอง ก็จะไม่ค่อยรักตนเอง ดังนั้น เมื่อไม่เห็นคุณค่า ก็จะไม่รักษาคุณค่านั้น พฤติกรรมที่ปรากฏจึงไม่สามารถกำกับตนเองให้ไปสู่เป้าหมาย ทำอะไรก็เห็นแต่ความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ และมีความกังวลสงสัยในตัวเองอยู่ตลอดเวลา
Self-Esteem ที่ดี จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เด็กทุกคนควรมี เพราะมันจะทำให้เด็กๆ กล้าลองสิ่งใหม่ ทำอะไรก็อยากจะไปให้ถึงจุดที่ดีที่สุด ทำอะไรแล้วก็ภูมิใจในสิ่งที่ทำ แม้จะผลงานไม่ดีเลิศ แต่ก็รู้สึกว่าตนได้พยายามทำดีที่สุดแล้ว เวลาเจอความผิดพลาดล้มเหลว Self-Esteem ก็จะช่วยให้เด็กรับได้ง่าย พยายามขึ้นอีก ลองใหม่ ไม่ไปกังวลกับเสียงของคนอื่นมากจนเกินไป แต่ก็ไม่กลัวคนอื่นไม่ยอมรับจนต้องเก็บตัว เป็นต้น
Self-Esteem พัฒนาอย่างไร
ตั้งแต่เป็นทารกแบเบาะ Self-Esteem ก็เริ่มพัฒนาขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อยแล้ว จากการเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย รู้สึกว่าตนได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสม รู้สึกว่าตนเป็นที่รัก เป็นที่เอาใจใส่ เป็นที่ยอมรับ หิวก็ได้รับการป้อมนม เปียกแฉะก็มีคนใส่ใจเปลี่ยนผ้าให้
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ชื่อดังได้ชี้ว่า Self-Esteem เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จากการที่เด็กทารกมี “แม่ที่มีอยู่จริง” คือมีคนๆหนึ่งที่อาจจะเป็นแม่ผู้ให้กำเนิดหรือไม่ก็ได้ แต่เป็นผู้ที่ดูแลเอาใจใส่ทารกอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ใกล้ชิดให้ความรักความอบอุ่น ตอบสนองต่อความต้องการของทารกน้อยในทางบวกเสมอ จนกระทั่งการมีแม่ที่มีอยู่จริง ที่สานเป็นความสัมพันธ์อันอบอุ่นต่อเนื่อง จะทำให้ทารกน้อยที่เมื่อตอนเกิดมายังไม่รู้อะไรเลย ก็เริ่มจะตระหนักรู้ว่า ตนเองมีตัวตน (มี Self เกิดขึ้น)
ต่อมา เมื่อทารกเติบใหญ่เข้าสู่วัยเตาะแตะ (1-2 ขวบ) หรือเด็กเล็ก (3-6 ขวบ) ก็เริ่มจะทำอะไรๆ ด้วยตนเองได้มากขึ้น เดินได้ วิ่งได้ ปีนป่ายไต่ลอด หยิบจับขยำขว้างได้ วาดรูปได้ ร้องเพลงได้ ฯลฯ เด็กน้อยได้ทดลองท้าทายความสามารถของตนเองตามพัฒนาการ เมื่อทำได้ก็จะเริ่มรู้สึกดีกับตัวเอง เกิดความภาคภูมิใจในตนเองขึ้น ขณะเดียวกัน ถ้าพ่อแม่ก็ตอบสนอง อนุญาตให้เด็กได้ทดลอง เอาใจใส่ให้คำชมเชย เด็กน้อยก็จะเพิ่มการเห็นคุณค่าขึ้น ยิ่งโต ยิ่งได้รับประสบการณ์ในทำนองนี้มากเท่าไร เด็กก็จะได้คุณค่าในตนเองเพิ่มมากขั้นเท่านั้น
ทุกครั้งที่เด็กๆทำสิ่งต่อไปนี้ได้; เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทักษะใหม่ๆ ได้เข้าใจเรื่องราวใหม่ๆ เข้ากับเพื่อนได้ ได้ทำสิ่งที่ชอบ ได้ใช้ความพยายาม ชอบแล้วทำได้สำเร็จ ไปถึงเป้าหมาย ได้รับคำชมเชย เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน หรือครอบครัว หรือได้มีโอกาสช่วยเหลือ หรือให้แก่คนอื่น ฯลฯ เด็กจะได้สะสมคุณค่าในตนเองเพิ่มขึ้น
คุณภาพความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกมีผลต่อ Self-Esteem ของเด็ก
เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆในชีวิต พ่อแม่เป็นคนกลุ่มแรกในโลก ที่มีความสำคัญในการสร้าง Self-Esteem ของเด็กทุกคน บทบาทและอิทธิพลของพ่อแม่จะทำให้เด็กพัฒนา Self-Esteem ได้ยากหรือง่ายก็ได้
งานวิจัยของนักจิตวิทยาชื่อ Stanley Coopersmith พบว่า ปัจจัยที่เกี่ยวกับพ่อแม่ เช่น ฐานะชนชั้น การเงิน การศึกษา และถิ่นฐานที่อยู่ ไม่มีส่วนต่อการพัฒนา Self-Esteem ของเด็ก แต่คุณภาพของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับเด็ก เป็นปัจจัยที่มีผลอย่างยิ่ง !!
3 ประเด็นสำคัญที่คนเป็นพ่อแม่ควรตระหนักในการพัฒนา Self-Esteem ของลูก คือ;
- Self-Esteem ของพ่อแม่มีผลต่อลูก เด็กๆ ทุกคนเรียนรู้โลกจากพ่อแม่เป็นอันดับแรก หรือกล่าวว่าพ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก ไม่ว่าพ่อแม่จะพูด จะคิด จะทำอะไร อย่างไร เด็กจะเรียนรู้และเอาเป็นแบบอย่างเสมอ ดังที่กล่าวกันว่า “เด็กเป็นอย่างที่เราเป็น มากกว่าเป็นอย่างที่เราสอน” ฉะนั้น ถ้าพ่อแม่เป็นคนมี Self-Esteem ดี ก็มีแนวโน้มที่ลูกจะเรียนรู้และค่อยๆปลูกฝังสั่งสมคุณลักษณะของ Self-Esteem ไว้ในตัว แต่ถ้าพ่อแม่มี Self-Esteem ต่ำก็มีแนวโน้มที่เด็กๆ จะมีต่ำเช่นเดียวกัน
- ยอมรับลูกอย่างที่ลูกเป็น เด็กๆนั้น Sensitive กับความสัมพันธ์ บทบาท และการแสดงออกของพ่อแม่ที่มีต่อเด็ก มากอย่างที่พ่อแม่บางคนคิดไม่ถึง ถ้าพ่อแม่ยอมรับเด็ก ทั้งความคิด ความรู้สึก และความเป็นเฉพาะ (Uniqueness) ของเด็กแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน และตอบสนองต่อเด็กแต่ละคนตามความต้องการของเด็กอย่างเหมาะสม เด็กแต่ละคนก็จะเรียนรู้ว่า ตนเองมีค่า มีความหมาย และอยู่ในความใส่ใจของพ่อแม่ แต่ถ้าพ่อแม่ไม่ยอมรับหรือคลางแคลง สงสัยในตัวลูก คิดว่าลูกเต็มไปด้วยจุดอ่อนอย่างนั้นอย่างนี้ ลูกก็จะรู้สึกได้ว่าตนไม่มีความหมาย มีปัญหา นำไปสู่การขาดความภาคภูมิใจในตนเอง ภาวะ Self-Esteem ต่ำก็จะฝังรากลงไปในจิตใจของเด็กอย่างรวดเร็ว
- ความคงเส้นคงวาของพ่อแม่ การที่พ่อแม่มีหลักในการเลี้ยงลูกที่ชัดเจน หนักแน่น คงเส้นคงวา เด็กน้อยๆ ซึ่งกำลังเรียนรู้โลก อะไรที่ทำได้หรือไม่ได้ที่พ่อแม่สอนให้เขานั้น จำเป็นต้องชัดเจนและสม่ำเสมอ หากบางครั้งทำแบบนี้ได้ บางครั้งทำไม่ได้ ขึ้นอยู่กับภาวะอารมณ์ของพ่อแม่เหมือน”ผีเข้าผีออก” เด็กก็ยากที่จะเข้าใจขอบเขต กติกา ความรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่ปลอดภัยก็จะเกิดขึ้น เช่น แม่เคยอนุญาตให้กินขนมก่อนกินอาหารเย็นได้ แต่ครั้งนี้แม่กลับดุตะคอกและไม่อนุญาต เด็กก็จะสับสนว่า ตกลงหลักการของแม่เป็นอย่างไร หรือหากเด็กทำสิ่งที่คิดว่าพ่อแม่ต้องการ เช่น เข้าไปช่วยทำงานในครัว แต่คราวนี้กลับถูกแม่ดุว่าวุ่นวาย เลอะเทอะ ทำให้เสียเวลา เช่นนี้แล้วเด็กก็จะขาดความมั่นใจ มองไม่เห็นว่าตนเองควรจะทำอย่างไร จึงจะเป็นที่ถูกใจของพ่อแม่ หากมากเข้าๆ ก็จะกลายเป็นความไม่เชื่อมั่นในตนเอง
พ่อแม่จะส่งเสริม Self-esteem ของลูกได้อย่างไร
ก่อนอื่น พ่อแม่โปรดระลึกเสมอว่า เด็กทุกคนแตกต่างกัน เด็กบางคนเลี้ยงง่าย บางคนเลี้ยงยาก บางคนมี Self-Esteem ง่ายมาก แต่บางคนก็ยากเหลือเกิน แต่ไม่ว่าอย่างไร พ่อแม่ก็มีหน้าที่เติมเต็ม Self-Esteem ตามบริบทของลูก ไม่ใช่ปลูกฝังเติมเต็มตามที่เราต้องการฝ่ายเดียว
พวกเราพ่อแม่ช่วยเสริม Self-Esteem ของลูกได้ไม่ยาก เช่น
- เป็นแบบอย่างที่ดี ถ้าพ่อแม่แสดงให้ลูกเห็นว่า พ่อแม่รู้สึกดีกับตนเอง ไม่ว่าในเรื่องการงาน ครอบครัว ความสามารถ จิตใจ ร่างกาย ฯลฯ ไม่เอาแต่วิจารณ์หรือหมกมุ่นกับจุดอ่อนหรือด้านลบของตนเอง และลูกได้เห็นพ่อแม่แสดงความรู้สึกดีต่อคุณค่าของคนอื่น เด็กก็จะเรียนรู้ที่เป็นอย่างนั้น
- ช่วยให้ลูกเรียนรู้และทำสิ่งต่างๆได้มากขึ้น ทุกวันที่เติบโตขึ้น เด็กเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว จากไม่เป็นสู่เป็น ไม่รู้สู่รู้ แต่พ่อแม่ต้องช่วยนำทางให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากขึ้นในชีวิตรอบตัว การช่วยตัวเอง การงานในบ้าน เรื่องโลกที่กว้างขึ้นฯลฯ เมื่อเขาเรียนรู้และทำได้ เข้าใจได้ หรือทำได้ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน เด็กก็จะภาคภูมิใจในตนเอง นอกจากนี้ การชวนลูกทบทวนถึงสิ่งที่ทำผ่านไป นำผลที่เกิดไม่ว่าด้านบวกหรือลบมาไตร่ตรองพิจารณา ก็จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ได้ชัดเจนขึ้นและเห็นแนวทางที่ตัวเองจะเรียนรู้เพิ่มขึ้นไปอีก
- ให้โอกาสลูกตั้งเป้าหมายและลองทำจนสำเร็จ เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เด็กทุกคนก็อยากประสบความสำเร็จ ควรให้ลูกฝึกตั้งเป้าหมายเล็กๆของตัวเขา วางแผน แล้วทดลองทำให้สำเร็จ เช่น ถ้าลูกพูดว่า “หนูอยากพับนกกระดาษ” ก็ให้เขาตั้งเป็นเป้าหมาย เตรียมอุปกรณ์ หาวิธีพับ ทดลองทำ เพียงทำเสร็จ ความภาคภูมิใจในตัวลูกก็เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่ามันจะสวยหรือไม่ก็ตาม
- ให้ลูกได้พบสิ่งที่ชอบ ทำในสิ่งที่ใช่ เด็กทุกคนมีความแตกต่าง พ่อแม่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกค้นหาสิ่งที่เขาชอบ สิ่งที่เขาถนัด สิ่งที่เขามีความสุขที่จะทำ ด้วยการให้ลูกมีโอกาสพบเจอประสบการณ์ที่หลากหลาย จนพบว่า ตนชอบในสิ่งหนึ่งมกกว่าอีกสิ่งหนึ่ง ถ้าเขาเจอสิ่งที่ใช่ เขาจะมีความมุ่งมั่น ที่จะทำมันจนสำเร็จ
- พัฒนาที่จุดแข็งของลูกไม่ใช่จี้จุดอ่อน มนุษย์ทุกคนมีจุดแข็งจุดอ่อน ไม่มีใครดีพร้อมทุกด้าน การจี้จุดอ่อนเป็นการลดทอนคุณค่าในตนเองของคนทุกคน ไม่มีใครชอบทั้งนั้น ดังนั้น พ่อแม่ต้องเน้นที่การพัฒนาจุดแข็ง ส่งเสริมให้กำลังใจในจุดแข็ง เมื่อเขามั่นใจในจุดแข็งของเขา เขามักจะมีพลังในการจัดการกับจุดอ่อนของตน
- ชมเชยลูกที่การกระทำไม่ใช่ที่ผลลัพธ์ คำชมเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจของมนุษย์ทุกคน พ่อแม่ต้องชมลูกเป็น โดยชมที่ความพยายาม การกระทำ เช่น “ลูกทำได้ครั้งนี้เพราะพ่อแม่เห็นลูกตั้งใจทุ่มเทมาก” ไม่ใช่ชมแต่ผลลัพธ์ เช่น “ฉลาดมาก ทำคะแนนได้ดี” เพราะการชมที่ผลลัพธ์จะไม่ส่งผลบวกในระยะต่อไป นอกจากนี้ ต้องไม่ชมมากเกินไป “โอเว่อร์” เกินความจริง หรือชมน้อยไปอย่างเสียไม่ได้
- ไม่ใช้ถ้อยคำรุนแรงกับลูก ภาษิตไทยโบราณกล่าวว่า “วาจาพ่อแม่นั้นศักดิ์สิทธิ์” สื่อความหมายว่า พ่อแม่พูดอย่างไร ลูกก็มักจะเป็นเช่นนั้น เช่นถ้าพ่อแม่พูดว่า “เอ็งมันคนไม่เอาไหน เอ็งชั่ว” แนวโน้มที่เด็กจะเป็นอย่างนั้นก็มากขึ้น เพราะแม้แต่คนที่ใกล้ชิดซึ่งควรจะเห็นคุณค่าของเขามากกว่าใคร ก็ยังไม่เห็น ดังนั้น เขาก็จะประพฤติตนไปในทางที่พ่อแม่ด่าว่าประณาม ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว แต่ถ้าพ่อแม่มองลูกในทางบวก “พ่อเชื่อว่าลูกทำได้” “แม่เชื่อใจว่าลูกไม่ทำเรื่องแบบนั้น” ลูกก็จะเป็นเช่นที่พ่อแม่พูดนั่นเอง
- ฝึกให้ลูกได้เป็นผู้ให้ หรืออาสา มนุษย์ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดี การมีโอกาสเป็นผู้ให้ มิใช่ผู้รับเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์หากแต่ทันทีที่ผู้ให้ได้ให้ ไม่จะให้วัตถุสิ่งของ ให้โอกาส ให้ความรู้สึกที่ดี ให้กำลังใจ ฯลฯ ความรู้สึกอิ่มเอิบ มีความสุข และเห็นคุณค่าในตนเองก็เกิดขึ้นทันที พ่อแม่จึงควรให้ลูกได้ฝึกฝนการเป็นผู้ให้เสมอๆ เพื่อเติมเต็ม Self-Esteem ไว้ในใจของลูก
Self-Esteem คือหนึ่งรากฐานสำคัญที่สุดของชีวิต มนุษย์ที่ขาด Self-Esteem ยากที่จะมีชีวิตที่สมบูรณ์ การให้ความสำคัญต่อ Self-Esteem จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเด็กและเยาวชน ที่ต้องส่งเสริมคู่กันไปกับการพัฒนาทักษะสมอง EF เด็ก ตั้งแต่แรกเกิดและตลอดไป
อ้างอิง
- Nathaniel Branden, The Six Pillars of Self – Esteem, Bantam, 1995
- D’Arcy Lyness, Your Child’s Self-Esteem, www.kidshealth.org
- Courtney E. Ackerman, What is Self-Esteem? A Psychologist Explains, www.positivepsychology.com