เมื่อขึ้นวัยประถมปลาย เด็กมีพัฒนาการดีขึ้น ทำสิ่งต่างๆได้มากขึ้นคุณพ่อคุณแม่จะเห็นว่า เขาสามารถเรียนรู้การวางแผน จัดการและติดตามงาน ทำงานได้นานขึ้น เรียนรู้วินัยได้ดีขึ้น เช่น จัดโต๊ะ สมุดทำงานหรือตู้หนังสือเป็นระเบียบ แม้จะต้องมีการเตือนกันบ้างก็ตาม
11-12 ปี เด็กส่วนใหญ่ควรสามารถจัดการกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเองทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน โดยต่อยอด EF ในเรื่องการยับยั้งชั่งใจ รู้เรื่องกติกามารยาทมากขึ้น เริ่มวางแผน ตั้งเป้า ทำงานตามแผนและจัดการเวลาเป็น จัดลำดับความสำคัญของงานที่ซับซ้อนขึ้นได้ ช่วงวัยนี้เด็กส่วนใหญ่เริ่มเข้าใจได้ว่าพฤติกรรมของตนเองแบบไหนสมควรหรือไม่ รวมทั้งประเมินงานได้ เช่น ถ้าทำไปแล้วไม่น่าจะสำเร็จ ปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานได้
วัยมัธยม พอขึ้นมัธยม คุณพ่อคุณแม่ก็จะพบว่า ลูกทำอะไรๆ ได้ดีขึ้น วางแผนและจัดการงานต่างๆ ได้อย่างเป็นอิสระ พึ่งตนเองได้มากขึ้น ไม่ชอบให้พ่อแม่มากำกับจัดการ เขาทำเองได้ งานที่เคยใช้ความพยายาม ใช้เวลามาก จะทำบ่อยๆ จนคุ้นเคยและเก่ง จนกลายเป็นทักษะแบบอัตโนมัติ ทำได้เร็วขึ้น และถ้าพัฒนา EF มาด้วยดี เด็กจะรู้จักการยืดหยุ่นพลิกแพลงมากขึ้นด้วย รู้วิธีจะหาทางออก ทางเลือกหลายๆ แบบ
ในช่วงวัยนี้ ลูกควรรับมือกับการเรียนทางวิชาการที่หนักขึ้นได้กว่าเมื่อก่อน เช่น การค้นคว้า การทำรายงาน การต้องจดจ่อกับหลายๆ วิชาในแต่ละวัน การบ้านที่มากขึ้น ฯลฯ ส่วนในเรื่อง ความสัมพันธ์ทางสังคม กับกลุ่มเพื่อน ที่เป็นเรื่องใหญ่ของเขา เขาจะเรียนรู้ว่า ต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ไม่เช่นนั้นเพื่อนอาจจะไม่ยอมรับให้เข้ากลุ่ม
วัยรุ่นตอนปลายและต้นวัยยี่สิบ เมื่อสมองส่วนหน้าเติบโตเต็มที่ ประกอบกับการพัฒนา EF ในประสบการณ์ชีวิตที่เพิ่มพูนขึ้น ก็จะช่วยให้วัยนี้มีการตัดสินใจ การวางแผน และการยืดหยุ่นที่ดีขึ้น พวกเขาสามารถเรียนต่อระดับสูงได้ดีขึ้น ซึ่งต้องรับผิดชอบด้วยตนเองทุกอย่าง หรือเมื่อต้องออกสู่โลกของการทำงาน ไปจนถึงการพัฒนาความสัมพันธ์กับคนรัก และนำไปสู่ความรับผิดชอบในครอบครัวของตนเองต่อไป
Reference : Joyce Cooper-Kahn & Laurie Dietzel,(2008), Late, Lost, and Unprepared : A Parents’ Guide to Helping Children with Executive Functioning, Woodbine House
“เด็ก ป.3-ป.5 ควรรู้จักยับยั้งชั่งใจ กำกับควบคุมตัวเอง เวลาพ่อแม่ไม่อยู่ก็ดูแลตนเองได้ ไม่พูดออกความเห็นแบบหยาบคาย ไม่แสดงอารมณ์โวยวายโกรธเกรี้ยว ไม่เสียมารยาท”