เทคนิคการฝึกความจำใช้งาน
ในบทความครั้งก่อน หมอได้พูดถึงเทคนิคที่ช่วยในการส่งเสริมทักษะสมอง EF ให้กับเด็กๆ ของเราในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งก็ได้เน้นเกี่ยวกับการนำสถานการณ์ที่เด็กๆ ต้องได้พบเจอในหนึ่งวัน สิ่งของหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเด็กมาใช้ในการฝึกกระตุ้นทักษะสมอง EF ในภาพรวม อย่างไรก็ดี ตัวทักษะสมอง EF เองยังมีองค์ประกอบพื้นฐาน อันจัดเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทักษะสมอง EF ไปสู่กระบวนการขั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน การควบคุมตนเอง และการลงมือปฏิบัติ โดยองค์ประกอบพื้นฐานของทักษะสมอง EF เหล่านี้จะประกอบไปด้วย (1) ความจำใช้งาน (2) ความยับยั้งชั่งใจ และ (3) ความยืดหยุ่นในกระบวนการคิด
ในส่วนของความจำใช้งาน (Working Memory) ซึ่งหมายถึงความสามารถของสมองในการเก็บสิ่งที่ได้เห็น สิ่งที่ได้ยิน เอาไว้ชั่วคราว เพื่อนำไปสู่การเก็บเป็นความจำระยะยาว หรือละทิ้งไปเมื่อใช้งานเสร็จ จึงเหมือนกับพื้นที่ของสมองในการเก็บข้อมูลในระยะสั้นเพื่อนำไปจัดการต่อในขั้นต่อไปนั่นเอง หรือเปรียบเสมือนกับพื้นที่บนกระดานดำในห้องเรียนที่มีเนื้อที่จำกัด พอคุณครูจะเขียนอะไรใหม่ก็จะต้องลบข้อความเก่าเสมอ หลักการทำงานของความจำใช้งานก็เป็นแบบนั้นเลยครับ คือข้อมูลใหม่ที่เข้ามาจะมาแทนที่ข้อมูลเก่า แต่ถ้าเราจำตอนสมัยเรียนหนังสือกันได้ ข้อมูลบางอย่างที่สำคัญก็จะยังคงอยู่บนกระดานดำจนถึงตอนเย็นๆ เช่น คำศัพท์ประจำวัน วันที่ การบ้าน ฯลฯ นั่นหมายความว่า หากมีข้อมูลบางอย่างที่สำคัญ ก็อาจจะเก็บไว้ได้นานขึ้นอีกหน่อย ความจำใช้งานในเรื่องที่สำคัญมากๆ จึงอาจจะอยู่ได้นานขึ้นถ้าเราต้องคิดเรื่องนั้นๆ อยู่ตลอด แต่ทุกอย่างจะถูกเก็บหรือถูกลบเมื่อเราเข้าสู่การนอน เปรียบเสมือนพอหมดวัน เราก็ต้องลบทุกสิ่งที่เขียนบนกระดานดำทั้งหมดนั่นเอง หรือถ้าจะเก็บก็ต้องจดลงสมุด นั่นคือมีการเปลี่ยนรูปแบบจากความจำใช้งานไปสู่ความจำแบบอื่นๆ ต่อไป โดยความจำใช้งานจะมีการพัฒนาตั้งแต่ช่วงวัยทารกขวบปีแรก และมีความสัมพันธ์อย่างมากกับการเจริญเติบโตของสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นตำแหน่งสมองที่เกี่ยวข้องกับทักษะสมอง EF แถมยังเชื่อมโยงไปถึงกระบวนการทางสติปัญญาอีกหลายกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็น สมาธิจดจ่อ หรือการเรียนรู้ เพียงแต่การฝึกความจำใช้งานนั้นมักจะมีการกล่าวถึงไม่มากนัก ในบทความวันนี้หมอจะมาพูดถึงวิธีการต่างๆ ในการฝึกความจำใช้งานกันนะครับ
“จำก่อนจด” ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ทำให้คนเรามักจะเลือกการจด (ลงในกระดาษหรือลงในอุปกรณ์ไอที) มากกว่าการจำ ซึ่งบางครั้งเรื่องง่ายๆ หรือเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน พวกเราก็ยังคงชินกับการใช้การจดเป็นหลัก ซึ่งการจดก็ดีในแง่ที่เราจะไม่ขาดตกบกพร่องในเรื่องที่เราจะทำ แต่ถ้าเรามาฝึกการจำให้กับตัวเราหรือกับลูกๆ ของพวกเราบ้าง ก็เป็นการช่วยกระตุ้นสมองในส่วนของความจำใช้งานให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยตัวอย่างของกิจกรรมอาจจะเป็นการฝึกให้ลูกจำสิ่งของที่ให้ไปหยิบ จำสิ่งของที่จะไปซื้อในตลาด (แล้วคอยดูโน้ตว่าครบหรือไหม) หรือจำเบอร์โทรศัพท์ของคนในบ้าน (ซึ่งถ้าจำได้ ก็จะเป็นประโยชน์ในด้านความปลอดภัยเวลาผลัดหลงด้วย) เหล่านี้เป็นต้น
“สวดมนต์ก่อนนอน” การสอนให้ลูกๆ ได้ฝึกสวดมนต์ นอกจากจะช่วยในแง่ของการนอนหลับ และการฝึกสมาธิจดจ่อแล้ว ยังเป็นการช่วยกระตุ้นความจำใช้งาน เพราะเวลาที่คุณพ่อคุณแม่พูดบทสวดออกมา ลูกต้องจำและค่อยพูดตาม อันเป็นกระบวนการของความจำใช้งานที่เกิดขึ้นระหว่างการสวดมนต์ด้วย เพียงแต่ความยาวและความยากของบทสวด ควรจะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัยด้วยครับ
“ฝึกวางแผนและแก้ไขปัญหา” การฝึกวางแผนเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนหน้า อันเป็นตำแหน่งสมองที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางสติปัญญาหลายด้าน ทั้งในส่วนของความจำใช้งานและทักษะสมอง EF โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับความยืดหยุ่นในกระบวนการคิด ดังนั้น การฝึกให้ลูกๆ ได้หัดวางแผนชีวิตประจำวันง่ายๆ รวมถึงการฝึกการแก้ไขปัญหากรณีที่แผนการที่ได้วางไว้ล่วงหน้าไม่เป็นตามที่คิด ก็จัดเป็นการช่วยฝึกสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำใช้งานด้วยเช่นกันครับ
“โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ช่วยฟื้นฟูความจำใช้งาน” ในปัจจุบันได้มีความพยายามในการสร้างโปรแกรมในการฟื้นฟูความจำใช้งานในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีปัญหาทางระบบประสาท ซึ่งพบว่าได้ผลดีพอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการฝึกดังกล่าวต้องใช้คอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง และในยุคนี้เป็นช่วงที่เด็กๆ ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนออนไลน์เป็นประจำอยู่แล้ว ประโยชน์ของการใช้โปรแกรมเหล่านี้ในเด็กจึงอาจจะยังไม่ชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับผลเสียของการใช้อุปกรณ์ไอทีอย่างต่อเนื่อง
กล่าวโดยสรุป การฝึกความจำใช้งาน สามารถกระทำได้โดยการให้เด็กฝึกจำสิ่งของต่างๆ จดจำสิ่งที่ท่านพูด สวดมนต์ด้วยกัน ฝึกการใช้สมองส่วนหน้าผ่านการวางแผนและแก้ไขปัญหา โดยในอนาคตอาจจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยในการฝึกความจำใช้งานได้บ้าง ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไป