นางสาวปวีณา ธิติวรนันท์ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สธจ. สุพรรณบุรี

จากการเข้าอบรม “โครงการอบรมศึกษานิเทศก์และผู้บริหารโรงเรียนเพื่อพัฒนาความรู้ทักษะสมอง EF และการใช้เครื่องมือเพื่อส่งเสริม EF ของเด็กปฐมวัย รุ่นที่ 2” และเข้าร่วมกิจกรรม “โครงการถอดบทเรียนศึกษานิเทศก์และผู้บริหารโรงเรียน” ทำให้ ศน.ปวีณาได้เรียนรู้ประสบการณ์การขับเคลื่อน EF ของเพื่อนศึกษานิเทศก์ต่างจังหวัด ต่างสังกัด นำมาเป็นข้อมูลเพื่อพัฒนางานของตนเอง โดยนำความรู้ EF ไปขยายผลให้กับครูวิชาการและผู้บริหารโรงเรียนในความรับผิดชอบ 5 โรงเรียน จนมีการขับเคลื่อน EF แบบเข้มข้นในโรงเรียนที่ใช้ความรู้ EF ทุกห้องเรียน 1 โรง อีกทั้งมีความพยายามในการขยายความรู้ EF แก่ผู้บริหารและครูในวงกว้างให้เห็นความสำคัญ  ต่อมายังเข้าร่วมขับเคลื่อน EF ในระดับจังหวัดในปีงบประมาณ 2565 มีแผนงานถ่ายทอดขยายความรู้ EF ให้กับครูปฐมวัยจำนวน 14 คนอย่างจริงจัง โดยกำหนดเป็นประเด็นท้าทาย ระบุไว้ในข้อตกลงการพัฒนางาน (PA) ศึกษานิเทศก์ ในหัวข้อ “นิเทศผสมผสานตามแนวคิด Blended learning เพื่อส่งเสริมการจัดประสบการณ์การเรียนรู้พัฒนาทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัย”เกิดการพัฒนาการนิเทศผสมผสานตามแนวคิด Blended Learning เพื่อส่งเสริมการจัดประสบการณ์การเรียนรู้พัฒนาทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัย และจัดทำคู่มือนิเทศผสมผสานตามแนวคิด Blended learning ด้วย

การขับเคลื่อน EF ที่เป็นรูปธรรม

  • ในปีงบประมาณ 2564 ได้นำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าอบรม “โครงการอบรมศึกษานิเทศก์และผู้บริหารโรงเรียนเพื่อพัฒนาความรู้ทักษะสมอง EF และการใช้เครื่องมือเพื่อส่งเสริม EF ของเด็กปฐมวัย รุ่นที่ 2” ไปขยายผลแบบปูพรมให้กับครูวิชาการและผู้บริหารในโรงเรียนที่รับผิดชอบ จำนวน 5 โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนในระบบของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยได้ขับเคลื่อน EF แบบเข้มข้นในโรงเรียนที่ผู้บริหารและครูให้ความสนใจนำ EF ไปใช้ทุกห้องเรียน จำนวน 1 โรงเรียน
  • ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้บริหารและครูปฐมวัยให้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านระบบออนไลน์ “ตลาดนัดการเรียนรู้ออนไลน์ วังจันทรเกษม”  ในหัวข้อ “EF เด็กปฐมวัย ทางรอดของการศึกษาไทย” มีผู้สนใจเข้าร่วมอบรม รวม 566 คน เพื่อให้ความรู้ EF ขยายสู่กลุ่มเป้าหมาย(ผู้บริหารและครูปฐมวัย)ในวงกว้าง
  • ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัยและ EF ระดับจังหวัด โดยการบูรณาการความร่วมมือ 4 กระทรวง
  • วางแผนงานต่อเติมเสริมความรู้และทักษะสำคัญให้แก่ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก ผู้รับบริการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในปีงบประมาณ 2565 ผ่านบริการทางวิชาการด้วยระบบออนไลน์ 2 รูปแบบ ได้แก่

    1) นิเทศออนไลน์ เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วมเรียนรู้ไปกับ “KRU Class” ได้ทุกที่ทุกเวลา

    2) อบรมออนไลน์ โดยวิทยากร/ผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้เชี่ยวชาญด้านปฐมวัย เพื่อสร้างประสบการณ์ คุณภาพด้วย EF ปฐมวัย เสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะสมอง (Executive Function : EF) เพื่อยกระดับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้พัฒนาเด็กปฐมวัย

การสร้าง/ประสานเครือข่าย

  • ประสานกับผู้บริหารโรงเรียนและครูโรงเรียนในความรับผิดชอบเพื่อนำความรู้ EF ไปขยายผลกับผู้บริหารและครู
  • ประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด กับ 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ  โดยในปีงบประมาณ 2565 ได้มีโอกาสรับงานต่อจากผู้รับผิดชอบคนเดิม ให้ดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาการจัดการศึกษาปฐมวัยในระดับพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี

การติดตาม/นิเทศ/coaching

  • ได้นิเทศ ติดตาม coaching ให้กับครูปฐมวัยและผู้บริหารของโรงเรียนปรีดาวิทย์ รวมจำนวน 14 คน โดย “พาดู พาคิด พาทำ”  เพิ่มเสริมเติมแต่งแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในระดับปฐมวัยทุกห้องเรียน ปรับปรุงกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะสมอง EF ให้กับเด็ก  แต่เนื่องจากจังหวัดสุพรรณบุรีถูกจัดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสีแดงเข้มตามมาตรการของสถานการณ์โควิด ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการลงนิเทศ ติดตาม แบบพบเจอกัน ต้องรอให้สถานการณ์คลี่คลายจึงจะสามารถลงพื้นที่ได้อีก

การต่อยอด/นวัตกรรม/ วิจัย

  • เกิดการพัฒนาการนิเทศผสมผสานตามแนวคิด Blended Learning โดยกำหนดเป็นประเด็นท้าทาย ระบุไว้ในข้อตกลงการพัฒนางาน (PA) ศึกษานิเทศก์ ในหัวข้อ “นิเทศผสมผสานตามแนวคิด Blended learning เพื่อส่งเสริมการจัดประสบการณ์การเรียนรู้พัฒนาทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัย” โดยการนิเทศผสมผสาน 3 ลักษณะ คือ การนิเทศแบบ Online การนิเทศแบบ On Demand และการนิเทศแบบ Onsiteเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์วิถีใหม่
  • การนิเทศผสมผสานตามแนวคิด Blended Learning เพื่อส่งเสริมการจัดประสบการณ์การเรียนรู้พัฒนาทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัย มีวิธีดำเนินการดังต่อไปนี้

      ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาประเด็นและบริบทการนิเทศ

      1) ศึกษาวิเคราะห์หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2560

      2) ศึกษาวิเคราะห์สภาพการจัดประสบการณ์การเรียนรู้พัฒนาทักษะสมอง EF ของครูปฐมวัยที่
          เข้าร่วมการพัฒนา

      3) ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี เอกสาร ตำรา และวรรณกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนิเทศแบบ
         ร่วมมือ, การนิเทศแบบร่วมพัฒนา, การนิเทศแบบพัฒนาวิชาชีพ, การนิเทศออนไลน์, ความรู้ที่
          เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะสมอง EF
      4) ศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับความต้องการจำเป็นด้านการนิเทศจากครูปฐมวัย ผู้บริหาร
          โรงเรียน และศึกษานิเทศก์

      ขั้นตอนที่ 2 วางแผนการนิเทศ

นำข้อมูลวิเคราะห์ความต้องการจำเป็นในการนิเทศ มากำหนดรายละเอียดของกิจกรรมในการจัดทำแผนนิเทศ ร่วมกับผู้บริหารโรงเรียน ครูปฐมวัยที่เข้าร่วมพัฒนา ดังต่อไปนี้

1) กำหนดแนวทางและวิธีการพัฒนาตามความต้องการจำเป็นของครู โดยใช้การนิเทศผสมผสาน
    ตามแนวคิด Blended learning เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการจัดประสบการณ์การ
    เรียนรู้พัฒนาทักษะสมอง EF ให้กับครูปฐมวัย

2) เลือกแนวทางและวิธีการพัฒนาโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

3) จัดทำแผนนิเทศ โดยระบุหลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ประเด็นการนิเทศแผนดำเนินการ กิจกรรมการนิเทศ ปฏิทินนิเทศ เครื่องมือนิเทศ และผลที่คาดว่าจะได้รับ

       ขั้นตอนที่ 3 สร้างสื่อและเครื่องมือนิเทศ

1) พัฒนาระบบการนิเทศผสมผสานตามแนวคิด Blended learning โดยวิธีการนิเทศทางตรงผสมผสานกับการนิเทศทางไกล ในลักษณะ On Demand และ Online ด้วยสื่อในรูปแบบต่าง ๆ เช่น Google Tools, Line Application, Facebook Group, Clip Video, การประชุม Conference เป็นต้น

 2) จัดทำคู่มือนิเทศผสมผสานตามแนวคิด Blended learning เพื่อส่งเสริมการจัดประสบการณ์การเรียนรู้พัฒนาทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัย

 3) สร้างและพัฒนาเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อติดตาม ประเมินผลนิเทศผสมผสานตามแนวคิด Blended learning เพื่อส่งเสริมการจัดประสบการณ์การเรียนรู้พัฒนาทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัย   

 ขั้นตอนที่ 4 ปฏิบัติการนิเทศ

 ดำเนินการนิเทศผสมผสานตามวิธีการและกิจกรรมการนิเทศที่กำหนดไว้ตามแผนนิเทศ

 1) ชี้แจงทำความเข้าใจแก่ผู้รับการนิเทศ เพื่อให้การนิเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 2) นิเทศตามขั้นตอน ระยะเวลา และใช้เครื่องมือตามที่กำหนด ร่วมกับผู้บริหารโรงเรียน

 3) สะท้อนผลการนิเทศให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบ นำไปปรับปรุงและพัฒนาการออกแบบกิจกรรม และการจัดประสบการณ์การเรียนรู้พัฒนาทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัย

  ขั้นตอนที่ 5 ประเมินผลและสรุปรายงานการนิเทศ

 1) ประเมินผลด้านความรู้ ความเข้าใจในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้พัฒนาทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัย

 2) ประเมินผลด้านการออกแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้พัฒนาทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัย จากแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ของครูปฐมวัย

 3) ประเมินความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ของครูปฐมวัย

 4) ประเมินความพึงพอใจของผู้รับการนิเทศออนไลน์

 5) สรุปผลการนิเทศผสมผสาน สะท้อนผลไปยังผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เติมเต็มและพัฒนา ต่อยอด

การแก้ปัญหา

  • ในภาพรวม กลุ่มเป้าหมายคือผู้บริหารและครูปฐมวัยยังไม่เข้าใจการพัฒนาทักษะสมอง EF มากพอ ส่งผลให้การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ยังไม่สอดคล้องกับการพัฒนา EF หรือไม่สามารถส่งเสริมทักษะสมอง EF ให้เด็ก จึงต้องจัดการให้ความรู้ EF อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการ การนิเทศแก่ผู้เกี่ยวข้องในวงกว้าง ซึ่งในสถานการณ์โควิดได้ปรับวิธีการให้ความรู้ EF ด้วยการอบรมออนไลน์ นิเทศออนไลน์ 

ผลสัมฤทธิ์ / การเปลี่ยนแปลง

  • เกิดการขับเคลื่อน EF แบบเข้มข้นในโรงเรียนที่ใช้ความรู้  EF ทุกห้องเรียน 1 โรง เนื่องจากเป็นการเริ่มต้นทำงานในช่วงระยะเวลาสั้น และมีอุปสรรคจากสถานการณ์โควิด จึงยังไม่สามารถระบุสภาพการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนได้